ก๊อกๆ รู้กันมั้ยเอ่ย ว่าปีนี้นักบัญชีต้องปิดงบการเงินตาม TFRS for NPAEs ฉบับปรับปรุงใหม่แล้วนะคะ
ในปี 2566 นี้ตั้งแต่เดือนมกราคม มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ หรือ TFRS for NPAEs ฉบับปรับปรุง 2565 ได้มีผลบังคับใช้แล้วฃ ซึ่งมีหลายเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาในมาตรฐานอัปเดตชุดนี้ค่ะ
แล้ว TFRS for NPAEs มีบทไหน เพิ่มมาใหม่ หรือว่าอัปเดตบ้าง เราลองมาดูสรุปกันที่นี่เลย
TFRS for NPAEs ที่เปลี่ยนแปลงล่าสุด
เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ขออนุญาตใช้ตัวอย่างภาพจากเอกสารเผยแพร่ของสภาวิชาชีพบัญชีมาดัดแปลงเพิ่มเติมสีสันให้เพื่อนๆ ดูกันค่ะ จากภาพเพื่อนๆ จะเห็นมาตรฐานแต่ละบท แบ่งเป็น 3 สี ดังนี้ค่ะ
1. สีเหลือง = บทใหม่ 6 บท
บทใหม่ 6 บทที่เพิ่มเข้ามา ทำให้มาตรฐานชุดนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากเดิมเคยมี 22 บท ตอนนี้เพิ่มมาอีก 6 บท กลายเป็น 28 บท เน้นๆ ซึ่งเรื่องที่เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่
- เกษตรกรรม
- เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
- อนุพันธ์
- การรวมธุรกิจ
- การสำรวจและประเมินแหล่งทรัพยากรแร่
- ข้อตกลงสัมปทาน
เรื่องเหล่านี้ ในอดีต ไม่เคยพูดถึงใน TFRS for NPAEs เลยค่ะ ดังนั้น นักบัญชีก็เลยต้องไปใช้มาตรฐานชุดใหญ่โดยปริยาย แต่ตอนนี้ไม่ต้องกังวลแล้วเพราะมีมาตรฐานชุดเล็กมารองรับ ถ้าใครทำบัญชีสำหรับธุรกิจเหล่านี้ชีวิตก็จะง่ายขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ
2. สีเขียว = แก้ไขเพิ่มเติม 17 บท
เห็นสีเขียวๆ เยอะๆ เต็มกระดานแบบนี้ แปลว่า มาตรฐานบทเหล่านี้มีการแก้ไขปรับปรุงค่ะ ซึ่งประกอบด้วย
- ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
- ขอบเขต
- กรอบแนวคิด
- การนำเสนองบการเงิน
- การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี และข้อผิดพลาด
- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
- ลูกหนี้
- สินค้าคงเหลือ
- เงินลงทุน
- ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
- สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
- อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน
- สัญญาเช่า
- ประมาณการหนี้สินหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นและสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น
- รายได้
- ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
- การปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลงและวันถือปฏิบัติ
เห็นแก้ไขปรับปรุงเยอะๆ แบบนี้ไม่ต้องกังวลใจไปนะ เพราะว่าถ้าใครเคยบันทึกบัญชีตามมาตรฐานฉบับเดิมไว้ดีอยู่แล้ว ก็ยังตามเดิมได้นะ ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่ามาตรฐานใหม่เนี่ย เค้าเพียงต้องการเพิ่มทางเลือกในการทำบัญชีให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้มาตรฐานสมบูรณ์ขึ้น ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราเคยทำแบบง่ายๆ ก็ยังทำได้เหมือนเดิมนะ
ยกตัวอย่างเช่น
ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ในมาตรฐานอัปเดตนี้ได้อนุญาตให้เราตีราคาใหม่ โดยใช้มูลค่ายุติธรรม แต่ถ้าใครอยากใช้ราคาทุนแบบเดิมๆ ก็ยังทำได้ ไม่ได้ผิดอะไรนะคะ
3. สีขาว = 5 บท ไม่มีแก้ไข
สุดท้ายบทสีขาว บทนี้สบายใจได้เพราะไม่ได้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขแต่อย่างใดค่ะ ฉะนั้น สิ่งที่เคยเข้าใจก็ยังเป็นเหมือนเดิมนะคะ
- ต้นทุนการกู้ยืม
- ภาษีเงินได้
- เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
- การรับรู้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์
- สัญญาก่อสร้าง
ผลกระทบกับนักบัญชี
เอาล่ะ ทีนี้หลายคนน่าจะมีคำถามว่า การอัปเดตมาตรฐานนี้ นักบัญชีอย่างเราจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เราลองมาดูภาพสรุปกันนะคะ
ถ้าเพื่อนๆ สังเกตดีๆ จะพบว่า ผลกระทบจากการอัปเดตมาตรฐานมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่
1.ไม่ได้รับผลกระทบ (เครื่องหมายกากบาท)
บทที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่แล้ว ทำให้มาตรฐานสมบูรณ์ขึ้น และมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นค่ะ แต่ก็ไม่ได้บังคับให้เราเปลี่ยนแปลงนะคะ ดังนั้น โดยส่วนใหญ่นักบัญชีก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัปเดตครั้งนี้
ยกตัวอย่างเช่น
- บทที่ 6 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่องนิยามให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรค่ะ ยังรับรู้รายการและบันทึกบัญชีเหมือนเดิม
- บทที่ 14 สัญญาเช่า มีแค่การแก้ไขคำศัพท์ จากเดิมที่เราเรียก สัญญาเช่าการเงินติดปาก ตอนนี้มีชื่อใหม่ว่า สัญญาเช่เงินทุน แต่วิธีการรับรู้รายการทางบัญชี ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนะคะ
2.มีผลกระทบเฉพาะกลุ่ม (เครื่องหมายถูก และคำว่าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น)
บทเหล่านี้ที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเข้ามา มีผลกระทบต่อชีวิตนักบัญชีเฉพาะกลุ่มเท่านั้นค่ะ ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีรายการดังกล่าว ก็สบายใจได้ว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย ส่วนคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวนั้น หลีกหนีไม่ได้ว่าต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมนะคะ
ยกตัวอย่างเช่น
- บทที่ 10 ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ กรณีที่มีที่ดินสำหรับทิ้งขยะ ก็ต้องพิจารณาเรื่องที่ดินว่ามีอายุการใช้ประโยชน์จำกัดที่กี่ปีดี และต้องคิดค่าเสื่อมราคาที่ดินนั้น แต่ถ้าเป็นที่ดินทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนี้
- บทที่ 22, 24, 25-27 เกษตรกรรม อนุพันธ์ การรวมธุรกิจ การสำรวจแร่ ข้อตกลงสัมปทาน ถ้าใครทำงานให้กับธุรกิจเหล่านี้ก็อย่าลืมไปศึกษาวิธีการเพิ่มเติมนะคะ แต่รับรองว่าง่ายกว่า TFRS for PAEs อย่างแน่นอน
3. มีผลกระทบแน่นอน (เครื่องหมายถูก)
ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะ ว่ารายการที่มีผลกระทบต่อการทำงานบัญชีแน่นอนนั้นมีแค่ 1 รายการ ก็คือ บทที่ 10 ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ที่เราต้องจัดประเภทรายการสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อขาย เป็นหมุนเวียน และไม่หมุนเวียนด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำได้ไม่ยุ่งยากมากนัก และน้อยธุรกิจนักที่จะมีรายการสินทรัพย์ถือไว้เพื่อขายค่ะ
เอาล่ะ ตอนนี้ทุกคนพอจะทราบหลักการเปลี่ยนแปลงของ TFRS for NPAEs ฉบับปรับปรุง 2565 ที่มีผลบังคับใช้ 2566 แล้วใช่ไหมคะ
เมื่อจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาที่เราจะเข้าไปศึกษาแล้ว อาจจะทำให้ทุกคนประหยัดเวลาได้มากขึ้นค่ะ
ฉะนั้น ถ้าเราทำบัญชีถูกมาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพียงแค่รีเช็คความเข้าใจแล้วก็ไปต่อกับวิธีการบันทึกบัญชีแบบเดิมได้เล้ยยย
หากเพื่อนๆ อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมว่า TFRS for NPAEs มีอะไรใหม่บ้างในแต่ละบท สามารถเรียนรู้ได้ที่นี่นะคะ: สรุปประเด็นสำคัญ TFRS for NPAEs (เริ่มใช้ 2566)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y