บัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นบัญชีที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆเลยค่ะ เนื่องจากกิจการทุกๆกิจการต้องซื้อสินทรัพย์ถาวรอย่างน้อยๆ 1 ชิ้น เช่น คอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงาน แต่เรื่องที่ยากสำหรับที่ดิน อาคาร อุปกรณ์นั้นน่าจะเป็นเรื่องของการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน เพราะในประเทศไทยมีมาตรฐาน 2 ชุด แล้วกิจการจะต้องเลือกใช้มาตรฐานชุดไหน รวมไปถึงเรื่องที่ต้องรู้ของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีอะไรบ้างมาดูกัน…
1. ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ คืออะไร
ก่อนที่จะไปเรียนรู้อย่างอื่น มาทำความรู้จักกับความหมายของ “ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์” กันก่อนค่ะ
ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ คือ สินทรัพย์ที่มีตัวตน กิจการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต ในการจําหน่ายสินค้า การให้บริการ ให้เช่าหรือใช้ในการบริหารงาน ซึ่งกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์ มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
มาตรฐานรายงานทางการเงินไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ TFRS for NPAEs
หรือถ้าอยากจำง่ายๆ เราจำว่า ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ จะต้องมี 3 องค์ประกอบนี้ค่ะ
- สินทรัพย์ที่มีตัวตน
- มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์
- มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
2. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 VS TFRS for NPAES ใครใช้ชุดไหน?
ด้วยความสงสัย ทำไมมาตรฐานการบัญชีถึงมีกล่าวถึง บัญชีที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ไว้สองมาตรฐาน แล้วผู้ใช้ต้องเลือกใช้อย่างไร ทุกคนคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่าเราต้องใช้มาตรฐานการบัญชีชุดไหนกันนะ
ลองดูตัวอย่างความแตกต่าง และวิธีเลือกใช้มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ตามนี้ค่ะ
มาตรฐานการบัญชี ฉบับ 16 ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ | TFRS for NPAEs บทที่ 10 ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ |
1. กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการ ซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชน 2. กิจการที่ดําเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม เป็นต้น 3. บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน 4. กิจการอื่นที่จะกําหนดเพิ่มเติม | กิจการที่ไม่ใช่กิจการมีส่วนได้เสียสาธารณะ 4 ข้อด้านซ้าย |
ยกตัวอย่างง่ายๆ
บริษัท ซีพีดี จำกัด ดำเนินกิจการเกี่ยวขายอะไหล่รถยนต์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็น นายเอ(พ่อ) นางบี(แม่) นางสาวซี(ลูก) จดทะเบียนกิจการในรูปแบบของบริษัท กำลังจะตัดสินใจซื้ออาคารเพื่อใช้เปิดร้านในการขายอะไหล่รถยนต์ จะต้องใช้มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ฉบับไหน?
จากตัวอย่างดังกล่าว 1. บริษัทดำเนินกิจการเกี่ยวกับการขายอะไหล่ 2. ผู้ถือหุ้นก็มีเพียง 3 คนเท่านั้น (ไม่เกี่ยวกับคนหมู่มาก) และจดทะเบียนในรูปแบบของบริษัท เพียง 2 ข้อนี้ ก็สามารถตอบได้แล้วว่า ควรเลือกใช้ TFRS for NPAEs บทที่ 10 ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ค่ะ
3. การรับรู้รายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
ในบทความนี้ เราขอยกตัวอย่างแบบง่ายๆ กิจการที่ใช้ TFRS for NPAEs ให้เพื่อนๆ ทำความเข้าใจนะคะ
การวัดมูลค่าเมื่อเริ่มแรก ให้ทำตามนี้
รายการที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์ โดยใช้ราคาทุนและส่วนประกอบของราคาทุน ให้เพื่อนๆคิดแบบนี้เลยนะคะ ว่าค่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา หรือว่าทำให้สินทรัพย์นั้นพร้อมใช้งาน ให้เพื่อนๆเก็บนำมารวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ด้วย เพราะ
ส่วนประกอบของราคาทุน มีดังต่อไปนี้ค่ะ
- ราคาซื้อ
- ต้นทุนทางตรงอื่นๆ
- ต้นทุนประมาณการรื้อถอน
ตามที่มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ TFRS For PAEs กล่าวถึง การวัดมูลค่าเมื่อเริ่มแรก
กิจการต้องวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ที่เข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์ โดยใช้ราคาทุนและส่วนประกอบของราคาทุนจะกล่าวถึงในข้อถัดไปเลยค่ะ
4. ส่วนประกอบของราคาทุน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
ส่วนประกอบของราคาทุนตาม TFRS for NPAES สรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้
- ราคาซื้อรวมอากรขาเข้า + ภาษีซื้อที่เรียกคืนไม่ได้หลังหักส่วนลดการค้า + จํานวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย
- ต้นทุนทางตรงอื่นๆ เช่น การจัดหาสินทรัพย์เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่สภาพที่พร้อมจะใช้งาน
- ต้นทุนที่ประมาณที่ดีที่สุดสําหรับการรื้อ การขนย้าย และการบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระผูกพันของกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการได้สินทรัพย์นั้นมาหรือเป็นผลจากการใช้ สินทรัพย์นั้นในช่วงเวลาหนึ่ง
ยกตัวอย่าง
บริษัทเช่าที่ทำโรงงาน ในสัญญาเช่าได้ระบุว่า เมื่อมีการเลิกเช่าแล้วให้ทำสถานที่ให้คงเดิม ซึ่งพวกค่าจัดการสถานที่ให้อยู่ในสภาพเดิมนี่แหละค่ะ ที่เราต้องประมาณการมูลค่าที่ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด เพื่อนำไปรวมเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ด้วยค่ะ
5. วิธีคิดค่าเสื่อมราคา
ค่าเสื่อมราคานั้นมีมากมายหลากหลายวิธี นอกเหนือจากวิธีคำนวณแบบเส้นตรงแล้ว ยังมีวิธีการคำนวณที่เป็นระบบแบบอื่นๆ ให้เราเลือกใช้ ยกตัวอย่างเช่น
วิธีคิดค่าเสื่อมราคา | สูตร | คำอธิบาย |
วิธีเส้นตรง (วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด) | ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) / อายุการใช้งาน | รับรู้ค่าเสื่อมราคาในแต่ละปีเท่าๆกัน |
วิธียอดคงเหลือลดลง | ค่าเสื่อมราคาวิธียอดคงเหลือลดลง = (อัตราค่าเสื่อมราคา x 2 ) x มูลค่าทางบัญชี | คำนวณค่าเสื่อมราคาทีละปี แล้วลดยอดคงเหลือในการคูณอัตราค่าเสื่อมไปจนถึงปีสุดท้าย ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ ปีแรกๆ จะรับรู้มาก และทยอยรับรู้น้อยลงไปจนถึงปีสุดท้าย |
วิธีจำนวนผลผลิต | ค่าเสื่อมราคาวิธีจำนวนผลผลิต = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) x (จำนวนที่ผลิตได้ในปี/ปริมาณการผลิตทั้งหมด) | รับรู้ค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ตามจำนวนการผลิต |
วิธีผลรวมจำนวนปี | ค่าเสื่อมราคาวิธีผลรวมจำนวนปี = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) x (จำนวนปีที่เหลือ/ผลรวมจำนวนปี) | รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ ปีแรกๆ จะรับรู้มาก และทยอยรับรู้น้อยลงไปจนถึงปีสุดท้ายค่ะ แต่จะแตกต่างกับวิธี วิธียอดคงเหลือลดลง คือ จะมีความคงที่ในการลดลงมากกว่า |

เพื่อนๆสามารถดูวิธีการคำนวณเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง “ค่าเสื่อมราคาคืออะไร มีวิธีคิดแบบไหนบ้าง ทำไมนักบัญชีต้องรู้”
6. การตัดรายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
กิจการต้องตัดรายการมูลค่าตามบัญชีของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ด้วย Book Value ออกจากบัญชี ถ้าเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
6.1 ขายทรัพย์สิน
เมื่อกิจการขายทรัพย์สิน กิจการต้องรับรู้กําไร(ขาดทุน) ที่เกิดขึ้นจากการตัดรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ในงบกําไรขาดทุนเมื่อกิจการตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี โดยผลกําไร (ขาดทุน) ที่เกิดจากการตัดรายการที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ คือ ผลต่างระหว่างสิ่งตอบแทนสุทธิที่ได้รับจากการทรัพย์สิน กับมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้น


6.2 คาดว่าจะไม่ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจาการใช้งานสินทรัพย์นั้นแล้ว
กิจการตัดรายการมูลค่าตามบัญชี Book Value ของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ออกจากบัญชี กิจการต้องรับรู้กําไร (ขาดทุน) ที่เกิดขึ้นจากการตัดรายการที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ในงบกําไรขาดทุน
เมื่อกิจการตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชีโดยผลกําไร (ขาดทุน) ที่เกิดจากการตัดรายการสินทรัพย์ถาวร คือ มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้นนั่นเอง
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อนๆ เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ ที่เราต้องรู้เรื่องนี้ก็เพราะว่า การรับรู้ การวัดมูลค่า จนกระทั่งการตัดออก หรือแม้แต่มาตรฐานมีกล่าวถึง 2 ฉบับเราต้องเลือกฉบับไหนดี เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ยิ่งถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเยอะๆ ยิ่งต้องใช้วิธีให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันความผิดพลาดในงบการเงิน หรือการคำนวณคลาดเคลื่อนทำให้คนใช้งบเข้าใจผิดพลาดนะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y