สวัสดีค่ะเพื่อนๆนักบัญชี ในอาทิตย์ก่อนๆเราพูดถึงเกี่ยวกับบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์กันมาแล้ว แต่ว่าบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นบัญชีหมวดสินทรัพย์ ก็ยังมีบัญชีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ คือ บัญชีค่าเสื่อมราคา ในหมวดค่าใช้จ่ายค่ะ ในการคำนวณค่าเสื่อม หากเราใช้โปรแกรมบัญชีส่วนใหญ่ก็จะเป็นการคำนวณแบบอัตโนมัติให้เราอยู่แล้วใช่ไหมคะ แต่ก็จะมีการคำนวณค่าเสื่อมอยู่เพียงแค่ 1 วิธีที่นักบัญชีและนักออกแบบโปรแกรมนิยมใช้กัน แต่วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก วิธีการคำนวณค่าเสื่อมวิธีอื่นๆกันบ้างค่ะ ว่ามีวิธีอะไรอีกบ้าง
1.ค่าเสื่อมราคา คืออะไร?
ค่าเสื่อมราคา คือ การทยอยรับรู้ค่าใช้จ่ายในบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ในประเภทของสินทรัพย์ประเภท อาคารและอุปกรณ์ โดยการพิจารณาแยกส่วนกันในสินทรัพย์ที่สามารถแยกอายุการใช้งานได้อย่างชัดเจน หรือแยกออกกันในด้านของประเภทการใช้งาน ค่าเสื่อมต้องคิดอย่างมีระบบตลอดอายุการใช้งาน และ ทบทวนอายุการให้ประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ
การคำนวณค่าเสื่อมราคาต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก 3 สิ่งนี้
- ราคาทุน
- มีอายุการใช้งาน
- ราคามูลค่าคงเหลือ หรือ ราคาซาก
2. วิธีคิดค่าเสื่อมราคา มีวิธีอะไรบ้าง?
ค่าเสื่อมราคานอกเหนือจากวิธีคำนวณแบบเส้นตรงแล้ว มีวิธีอะไรอีกบ้าง มาดูกันค่ะ
- วิธีเส้นตรง (วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด)
เป็นวิธีที่รับรู้ค่าเสื่อมราคาในแต่ละปีเท่าๆกัน
ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) / อายุการใช้งาน
- วิธียอดคงเหลือลดลง
เป็นวิธีที่คำนวณค่าเสื่อมราคาทีละปี แล้วลดยอดคงเหลือในการคูณอัตราค่าเสื่อมไปจนถึงปีสุดท้าย
ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ ปีแรกๆ จะรับรู้มาก และทยอยรับรู้น้อยลงไปจนถึงปีสุดท้ายค่ะ
ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธียอดคงเหลือลดลง = (อัตราค่าเสื่อมราคา x 2 ) x มูลค่าทางบัญชี
- วิธีจำนวนผลผลิต
ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ตามจำนวนการผลิต
ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธีจำนวนผลผลิต = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) x (จำนวนที่ผลิตได้ในปี/ปริมาณการผลิตทั้งหมด)
- วิธีผลรวมจำนวนปี
ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ ปีแรกๆ จะรับรู้มาก และทยอยรับรู้น้อยลงไปจนถึงปีสุดท้ายค่ะ แต่จะแตกต่างกับวิธี วิธียอดคงเหลือลดลง คือ จะมีความคงที่ในการลดลงมากกว่า
ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธีผลรวมจำนวนปี = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) x (จำนวนปีที่เหลือ/ผลรวมจำนวนปี)
3. ความแตกต่างของแต่ละวิธี จะเลือกใช้วิธีไหนดี?
มี 4 วิธีให้เลือกใช้ได้ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะใช้วิธีการไหน หรือสูตรการคำนวณรับรู้ค่าใช้จ่ายแบบใด ถึงจะเหมาะสมกับธุรกิจของเรากันค่ะ
เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ยกตัวอย่างการคำนวณค่าเสื่อมเครื่องจักร ดังตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ
ข้อมูลของเครื่องจักร รอบบัญชี 31/12/2565 | หน่วย | |
ราคาทุน | 1,000,000 | บาท |
มูลค่าคงเหลือ | 100,000 | บาท |
อายุการให้ประโยชน์ | 5 | ปี |
อัตราค่าเสื่อมราคา | 20% | |
วันที่เริ่มต้นใช้งาน | 1 มกราคม 2565 | |
กำลังการผลิตตลอดอายุการใช้งาน | ||
ปีที่ 1 | 7,000 | ชิ้น |
ปีที่ 2 | 8,000 | ชิ้น |
ปีที่ 3 | 15,000 | ชิ้น |
ปีที่ 4 | 6,000 | ชิ้น |
ปีที่ 5 | 4,000 | ชิ้น |
รวม | 40,000 | ชิ้น |
- วิธีเส้นตรง (วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด)
จากสูตรการคำนวณ ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) / อายุการใช้งาน
เป็นสูตรการคำนวณที่ค่าเสื่อมราคาจะเท่ากับทุกๆปี เหมาะสมกับกิจการทั่วไป เป็นการคำนวณค่าเสื่อมอย่างง่าย แต่ต้องใช้วิธีคิดนี้ไปอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพื่อที่จะสามารถนำตัวเลขในงบไปวิเคราะห์เปรียบเทียบได้
ราคาทุน | (A) | 1,000,000 | บาท |
มูลค่าคงเหลือ | (B) | 100,000 | บาท |
มูลค่าทางบัญชี | A – B = (C) | 900,000 | บาท |
อายุการให้ประโยชน์ | (D) | 5 | ปี |
ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง | C / D = (E) | 180,000 | บาท |
ค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรง | จำนวน | |
ปีที่ 1 | 180,000 | บาท |
ปีที่ 2 | 180,000 | บาท |
ปีที่ 3 | 180,000 | บาท |
ปีที่ 4 | 180,000 | บาท |
ปีที่ 5 | 180,000 | บาท |
รวม | 900,000 | บาท |
- วิธียอดคงเหลือลดลง เป็นวิธีที่คำนวณค่าเสื่อมทีละปี แล้วลดยอดคงเหลือในการคูณอัตราค่าเสื่อมไปจนถึงปีสุดท้าย ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมที่รับรู้ ปีแรกๆ จะรับรู้มาก และทยอยรับรู้น้อยลงไปจนถึงปีสุดท้ายค่ะ ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธียอดคงเหลือลดลง = (อัตราค่าเสื่อมราคา x 2 ) x ราคาทรัพย์สิน
ราคาทุน | (A) | 1,000,000 | บาท |
มูลค่าคงเหลือ | (B) | 100,000 | บาท |
มูลค่าทางบัญชี | (A) | 1,000,000 | บาท |
อัตราค่าเสื่อมราคา | 20% | ||
อัตราค่าเสื่อมราคา x 2 | (D) | 40% | |
ค่าเสื่อมราคาวิธียอดคงเหลือลดลง ปีที่ 1 | C x D = (E) | 400,000 | บาท |
ค่าเสื่อมราคาวิธียอดคงเหลือลดลง | มูลค่าทางบัญชี | อัตราค่าเสื่อม (D) | ค่าเสื่อมราคา | ค่าเสื่อมราคาสะสม |
ปีที่ 1 | 1,000,000 | 40% | 400,000 | 400,000 |
ปีที่ 2 | 600,000 | 40% | 240,000 | 640,000 |
ปีที่ 3 | 360,000 | 40% | 144,000 | 784,000 |
ปีที่ 4 | 216,000 | 40% | 86,400 | 870,400 |
ปีที่ 5 | 129,600 | 40% | 29,600 | 900,000 |
รวม | 100,000 |
- วิธีผลรวมจำนวนปี ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ ปีแรกๆ จะรับรู้มาก และทยอยรับรู้น้อยลงไปจนถึงปีสุดท้ายค่ะ แต่จะแตกต่างกับวิธี วิธียอดคงเหลือลดลง คือ จะมีความคงที่ในการลดลงมากกว่า ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธีผลรวมจำนวนปี = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) x (จำนวนปีที่เหลือ/ผลรวมจำนวนปี)
ราคาทุน | (A) | 1,000,000 | บาท |
มูลค่าคงเหลือ | (B) | 100,000 | บาท |
มูลค่าทางบัญชี | A – B = (C) | 900,000 | บาท |
ผลรวมจำนวนปี (1+2+3+4+5) | 15 | ปี |
ค่าเสื่อมราคาวิธีผลรวมจำนวนปี | มูลค่าทางบัญชี | จำนวนปีที่เหลือ/ผลรวมจำนวนปี | ค่าเสื่อมราคา | วิธีคำนวณ |
ปีที่ 1 | 900,000 | 5/15 | 300,000 | (900,000 x 5/15) |
ปีที่ 2 | 900,000 | 4/15 | 240,000 | (900,000 x 4/15) |
ปีที่ 3 | 900,000 | 3/15 | 180,000 | (900,000 x 3/15) |
ปีที่ 4 | 900,000 | 2/15 | 120,000 | (900,000 x 2/15) |
ปีที่ 5 | 900,000 | 1/15 | 60,000 | (900,000 x 1/15) |
รวม | 900,000 |
- วิธีจำนวนผลผลิต ค่าเสื่อมที่รับรู้จะเป็นค่าเสื่อมราคาที่รับรู้ตามจำนวนการผลิต ตามสูตรดังนี้
ค่าเสื่อมราคาวิธีจำนวนผลผลิต = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) x (จำนวนที่ผลิตได้ในปี / ปริมาณการผลิตทั้งหมด)
ราคาทุน | (A) | 1,000,000 | บาท |
มูลค่าคงเหลือ | (B) | 100,000 | บาท |
มูลค่าทางบัญชี | A – B = (C) | 900,000 | บาท |
กำลังการผลิตตลอดอายุการใช้งาน | |||
ปีที่ 1 | 7,000 | ชิ้น | |
ปีที่ 2 | 8,000 | ชิ้น | |
ปีที่ 3 | 15,000 | ชิ้น | |
ปีที่ 4 | 6,000 | ชิ้น | |
ปีที่ 5 | 4,000 | ชิ้น | |
รวม | 40,000 | ชิ้น |
ค่าเสื่อมราคาวิธีจำนวนผลผลิต | มูลค่าทางบัญชี | จำนวนที่ผลิตได้ในปี / ปริมาณการผลิตทั้งหมด | ค่าเสื่อมราคา | |
ปีที่ 1 | 900,000 | 7,000 / 40,000 | 157,500 | บาท |
ปีที่ 2 | 900,000 | 8,000 / 40,000 | 180,000 | บาท |
ปีที่ 3 | 900,000 | 15,000 / 40,000 | 337,500 | บาท |
ปีที่ 4 | 900,000 | 6,000 / 40,000 | 135,000 | บาท |
ปีที่ 5 | 900,000 | 4,000 / 40,000 | 90,000 | บาท |
รวม | 900,000 | 40,000 / 40,000 | 900,000 | บาท |
จากที่แสดงการคำนวณค่าเสื่อมราคาของแต่ละวิธีแล้ว สรุปได้ว่า
วิธีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ วิธียอดคงเหลือลดลงและวิธีผลรวมจำนวนปี ที่ค่าเสื่อมราคาปีเริ่มต้นจะมูลค่าสูงและค่อยๆทยอยลดลงในปีหลัง
วิธีที่รับรู้ค่าเสื่อมราคาเท่ากันทุกปี คือ วิธีเส้นตรง เป็นวิธีที่หารเท่ากันทุกปี
และวิธีที่ไม่สามารถคาดการณ์ค่าเสื่อมราคาของแต่ละปีได้ คือ วิธีจำนวนผลผลิต ที่ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตว่าเครื่องจักรจะผลิตได้ปีละเท่าไร
พอทราบความแตกต่างแล้ว เพื่อนๆลองวิเคราะห์ดูนะคะ ว่าการคำนวณค่าเสื่อมราคาแบบไหนที่เหมาะสมกับธุรกิจของเพื่อนๆบ้าง
4. ค่าเสื่อมราคาอยู่ตรงไหนในงบการเงิน
ค่าเสื่อมราคา ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนอันนี้ทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่สำหรับหมายเหตุประกอบงบการเงินต้องเปิดเผยเรื่องค่าเสื่อมไหม เราลองมาดูตัวอย่างนี้กันค่ะ
ในหมายเหตุประกอบงบการเงินเรื่อง “ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์” ตามมาตรฐานรายงานการเงินบอกไว้ว่า ต้องเปิดเผยรายการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์และค่าเสื่อมราคาสะสม
อธิบายเป็นภาษาคนง่ายๆ เราขอแบ่งแบบนี้ค่ะ ในตารางการเคลื่อนไหวหมายเหตุงบการเงิน จะมีอยู่ 4 ช่อง ตามนี้
ช่องที่ 1 เป็นราคาทุนที่เพิ่มขึ้น หมายความว่า กิจการได้มีการซื้อสินทรัพย์เข้ามาเพิ่ม สามารถดูได้รายบรรทัดว่ากิจการนั้นซื้อทรัพย์สินประเภทใด หมวดใดเข้ามาเพิ่มในปีบ้าง
ช่องที่ 2 เป็นรายการลดลงของรายการราคาทุน หมายความว่า มีการขายหรือตัดจำหน่ายทรัพย์สินระหว่างปีออกไปค่ะ สามารถดูได้รายบรรทัดว่ากิจการนั้น ขายทรัพย์สินประเภทใด หมวดใดออกบ้างในปี
ช่องที่ 3 เป็นรายการลดลงของค่าเสื่อมราคาสะสม หมายความว่า เป็นการบันทึกบัญชีค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ที่มีอยู่ของกิจการ
ช่องที่ 4 เป็นรายการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาสะสม หมายความว่า มีค่าเสื่อมสะสมที่เราตัดออกไปเท่าใดเมื่อมีการขายหรือตัดจำหน่ายทรัพย์สินระหว่างปีค่ะ
จากคำอธิบายในหมายเหตุประกอบงบการเงิน พออ่านแล้วอาจจะดูงงๆ ต้องไปเปิดอ่านเพิ่มเติมข้อนั้น ข้อนี้ แต่ข้อนี้ก็มีความสำคัญมากนะคะ เนื่องจากเป็นการบอกถึงสถานภาพทางการเงิน ว่าสินทรัพย์ที่เรามีอยู่แล้วเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นจากการซื้อเงินสด หรือว่าเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืม หรือเจ้าหนี้ลิสซิ่ง ซึ่งจะบอกได้ถึงสภาพทางการเงินของกิจการ และภาระในอนาคตที่กิจการจะต้องมีสภาพคล่องพอที่จะจ่ายชำระหนี้ตามกำหนด และอีกข้อคือสินทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ นำไปติดหลักประกันกับสถาบันการเงินหรือไม่
ค่าเสื่อมราคามีหลายรูปแบบที่สามารถเลือกให้เหมาะกับแต่ละกิจการ เพื่อนๆสามารถนำวิธีการคำนวณของแต่ละรูปแบบเสนอให้หัวหน้างานหรือผู้บริหาร ทราบถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละปีที่จะรับรู้ได้ด้วยนะคะ ก็จะทำให้เพื่อนๆเป็นนักบัญชีที่มีคุณภาพและหายากเป็นการสร้างมูลค่าให้ตัวเองด้วยค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y