ภาษี

จ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีหัก ณ ที่จ่ายอย่างไร

จ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีหัก ณ ที่จ่ายอย่างไร

สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ต้องหักเมื่อมีการจ่ายเงิน แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าเราจ่ายด้วยอย่างอื่นล่ะ เช่น  จ่ายด้วยตั๋วเงิน หรือจ่ายด้วยเช็ค เราจะทำยังไงดี วันนี้เรามาดูกันว่า จ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีแบบ และที่สำคัญ ถ้ามีหัก ณ ที่จ่ายด้วย จะทำหัก ณ ที่จ่ายยังไงดีน้า

การหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร?

เรามาเริ่มที่การทำความเข้าใจ หัก ณ ที่จ่ายกันก่อนนะ 

การหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษาพูด ของคำว่า “ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งตามกฎหมายแล้วกำหนดเอาไว้ว่า ผู้จ่ายเงิน ต้องหักเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ เพื่อนำส่ง เป็นภาษีเข้ากรมสรรพากร 

ผู้รับเงิน จะได้เงินไม่เต็มจำนวน แต่จะได้หลักฐานเป็น “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ” โดยผู้รับเงิน สามารถใช้หนังสือรับรองฯ เป็นเครดิตภาษี ตอนจ่ายชำระภาษีประจำปีได้ 

ดังนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า การหัก ณ ที่จ่าย เป็นเสมือนกับ การจ่ายภาษีล่วงหน้า ทุกครั้งที่เรารับเงิน โดยเข้าเงื่อนไขของการหัก ณ ที่จ่ายนั่นเอง

หากใครอยากเข้าใจภาพรวม ของการหัก ณ ที่จ่าย สามารถตามไปอ่านได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101

จ่ายด้วยเช็คหัก ณ ที่จ่ายยังไง 

อันที่จริงแล้ว การหัก ณ ที่จ่าย เราต้องหักทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายเงิน แต่หากพวกเราจ่ายโดยไม่ใช่เงินสด หรือเงินโอน เราจะต้องหัก ณ ที่จ่ายยังไง?

ปัญหานี้มีทางออกจ้า โดยการจ่ายชำระ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องจ่ายเป็นเงินสดเสมอไป

ตามกฎหมายแล้วเขาบอกว่า ทุกครั้งที่มีการจ่าย “เงินได้” ต้องหัก ณ ที่จ่าย ดังนั้น สรุปได้ว่า ไม่ว่าเราจะจ่ายด้วยวิธีไหน ถ้าเข้าข่ายเงินได้ ต้องหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่าย ทุกครั้ง

เอาล่ะคำถามต่อมา แล้วถ้าจ่ายเป็นเช็ค จะต้องหักวันไหน?

จ่ายเช็ค หัก ณ ที่จ่ายวันไหน
จ่ายเช็ค หัก ณ ที่จ่ายวันไหน

“เช็ค” ในที่นี้ หมายถึง ตั๋ว/ใบแสดงสิทธิ์ ที่สามารถสั่งธนาคารจ่ายเงิน ให้กับผู้ถือ หรือผู้มีสิทธิ์ขึ้นเงินตามหน้าเช็คได้ ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า หากจ่ายเป็นเช็ค ต้องโฟกัสไปที่ วันที่ที่ลงในเช็ค 

สมมติว่า ออกเช็คลงวันที่ 30 กันยายน นั่นหมายถึง เช็คนี้สามารถขึ้นเงินได้ตั้งแต่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่จ่ายชำระ และเป็นวันที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายนั่นเอง

เมื่อเราจ่ายชำระวันที่ 30 กันยายนตามหน้าเช็ค นั่นก็หมายความว่า เราต้องนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย (กรณีเป็นเงินได้ที่เข้าเงื่อนไขการหัก ณ ที่จ่าย) ภายในวันที่ 7 ตุลาคม หรือภายในวันที่ 15 ตุลาคมกรณียื่นแบบออนไลน์

จ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีหัก ณ ที่จ่ายอย่างไร 

ตอนนี้เรารู้แน่ๆ แล้วว่า ไม่ว่าเราจะจ่ายเป็นอะไรก็ตาม เมื่อใดที่เกิดการจ่ายชำระ เราต้องหัก ณ ที่จ่ายอย่างแน่นอน แต่พอมาถึง Part บัญชีเท่านั้นแหละ ปวดหัวตึ๊บขึ้นมาทันทีเลย ถ้าเราจ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีหัก ณ ที่จ่ายยังไงดีนะ

เราลองมาดูตัวอย่างกันจ้า บริษัท A จ่ายชำระค่าทำบัญชี มูลค่า 10,000 บาท (ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งต้องหัก ณ ที่จ่าย 3%  จากค่าบริการทำบัญชี 

โดยบริษัท A จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม A/C Payee Only ให้กับสำนักงานบัญชี ออกเช็ควันที่ 30 กันยายน วันที่น่าเช็ค  30 กันยายน (วันที่สามารถขึ้นเงินได้) แต่สำนักงานบัญชีขึ้นเงินวันที่ 5 ตุลาคม

เราจะบันทึกบัญชียังไงดีน้าา?

เฉลย!! จากกรณีข้างต้นนี้ บริษัท A ต้องขอเช็คขีดคร่อม ให้กับสำนักงานบัญชี มูลค่า 9,700 บาท และต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มูลค่า  300 บาท ซึ่งลงวันที่จ่าย 30 กันยายน (ไม่สนว่าสำนักงานบัญชีขึ้นเงินวันที่เท่าไร) หลังจากนั้น ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภายในวันที่ 7 ตุลาคม หรือ 15 ตุลาคม กรณียื่นแบบออนไลน์ และต้องบันทึกบัญชีดังนี้

บันทึกรายการ วันที่ 30 กันยายน (ออกเช็คให้สำนักงานบัญชี)Dr.Cr.
ค่าบริการทำบัญชี10,000
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายรอนำส่ง300
เช็คจ่ายรอตัดบัญชี9,700
บันทึกรายการ วันที่ 5 ตุลาคม (สำนักงานบัญชีขึ้นเงินเช็ค)Dr.Cr.
เช็คจ่ายรอตัดบัญชี9,700
เงินฝากธนาคาร 9,700
บันทึกรายการ วันที่ 15 ตุลาคม (จ่ายภาษีสรรพากร)Dr.Cr.
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายรอนำส่ง300
เงินฝากธนาคาร 300

ถ้าไม่หัก ณ ที่จ่ายมีโทษอะไร  

การยื่นภาษีเป็นกฎหมาย และกฎหมายหากเราไม่ปฏิบัติตามย่อมมีโทษแน่นอน โดยโทษของการไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น มีอยู่ 2 รูปแบบดังนี้

  1. กรณีที่ ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน ต้องรับผิดในภาษีที่ต้องเสีย ร่วมกัน 
  2. กรณีที่ มีการหัก ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ไม่มีการนำส่งภาษี ผู้จ่ายเงิน(ผู้หัก) ต้องรับผิดในภาษีที่ต้องเสียคนเดียว
โทษไม่ยื่นหัก ณ ที่จ่าย
โทษไม่ยื่นหัก ณ ที่จ่าย

หากไม่มีการยื่นนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาก่อน จำนวนเงินที่ต้องจ่าย จะมีอยู่ด้วยกัน ดังนี้

  1. ภาษีที่ต้องเสีย
  2. เบี้ยปรับอาญา จากการยื่นแบบล่าช้า
  3. เงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องเสีย

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่พบว่า ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน มีเจตนาในการหลีกเลี่ยงภาษี อาจมีโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ)

หัก ณ ที่จ่ายถูกปรับอะไรบ้าง
หัก ณ ที่จ่ายถูกปรับอะไรบ้าง

ถ้าหัก ณ ที่จ่ายผิด แก้อย่างไรดี

จากเรื่องค่าปรับให้ได้คุยกันมา หลายคนคงรู้แล้วว่า จะยังไงก็ตามเราควรยื่นภาษีเอาไว้ก่อน อันที่จริงแล้วก็ควรยื่นให้ถูกตั้งแต่แรกนั่นแหละ ฮ่าๆ

แต่กรณีที่เรายื่นภาษีผิดล่ะ เราจะแก้ยังไงดีนะ?

ตามหลักแล้ว การไม่ยื่นภาษีถือว่ามีความผิด แต่หากเรายื่นภาษีผิดอันนี้ยังพอแก้ไขได้ อาทิเช่น ยื่นภาษีผิดงวด ยื่นภาษีขาด ยื่นภาษีเกิน ข้อมูลผู้เสียภาษีผิด ข้อมูลเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ทั้งนั้น โดยสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ : สรุปวิธีแก้ไข กรณียื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด

สรุป จ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีหัก ณ ที่จ่าย

บทความนี้เราสามารถสรุปได้ว่า ไม่ว่าเราจะจ่ายเงินด้วยวิธีไหน ถ้าเงินได้ที่เราจ่าย เข้าเงื่อนไขที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เราต้องหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายชำระเงินได้นั้น และหากมีการจ่ายด้วยเช็ค บันทึกบัญชีหัก ณ ที่จ่าย ให้เราบันทึกบัญชีตามเกณฑ์คงค้าง เมื่อมีรายการเกิดขึ้น 

อย่างไรก็ดี เมื่อเราหัก ณ ที่จ่ายแล้ว เราควรยื่นภาษี ให้ตรงตามงวดเวลาเอาไว้ก่อน เพราะหากเราไม่ยื่นภาษีเลย อาจถูกมองว่า เรามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีได้ หากยื่นไปแล้ว แต่ข้อมูลผิดก็ยังสามารถมาแก้ไขทีหลังได้นะ

และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

อ้างอิง

คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ข้อหารือเลขที่ กค 0706/8/8767

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า