นักบัญชีปีนี้ต้องตื่นตัวกันแล้ว เพราะงบที่เริ่มต้น 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ต้องจัดทำตามรูปแบบรายการย่อตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฉบับใหม่ (ล่าสุด 2566) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควรเลย และนอกจากนี้การยื่น DBD e-filing ก็จะอัปเดตตามหน้างบแบบใหม่เสียด้วย ดังนั้น นักบัญชีที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ ถึงเวลาต้องมาศึกษากันอย่างจริงจังแล้วนะคะ
ในวันนี้ CPD Academy ขอสรุปตัวอย่างงบฐานะการเงินแบบใหม่ ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร และเราในฐานะนักบัญชีต้องระวังอะไรบ้างมาไว้ในบทความนี้ค่ะ
1. รายการย่อคืออะไร/เช็กจากตรงไหน
รายการย่อในงบการเงิน คือ รูปแบบการนำเสนองบการเงินในแต่ละบรรทัดที่ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อให้กิจการได้มีมาตรฐานเดียวกัน ในการจัดทำงบการเงิน นำส่งหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร
ประโยชน์ของการกำหนดรายการย่อในงบนั้น จะทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจงบการเงินในทิศทางเดียวกัน และสามารถวิเคราะห์งบแบบเปรียบเทียบกันได้
โดยรายการย่อที่ประกาศออกมาใหม่นั้น มีผลบังคับใช้สำหรับงบเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งเพื่อนๆ สามารถดาวน์โหลดรายละเอียดได้ที่นี่
1. ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566 (ฉบับเต็ม)
ในประกาศจะบอกที่มาที่ไป รูปแบบการจัดทำงบการเงิน โดยจะแบ่งตามประเภทธุรกิจดังนี้
3. คำชี้แจงประกาศกรมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566 (ฉบับเต็ม)
สำหรับคำชี้แจงนี้จะเป็นการอธิบายแนวคิดและความหมายของรายการย่อแต่ละบรรทัดว่าคืออะไร ซึ่งมีประโยชน์มากๆ สำหรับการทำความเข้าใจรายละเอียดและรูปแบบของงบการเงินค่ะ
2. งบฐานะการเงินแบบใหม่เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
งบแสดงฐานะการเงิน หมายถึง งบที่แสดงสถานะของกิจการว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของเท่าใด ณ วันที่สิ้นงวด โดยทั่วไปแล้วทุกกิจการต้องจัดทำงบแสดงฐานะการเงินประจำปี เพื่อนำส่งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร
ตามประกาศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฉบับใหม่ งบแสดงฐานะการเงินรูปแบบใหม่นี้ มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป หลักๆ 2 อย่าง ได้แก่
- เปลี่ยนชื่องบ จากแบบเดิม งบ “แสดงฐานะการเงิน” เปลี่ยนเป็น งบ “ฐานะการเงิน” เพื่อให้สอดคล้องกับ TAS1 การนำเสนองบการเงินนั่นเอง
- การจัดประเภทตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อนี้มีหลายรายการที่เปลี่ยนแปลงไป ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับ TFRS For NPAEs ที่ปรับปรุงเมื่อปี 2565 นั่นเอง
สำหรับรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของงบฯแบบใหม่ที่น่าจะเจอบ่อยๆ สำหรับกิจการทั่วไป เปรียบเทียบกันระหว่างประกาศฉบับเดิม และประกาศฉบับใหม่ เพื่อนๆ สามารถดูได้จากรูปภาพนี้ค่ะ
ทั้งนี้ต้องขอบคุณข้อมูลเผยแพร่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยนะคะ
หากใครอยากทราบว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับงบแสดงฐานะการเงินที่เราสรุป Highlihgt มาให้แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในส่วนอื่นๆ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ค่า รายการย่อในงบการเงิน Update ต้องเตรียมตัวทำงบปี 2567 อย่างไรบ้าง?
3. ตัวอย่าง งบฐานะการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
จากตัวอย่างนี้ เราเอางบการเงินเสมือนจริงมาให้เพื่อนๆ ลองดูค่ะ
จากภาพจะเห็นได้ว่า ชื่องบการเงินเปลี่ยนแน่นอน และอีกอย่างที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ รายการในกรอบสีส้มนั่นเองค่ะ
ในกรอบสีส้มมีทั้ง รายการเดิมแต่เพิ่มเติมคำ เช่น ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น แบบใหม่ก็เพิ่มคำว่า หมุนเวียน และไม่หมุนเวียน เข้ามา หรือจะเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นมาใหม่เลย เช่น มูลค่าของงานส่วนที่เสร็จแต่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกชำระเงิน – หมุนเวียน และไม่หมุนเวียน เป็นต้นค่ะ
เห็นจากตัวอย่างนี้แล้ว เพื่อนๆ น่าจะพอนึกออกว่า เรื่องยุ่งยากที่เราต้องวางแผนล่วงหน้า ก็คือ การจัดประเภทรายการของปีก่อน เพื่อเปรียบเทียบกับปีปัจจุบันให้ถูกต้องในหน้างบการเงินค่ะ
4. จุดต้องระวังในการจัดทำงบฯแบบใหม่
อย่างที่บอกไว้ในหัวข้อก่อนหน้า เมื่อปีนี้มีการจัดประเภทตามรายการอย่างย่อไม่เหมือนเดิม ข้อที่ต้องระวังก็คือ เราต้องทำข้อมูล 2 ปีเปรียบเทียบให้ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับข้อมูลที่ถูกต้องด้วยนะ
และเมื่อเราแก้ไขรายการอย่างย่อ อย่าลืมที่จะไปแก้ไขหมายเหตุประกอบงบการเงินให้ถูกต้องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชื่อรายการย่อ และตัวเลขรายละเอียดประกอบนั้น เมื่อจัดประเภทรายการใหม่แล้ว ก็ต้องเช็กให้สอดคล้องกับหน้างบการเงินค่า
สรุป
เพื่อนๆ น่าจะพอเห็นภาพตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินแบบใหม่ และรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องระมัดระวังในขั้นตอนการจัดทำงบการเงินแล้วใช่ไหมคะ และสำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับการจัดทำงบกำไรขาดทุนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้เลยค่ะ
งบกําไรขาดทุน ตัวอย่างรายการย่อในงบการเงิน พ.ศ. 2566
และสำหรับเพื่อนๆ ที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับ รายการย่อที่ต้องมีในงบ และวิธีจัดทำงบการเงิน แบบเน้นๆ สามารถไปอบรมกันได้ที่นี่นะคะ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy