การให้สวัสดิการพนักงานเป็นเรื่องปกติทั่วไปของบริษัท ที่จะให้สวัสดิการเพื่อเป็นผลตอบแทนในการทำงาน และสวัสดิการเอง ก็มีหลากหลายรูปแบบจนทำให้นักบัญชีเริ่มสับสนว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสวัสดิการ แบบไหนที่เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ แบบไหนที่ถือว่าเป็นการจ่ายแบบส่วนตัว ในวันนี้ CPD Academy จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องภาษีสวัสดิการให้มากขึ้นในบทความนี้ค่ะ
ประเด็นภาษี สวัสดิการพนักงาน
สวัสดิการพนักงาน คือ ผลประโยชน์ที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งส่วนที่จ่ายให้กับพนักงานนี้ ต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างงาน เป็นไปตามนโยบายของบริษัท โดยไม่เลือกปฏิบัติกับใครคนใดเป็นพิเศษ จึงถือเป็นค่าใช้จ่าย สวัสดิการที่บริษัทให้กับพนักงาน
ยกตัวอย่าง
ผลประโยชน์ตอบแทน ที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงาน หากทั้งหมด เป็นไปตามนโยบายสวัสดิการของบริษัท ก็เท่ากับว่าเป็นเงินได้ของพนักงานเช่นกัน ซึ่งจะอยู่ในรายได้ 40 (1)
การยื่นแบบภาษี
โดยในทุกเดือน บริษัทต้องยื่น แบบ ภ.ง.ด. 1 เพื่อหัก ณ ที่จ่ายเงินได้ของพนักงาน และทุกสิ้นปี บริษัทต้องยื่นแบบภ.ง.ด. 1 ก เป็นยอดรวมเงินได้รายปีของพนักงาน และต้องออกใบรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน
ส่วนในเรื่องการคำนวณ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ว่าบริษัทต้องหักเท่าไหร่ ก็มีวิธีคิดคร่าว ๆ ดังนี้
- บริษัทต้องประเมิน เงินได้ของพนักงานรายปี (ถ้าเป็นเงินเดือนอย่างเดียวก็ง่ายหน่อย)
- นำเงินได้ทั้งปีของพนักงาน หักด้วยลดหย่อนส่วนตัวของพนักงาน จะเป็นเงินได้สุทธิ
- นำเงินได้สุทธิของพนักงาน คูณอัตราภาษีแบบก้าวหน้า จะได้ภาษีทั้งหมดที่ต้องเสียรายปี
- นำภาษีที่ต้องเสียรายปี คิดเฉลี่ยเป็นรายเดือน เพื่อหัก ณ ที่จ่าย ยื่น ภ.ง.ด. 1 ให้กับพนักงาน
ในด้านของพนักงาน เนื่องจากมีเงินได้ แน่นอนว่าทุกคนที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ ก็ต้องเสียภาษี ทุก ๆ ปี มนุษย์เงินเดือนก็ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 ซึ่งเป็นแบบแสดงรายการ เงินได้รายปีของบุคคลธรรมดา สวัสดิการทั้งหมดที่ได้รับ ก็จะต้องถูกดำเนินยื่นภาษีรายปีเช่นกัน
ได้เงินคืน จากการออกเงินล่วงหน้าแทนบริษัท
ประเด็นฮอตฮิต เกี่ยวกับการจ่ายเงินได้ให้กับพนักงาน หากพนักงาน ออกเงินค่าใช้จ่ายแทนบริษัทไปก่อน แล้วไปเบิกคืนกับบริษัทในภายหลัง โดยบิลที่พนักงานได้รับ ก็เป็นบิลชื่อบริษัทด้วยนะ
ในกรณีนี้ การที่พนักงาน จ่ายเงินค่าใช้จ่ายของบริษัทไปก่อน แล้วไปเบิกคืนทีหลัง นั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปต้องเป็นของบริษัท ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของพนักงาน
ดังนั้น หากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า หลักฐานการจ่าย เป็นของบริษัท ใช้จ่ายในงานของบริษัท และมีระเบียบการเบิกเงินคืน ก็เท่ากับว่า ไม่ใช่เงินได้ของพนักงาน พนักงานเป็นเพียงตัวกลาง ในการโอนเงินไปสู่คู่ค้าเท่านั้นเอง
เงื่อนไขการแจกรางวัลพนักงาน
ก่อนหน้านี้ เราคงจะเคลียร์กันแล้ว กับคำว่าสวัสดิการพนักงาน ที่เราจ่ายให้กับพนักงานเป็นรายเดือน คำถามต่อมา คือ แล้วถ้าบริษัท ต้องการที่จะแจกรางวัลให้กับพนักงาน ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี สวัสดิการพนักงานได้หรือเปล่า
ค่าใช้จ่ายพนักงาน VS ค่าใช้จ่ายต้องห้าม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
บางบริษัทก็จะมีงานเลี้ยงประจำปี และแน่นอนว่า ในงานประจำปี ต้องมีการแจกของรางวัลแน่นอน ที่นี้ ของรางวัลที่บริษัทแจกให้กับพนักงาน จะเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ไหมพิจารณาแบบนี้
ค่าใช้จ่ายพนักงาน
ถ้าบริษัทจะบันทึก ของที่แจกให้กับพนักงาน เป็นค่าใช้จ่ายพนักงานได้ ก็มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ 2 ข้อ ดังนี้
- บริษัทต้องมีระเบียบสวัสดิการ ซึ่งต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจน ว่าแจกอะไร เงื่อนไขในการแจกคืออะไร และใครที่มีสิทธิ์ได้รับบ้าง
- การแจกให้กับพนักงานนั้น ต้องไม่เจาะจงใครเป็นพิเศษ ถ้าได้ก็ต้องมีสิทธิ์ได้เท่าเทียมกันทุกคน หากเลือกปฏิบัติก็จะถือเป็นการจ่ายโดยเสน่หา
ค่าใช้จ่ายพนักงานต้องห้าม
ค่าใช้จ่ายต้องห้าม ที่จ่ายให้กับพนักงาน เกิดขึ้นได้ในหลายกรณีมาก แต่เนื้อหาสำคัญ คือ เป็นการจ่ายที่เจาะจงบุคคล และมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา นึกอยากจะให้ก็ให้ ไม่ได้ให้พร้อมกันทุกคน หรือให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นสิทธิพิเศษ ก็จะเข้าลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (3)
การแจก Gift Voucher ให้พนักงาน ถือเป็นสวัสดิการหรือเปล่า
Gift Voucher ถือเป็นเครื่องมือการตลาดอย่างนึง บริษัทส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ไม่เพียงแค่ใช้ในการทำการตลาด บางบริษัทยังใช้ในการแจกพนักงาน ในบริษัทของตัวเองอีกด้วย
เราจะรู้ว่าแจก Gift Voucher ให้พนักงานของตัวเอง ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี สวัสดิการพนักงานได้หรือเปล่า เราก็ต้องวนกลับมาดูที่เงื่อนไขในการแจกของเรา คือ 1) มีนโยบายสวัสดิการ 2) แจกโดยไม่เลือกปฏิบัติ หากเข้าเงื่อนไข ก็จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้นั่นเอง
พนักงานเบิกค่าน้ำมันรถ
การเบิกค่าน้ำมันรถ เป็นอีกหนึ่งประเด็นทางภาษี ที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะว่าเกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากพนักงานต้องออกไปทำงานข้างนอก บริษัทก็ต้องมีการจ่ายค่าน้ำมันชดเชยให้กับพนักงาน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า พนักงานเบิกค่าน้ำมันรถ บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือเปล่า เราลองมาดูว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
- ค่าใช้จ่ายนั้นใช้ในงานของบริษัทจริงหรือเปล่า ใช้เพื่อหากำไรของบริษัทหรือเปล่า
- ต้องมีระเบียบการเบิกจ่ายที่ชัดเจน หากเป็นค่าน้ำมัน ก็ต้องมีรายงานการเดินทาง และมีการอนุมัติจ่าย
สรุป
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สวัสดิการพนักงาน บริษัทจ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท อีกฝั่งนึงพนักงานก็ต้องรับเป็นรายได้
ค่าใช้จ่ายบางอย่าง จำเป็นที่ต้องมีนโยบาย มีระเบียบการเบิกจ่าย และมีการอนุมัติ เช่นค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งต้องพิสูจน์ได้ว่า ใช้ในงานของบริษัทจริง
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเลย คือ ต้องคำนึงว่าเป็นการให้โดยเสน่หาหรือเปล่า หากเป็นการเจาะจงให้ใครเป็นพิเศษ หรือมีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น ก็จะเข้าข่ายเป็นการให้โดยเสน่หา จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามของบริษัทนะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y