ความรู้บัญชี

ยื่น บอจ.5 คืออะไร ต้องทำยังไงบ้าง?

ยื่น บอจ.5 คืออะไร ต้องทำยังไงบ้าง

ทุกๆปีของการนำส่งงบการเงิน เมื่อพูดถึงเรื่องการยื่นงบการเงิน นักบัญชีก็ต้องนึกถึงการยื่น บอจ.5 ควบคู่มาด้วย แล้วก็จะมีคำถามต่อว่า แล้ว บอจ.5 คืออะไร ต้องยื่นทำไม ในการทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล ก็จะมีผู้ถือหุ้นหลายคน แล้วแต่ว่าแต่ละกิจการจะตกลงกัน ซึ่งการยื่นบอจ.5 ก็เป็นเหมือนการยืนยันในทุกๆปีว่า รายชื่อผู้ถือหุ้นปัจจุบันนี้ คือใครบ้าง แล้วสัดส่วนหุ้นคนละเท่าไหร่ ก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องนำส่งข้อมูลในทุกๆปีค่ะ เราไปดูรายละเอียดกัน

1. บอจ.5 คืออะไร

บอจ.5 หรือ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น คือ แบบแสดงรายละเอียดของผู้ถือหุ้น บอกถึง ใครถือหุ้นบ้าง แต่ละคนมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของอยู่เท่าไหร่ มีรายละเอียดสำคัญอยู่ 6 ข้อ ดังนี้

  • ชื่อ เลขทะเบียน ของบริษัท
  • วันที่ลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียน เช่น ข้อมูล ณ วันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท หรือ ณ วันที่คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
  • มูลค่าทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น และมูลค่าราคาพาร์ของหุ้น
  • จำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  • รายละเอียดของผู้ถือหุ้นแต่ละคน ประกอบด้วย ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน สัญชาติ อาชีพ ที่อยู่ จำนวนหุ้นที่ถือและชำระแล้ว เลขหมายหุ้น วันที่ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น เป็นต้น
  • วันที่นำส่งข้อมูล

2. นิติบุคคลไหนต้องยื่น บอจ.5 บ้าง

บอจ. 5 นั้นไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับธุรกิจทุกประเภทนะคะ ถ้าเราเป็นแบบบุคคลธรรมดา หรือเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็จะไม่มีข้อมูล บอจ.5 ค่ะ


สรุปคือ บอจ.5 จะใช้แค่กับ “บริษัทจำกัด” เท่านั้นค่ะ และกฏหมายได้ระบุให้ “บริษัทจำกัด” ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญ โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นด้วย

3. บอจ. 5 ต้องยื่นเมื่อไร

สำหรับกิจการที่ปิดรอบบัญชี 31 ธันวาคมของทุกปี

“บริษัทจำกัด” ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญ ภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี (ภายใน 30 เมษายน) โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่

สมมติประชุมใหญ่วันสุดท้าย เมื่อ 30 เมษายน ก็จะต้องยื่น บอจ. 5 ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้ายนั่นเอง

ถ้าปิดรอบบัญชีอื่นๆ

กิจการที่ปิดรอบบัญชีอื่นๆ สมมติเป็นวันที 30 มิถุนายน ของทุกปี

นำส่งงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญ ภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี (ภายใน 31 ตุลาคม) โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่

แต่ถ้ายื่นไม่ทันอาจโดนเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท ต่อกรรมการ 1 คนเลยนะคะ

4. วิธีการยื่นแบบ บอจ. 5 ออนไลน์

4.1 เตรียมไฟล์ข้อมูลยื่นแบบ บอจ. 5 ออนไลน์

ให้เพื่อนๆเข้าสู่ระบบของ DBD E-Filing เพื่อทำการดาวน์โหลดไฟล์ EXCEL ออกมาจัดทำข้อมูลนะคะ

ขั้นตอนที่ 1 พอเข้าสู่ระบบได้แล้ว ให้เลือกหัวข้อ

  • เตรียมข้อมูลงบการเงิน/หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  • เตรียมข้อมูลแบบ Offline
  • Download ไฟล์ Excel บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น V4.0

ขั้นตอนที่ 2 พอได้ไฟล์ Excel บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น V4.0 แล้ว กรอกข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมในการอัพโหลดไฟล์เข้าสู่ระบบค่ะ

เตรียมไฟล์ข้อมูลยื่นแบบ บอจ. 5 ออนไลน์
เตรียมไฟล์ข้อมูลยื่นแบบ บอจ. 5 ออนไลน์

4.2 วิธีการยื่นแบบบอจ. 5 ออนไลน์

ขั้นตอนที่ 1 เลือกหัวข้อ

  • นำส่งงบการเงิน/หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  • คลิก ส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น

ขั้นตอนที่ 2 คลิกเลือกประเภทไฟล์ข้อมูลที่ต้องการนำส่ง

ไฟล์ Excel : สำหรับนิติบุคคลที่ต้องการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในรูปแบบ Excel
ไฟล์ Text ที่ได้จากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) จำกัด : สำหรับนิติบุคคล ที่ต้องการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในรูปแบบไฟล์ Text
Web-Form : สำหรับนิติบุคคลที่ต้องการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นผ่าน Web-Form

ไฟล์ที่เราจัดเตรียมไว้ ให้เลือกประเภท ไฟล์ Excel : สำหรับนิติบุคคลที่ต้องการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในรูปแบบ Excel

  • หัวข้อ ที่มาของบัญชี ระบบแสดงที่มาของบัญชี ตามข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่นิติบุคคลทำการอัพโหลด
  • คลิก นำส่ง
วิธีการยื่นแบบบอจ. 5 ออนไลน์
วิธีการยื่นแบบบอจ. 5 ออนไลน์

5. ตัวอย่างหนังสือ บอจ. 5

จากข้อมูลที่เรานำส่งไปในระบบเรียบร้อยแล้ว จะสามารถพิมพ์แบบ บอจ.5 ออกมาเก็บไว้เป็นหลักฐานได้ หน้าตาก็จะเป็นประมาณนี้ค่ะ

สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะเพื่อนๆ ขั้นตอนก็น้อยนิด แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น จำนวนหุ้นรวมเท่ากันหรือไม่ ชื่อ – นามสกุล ถูกต้องตรงกับบัตรประชาชนหรือไม่ เพียงแค่เราต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง และครบถ้วนเท่านั้นเองค่ะ เพียงเท่านี้บริษัทเราก็ทำตามกฏหมายอย่างถูกต้องและไม่ต้องเสี่ยงจ่ายค่าปรับที่ไม่จำเป็นด้วยค่ะ

ถ้าหากเพื่อนยื่นบอจ.5 สำเร็จแล้ว ไปศึกษาต่อกันที่วิธียื่นงบการเงินได้เลย: ยื่นงบการเงินออนไลน์ผ่าน DBD E-Filing ทำอย่างไร?

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า