งานบัญชียื่นภาษีรายเดือนก็มีเยอะอยู่แล้ว แต่มิวายยังมีงานยื่นแบบภาษีประจำปีที่ต้องทำเป็นประจำสอดแทรกเข้ามาอีก และภาษีประจำปียอดฮิตอีกตัวที่ว่าก็คือ การยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก นั่นเองค่ะ
แบบ ภ.ง.ด.1ก คืออะไร ใครบ้างต้องยื่นแบบนี้ และมีเทคนิคยังไงในการตรวจสอบข้อมูลก่อนนำส่งสรรพากร ในวันนี้ CPD Academy ขออาสาพาทุกคนไปทำความเข้าใจกันจ้า
ภ.ง.ด.1ก คืออะไร?
ภ.ง.ด.1ก คือ แบบภาษีใช้สำหรับการรายงานเงินได้ และภาษีหัก ณ ที่จ่ายของพนักงานประเภท 40(1)(2) ทั้งปี

เงินได้ทั้งสองประเภทนี้ ประกอบด้วย
40(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ได้แก่
(ก) เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
(ข) เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างออกให้
(ค) เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านทนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
(ง) เงินค่าภาษีอากรที่นายจ้างหรือผู้อื่นออกแทนให้ไม่ว่าในทอดใด
(จ) เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าทต้องชำระ
(ฉ) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน
40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ได้แก่
(ก) ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
(ข) เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
(ค) เงินค่าเช่าบ้านที่ผู้จ่ายเงินออกให้
(ง) เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านทผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
(จ) เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้ไม่ว่าในทอดใด
(ฉ) เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินไดมีหน้าที่ต้องชำระ
(ช) เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำ หรือชั่วคราว
ใครต้องยื่น ภ.ง.ด.1ก บ้าง?
ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก คือ คนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2) ให้แก่บุคคลธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทเท่านั้น แต่รวมถึง บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่จ้างงานและจ่ายเงินได้สองประเภทนี้ค่ะ
ภ.ง.ด.1 ต่างกับ ภ.ง.ด.1ก อย่างไร?
หลายคนคงเคยได้ยินแบบที่ชื่อว่า “ภ.ง.ด.1” และก็น่าจะสงสัยใช่ไหมคะว่า มีความแตกต่างจาก ภ.ง.ด.1ก ที่เรากำลังพูดถึงอย่างไร
ภ.ง.ด.1 คือ แบบภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ของผู้มีเงินได้ ประเภท 40(1) 40(2) ยื่นรายเดือน หรือเมื่อลูกน้องมีเงินได้ถึงฐานที่ต้องชำระภาษี ดังนั้น ถ้ามีลูกน้องแต่ว่าฐานเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์หัก ณ ที่จ่าย ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น ภ.ง.ด. 1 รายเดือนค่ะ
ส่วน ภ.ง.ด.1ก คือ แบบภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายของผู้มีเงินได้ ประเภท 40(1) 40(2) เช่นกัน แต่ต้องยื่นรายปี และสรุปยอดรวมเงินได้ และภาษีที่นำส่งทั้งหมดทุกคนในบริษัทที่มีเงินได้ด้วยค่ะ ไม่สนใจว่าพวกเค้าจะมีฐานเงินได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือไม่

เตรียมตัวก่อนยื่น ภ.ง.ด.1ก
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า ภ.ง.ด.1ก คืออะไร สรุปรวมเงินได้ทั้งปีของลูกจ้างทุกคนยื่นให้กับสรรพากรนั่นเอง ถัดมาเราไปดูกันว่าถ้าจะยื่นแบบปีนี้ ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
รู้จักเอกสารและข้อมูลที่ต้องเตรียม
- Payroll Report สรุปรวมรายปี
รายงานเงินเดือนจะมีข้อมูลพนักงานที่ได้รับเงินเดือน และเงินได้ทุกคน รายงานนี้จะช่วยให้เราไม่ลืมยื่นพนักงานที่มีเงินได้ แต่ไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ชำระไว้ค่ะ
ตอนดึงข้อมูลออกมา เราจะดึงข้อมูลสรุปเป็นรายปี และในนั้นจะมีรายละเอียดชื่อ สกุล เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่พนักงาน เงินได้ และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายค่ะ
- ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
ใบรับรองการหัก ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ ช่วยให้เราเช็คว่า พนักงานที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเราได้หักไปจริงๆ เท่าไหร่แล้ว ก็สามารถไปเช็คใบ 50 ทวิได้อีกช่องทางนึง และผลรวมของเอกสาร 50 ทวิ ต้องตรงกับรายงานเงินเดือนด้วยนะ (Payroll Report)
สรุปวิธีกรอก ภ.ง.ด.1ก และยื่นช่องทางไหนได้บ้าง?
การยื่นภ.ง.ด.1ก ก็เหมือนแบบยื่นภาษีทั่วไปเลยค่ะ สามารถยื่นได้ 2 ช่องทาง คือ ทางออนไลน์ และยื่นแบบกระดาษด้วยตนเอง
สำหรับยุคนี้ ทุกท่านคงหักมายื่นแบบออนไลน์กันน่าจะเกือบ 100% แล้ว CPD Academy จะมาสอนขั้นตอนการยื่นและกรอกข้อมูลกันค่ะ
วิธีการยื่นผ่านระบบออนไลน์
อันดับแรกให้ทุกท่านเข้าสู่ระบบ RD E-Filing ของกิจการของท่านเองก่อนเลยค่ะ
ขั้นตอนการกรอกข้อมูลใน แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.1ก
ขั้นตอนของการกรอกข้อมูล
- ขั้นตอนที่ 1 เลือกแบบภาษี ภ.ง.ด.1ก

- ขั้นตอนที่ 2 เลือกปีภาษี ที่ต้องการยื่นแบบให้ถูกต้อง

- ขั้นตอนที่ 3 เลือกเพิ่มข้อมูลของผู้มีเงินได้ให้ครบถ้วนตามจำนวนคนในกิจการค่ะ

- ขั้นตอนที่ 4 เลือกประเภทเงินได้ของแต่ละคนให้ถูกต้อง

- ขั้นตอนที่ 5 กรอกข้อมูลพนักงานให้ถูกต้องครบถ้วนตามจำนวนพนักงาน

- ขั้นตอนที่ 6 เพิ่มข้อมูลพนักงานให้ครบ

- ขั้นตอนที่ 7 ข้อมูลจะแสดงเงินได้ทุกคน และภาษีที่นำส่งไปทั้งสิ้นเท่าไหร่
ให้ตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่

- ขั้นตอนที่ 8 เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว กด ตกลงยื่นแบบ เป็นอันสำเร็จ

การตรวจสอบความถูกต้องก่อนยื่นภ.ง.ด.1ก
ในขั้นตอนที่ 7 จะเห็นได้ว่า ในหน้าแบบฟอร์มของการยื่นภาษีเราต้องตรวจสอบ 2 จุด ดังนี้

1. การตรวจสอบตัวเลขเงินได้และภาษีของพนักงาน
ต้องตรวจสอบเลขที่ประจำตัวประชาชน ชื่อผู้มีเงินได้ และจำนวนเงินได้ทั้งปีให้ถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบได้กับสรุปรายงานเงินเดือนทั้งปีของพนักงาน หรือใบ 50 ทวิของพนักงานก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยื่นภาษีให้พนักงานผิดพลาด เพราะว่าข้อมูลส่วนนี้ตัวพนักงานเอง ก็ต้องรายงานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่สรรพากรเช่นกัน หากข้อมูลไม่ตรงกัน อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขภายหลังได้
2. การตรวจสอบภาษีของพนักงาน
สำหรับยอดภาษีที่นำส่งทั้งสิ้น โดยภาพรวมเราสามารถตรวจสอบได้กับใบเสร็จรับเงิน ของ ภ.ง.ด.1 ทั้ง 12 เดือนได้
หรือว่าตรวจสอบกับไฟล์สรุปรายงานเงินเดือนทั้งปีของพนักงานก็ได้เช่นเดียวกัน
เดดไลน์ยื่น ภ.ง.ด.1ก ภายในเมื่อไร?
ภ.ง.ด.1ก เป็นภาษีที่เราไม่ได้ยื่นบ่อยมากนัก นักบัญชีหลายๆท่านอาจลืมได้ เราจะพาไปดูกันว่า ภ.ง.ด.1ก ต้องยื่นเมื่อไหร่กันนะ

กำหนดการยื่น ภ.ง.ด.1ก ประจำปี
ยื่นแบบกระดาษ ต้องยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
ยื่นแบบออนไลน์ ยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปเช่นกัน แต่สามารถขยายวันเพิ่มได้อีก 8 วัน
ยกตัวอย่าง
บริษัท A จำกัด ต้องการยื่นภ.ง.ด.1ก ของปี 25×1 หากตัดสินใจ ยื่นแบบกระดาษ จะต้องยื่นภายใน 28 กุมภาพันธ์ 25×2
ยื่นแบบออนไลน์ จะต้องยื่นภายใน 8 มีนาคม 25×2 นั่นเองค่า
สำหรับเดดไลน์การยื่นภาษียังมีภาษีประเภทอื่นๆที่ต้องยื่นอีกมากมาย ลองดูสรุปเพิ่มเติมได้ที่นี่นะคะ สรุป timeline บริษัท ต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง ปีละกี่ครั้ง
บทสรุป
จากบทความนี้คิดว่าเพื่อนๆ น่าจะเข้าใจแล้วว่า ภ.ง.ด.1ก คืออะไร ยื่นแบบไหน และต้องเช็กอะไรบ้าง
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าการยื่นภ.ง.ด.1ก จะเป็นแบบภาษีที่เราต้องยื่นปีละครั้งเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าการที่เราทำรายงานเงินเดือนไว้ดีๆ และคอยเก็บข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ในแต่ละเดือนอย่างสม่ำเสมอ พอถึงรอบในการยื่น ภ.ง.ด.1ก ประจำปี จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆเลยค่ะ
และสำหรับนักบัญชีคนไหนที่อยากเข้าใจภาษีและบัญชีมากขึ้น อบรม CPD ออนไลน์ เก็บชั่วโมงกับเราได้ที่ www.cpdacademy.co ทุกคอร์สได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชีจ้า
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy