เมื่อธุรกิจจด VAT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การออกเอกสารใบกำกับภาษีคิด VAT 7% และเมื่อซื้อของก็ต้องเรียก ใบกำกับภาษีซื้อจากซัพพลายเออร์ด้วย
แต่รู้ไหมคะว่า เรื่องที่นักบัญชีและเจ้าของธุรกิจงงที่สุดเรื่องนึง คงหนีไม่พ้นการถอดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ว่าจริงๆ แล้วมูลค่าสินค้าบริการเป็นเท่าไรกันแน่ และภาษีมูลค่าเหลือเท่าไร มิหนำซ้ำ ถ้าเป็นธุรกิจบริการต้องหัก ณ ที่จ่าย แล้วจะถอด VAT อย่างไร ในวันนี้ถ้าเพื่อนๆ กำลังเจอปัญหานี้อยู่ละก็ มาทำความเข้าใจเรื่อง ถอด Vat ทำอย่างไร ด้วยสูตรคำนวณแบบง่ายๆ ดูค่ะ
ทำความเข้าใจเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่มกันก่อน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax (VAT) คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่อยู่ทุกการจับจ่ายซื้อขายทั้งสินค้าและบริการของทุกคน โดยถือเป็นภาษีทางอ้อม เพราะผู้ประกอบการ (ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะบวก Vat ไปในราคาสินค้า/บริการ ทำให้คนที่ชำระภาษีจริงๆ คือ ลูกค้า จากนั้นผู้ประกอบการก็จะเอา VAT ตรงนี้ไปส่งสรรพากรให้
ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 7% ค่ะ
สมมติ ธุรกิจขายเครื่องดื่ม มีราคาขาย 100 บาท เมื่อรวม Vat 7% เข้าไป ราคาขายรวม Vat จึงเท่ากับ ราคา 107 บาท หากซื้อสินค้าแล้วขอใบกำกับภาษีจะเห็น VAT ส่วนนี้ชัดเจน
สิ่งที่ฝ่ายบัญชี ควรเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ธุรกิจที่จด VAT ต้องส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากร ด้วยสูตร ‘ภาษีขาย’ ลบ ‘ภาษีซื้อ’
ภาษีขาย คือ VAT ที่กิจการเรียกเก็บจากลูกค้า
ส่วนภาษีซื้อ คือ VAT ที่กิจการจ่ายให้ Supplier
กิจการมีทั้งรายการขายและซื้อสินค้า ทำให้เดือนๆ นึง เกิดทั้งภาษีขาย และภาษีซื้อ
เวลานำส่งสรรพากร ก็ต้องมาคำนวณตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิ ตามตัวอย่างนี้
กรณีภาษีขาย มากกว่า ภาษีซื้อ
สมมติ มีภาษีขาย 10,000 บาท มีภาษีซื้อ 9,000 บาท
ได้สมการ 10,000 – 9,000 = 1,000
ฉะนั้น กิจการต้องส่ง Vat จำนวน 1,000 บาท
กรณีภาษีขาย น้อยกว่า ภาษีซื้อ
สมมติ มีภาษีขาย 10,000 บาท มีภาษีซื้อ 12,000 บาท
ได้สมการ 10,000 – 12,000 = -2,000
ฉะนั้น กิจการไม่ต้องจ่าย VAT ในเดือนนี้ แต่สามารถขอเงินส่วนนี้คืน หรือยกยอดไปหักลบเดือนหน้าก็ได้
VAT อยู่ตรงไหนในใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง หัวเอกสารต้องระบุคำว่า “ใบกำกับภาษี”
จากตัวอย่างใบกำกับภาษี จะเห็นว่ามีการแสดงยอดเงินสรุปอยู่ 3 ส่วน ดังนี้
- รวมเป็นเงิน ช่องนี้คือ รวมราคาสินค้าทั้งหมด เห็นได้ว่าในตัวอย่าง ราคา 8,000.00 บาท มาจาก การรวมราคาชุดว่ายน้ำเด็ก 6,000.00 บาท กับของเล่นเด็ก 2,000.00 บาท
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในตัวอย่าง คือ 560.00 บาท
- จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ในตัวอย่าง คือ 8,560.00 บาท
ใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง จะต้องแสดงยอด VAT อย่างชัดเจน แบบไม่มีกั๊กเด็ดขาด
ราคาก่อน Vat กับ ราคาหลัง Vat คืออะไร?
Vat คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้น 2 คำ จึงหมายความว่า
ราคาก่อน Vat หมายถึง ราคาสินค้าและบริการ ก่อนจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไป จากตัวอย่างข้างบน ราคาก่อน VAT คือ 8,000 บาท
ราคาหลัง Vat หมายถึง ราคาสินค้าและบริการที่บวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปแล้ว จากตัวอย่างข้างบน ราคาหลัง VAT คือ 8,560 บาท
ทำไมต้องรู้ราคาก่อน Vat กับ ราคาหลัง Vat
เนื่องจากเวลายื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือกรอกแบบ ภ.พ.30 กับสรรพากร เราต้องกรอกราคาก่อน Vat แล้วหายอดภาษีออกมา ขืนเผลอใส่ราคาหลัง Vat เข้าไป ก็เท่ากับยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน ส่งภาษีขายเกินไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าส่งภาษีซื้อเกิน อาจถูกปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปได้
ถอด Vat ใช้สูตรอะไร?
ก่อนเข้าสูตรถอดVat เรามาทบทวนโครงสร้างกันก่อนดีกว่า
ภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดที่ 7% ฉะนั้นหากสินค้าราคาขาย 100 บาท ก็ต้องเพิ่ม Vat เข้าไปอีก 7 บาท จึงได้ราคาขายรวม Vat เป็น 107 บาท
ได้โครงสร้างดังนี้
ราคาขาย = 100%
Vat = 7%
ราคาขายรวม Vat = 107%
สามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์การถอด Vat ได้ดังนี้
จากราคาซื้อสินค้าตามใบกำกับภาษีในตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า…
มีราคาก่อน Vat ที่ 8,000 บาท
ส่วนราคาหลัง Vat อยู่ที่ = 8,000*1.07 = 8,560 บาท
และ Vat คือ =8,000*0.07 = 560 บาท
จากตัวอย่าง ถ้าเรารู้เฉพาะราคาสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (ใบกำกับภาษีอย่างย่อแสดงเฉพาะยอดรวม Vat) อยากหาราคาก่อน Vat
ใช้สูตรถอด VAT นี้ แอดมินว่า ไวกว่าเยอะ ถ้ารู้ ราคารวม VAT = 8,560 บาท ให้หารด้วย 1.07 จะได้ ราคาก่อน VAT = 8,560/1.07 = 8,000 บาท ถ้ารู้ ราคา VAT = 560 บาท ให้หารด้วย 0.07 จะได้ ราคาก่อน VAT = 560/0.07 = 8,000 บาท |
ถ้ามี VAT และหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ต้องคำนวณอย่างไร
กรณีที่ธุรกิจไปรับงานมา แล้วคู่ค้าหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย เมื่อต้องส่ง Vat ผู้มีหน้าที่ทำบัญชีไม่ต้องกุมขมับ เพราะให้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดก่อนหักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเอง
แอดมินมักใช้เทคนิคคำนวณง่ายๆ แบบนี้ ถ้ารู้ ราคารวม VAT หลังหัก ณ ที่จ่าย 3% = 8,320 บาท ให้หารด้วย 1.04 จะได้ ราคาก่อน VAT = 8,320/1.04 = 8,000 บาท ถ้ารู้ ราคารวม VAT = 8,560 บาท อยากรู้ว่าหัก ณ ที่จ่ายเท่าไร ให้หารด้วย 1.07 แล้วคูณด้วย 0.03 จะได้ มูลค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย WHT = 8,560*0.03/1.07 = 320 บาท |
สิ่งที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือ เราต้องรู้ก่อนว่ากิจการต้องหัก ณ ที่จ่ายที่อัตราเท่าไรกันแน่! แล้วประยุกต์ในสูตรได้เลย
มาลองทดสอบสูตรง่ายๆ จากตัวอย่างเอกสารใบกำกับภาษีกันดูค่ะ
ถ้ารู้ ราคารวม VAT หลังหัก ณ ที่จ่าย 3% = 2,371,200 บาท ให้หารด้วย 1.04 จะได้ ราคาก่อน VAT = 2,371,200/1.04 = 2,280,000 บาท
ถ้ารู้ ราคารวม VAT = 2,439,600 บาท อยากรู้ว่าหัก ณ ที่จ่ายเท่าไร ให้หารด้วย 1.07 แล้วคูณด้วย 0.03 จะได้ มูลค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย WHT = (2,439,600/1.07)*0.03 = 68,400 บาท
พอเราลองเข้าสูตร และดูตามเอกสารตัวอย่างไปด้วยจะเห็นว่า ตัวเลขที่คำนวณได้
หาราคาก่อน VAT = 2,280,000 และ หาจำนวนเงินที่ต้อง หัก ณ ที่จ่าย = 68,400 บาท ถูกต้องตรงตามเอกสารเลยค่ะ
เรื่องต้องเช็คก่อนถอด VAT
ผู้มีหน้าที่ส่ง Vat คือ สถานประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะนำเงินส่งภาษีได้ต้องมีใบกำกับภาษี ซึ่งใบกำกับภาษี มีทั้งเต็มรูป และอย่างย่อ โดย…
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป แยกราคาก่อนและหลัง Vat รวมทั้งราคาภาษีมูลค่าเพิ่มมาให้ชัดเจน จึงไม่จำเป็นต้องทำการถอดเอง
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ชนิดนี้จะไม่แจกแจง VAT แบบฉบับเต็มรูป แต่จะระบุไว้เพียงว่า ราคาได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
จากประเภทใบกำกับภาษี หากได้รับฉบับอย่างย่อมา ก็เป็นหน้าที่ฝ่ายบัญชีที่ต้องถอด Vat ก่อนเสมอ ทั้งนี้การออกใบกำกับภาษีได้ต้องเป็นผู้ประกอบการ Vat ฉะนั้นสิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนคือ
- ผู้ออกใบกำกับภาษีสามารถออก Vat ได้หรือไม่
- เมื่อถอด Vat แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องด้วยการใส่ Vat กลับเข้าไปเสมอ เพราะอย่าลืมว่าการส่งภาษีมูลค่าเพิ่มผิด มีค่าปรับ
บทสรุป
การถอด Vat ดูเหมือนไม่จำเป็น เนื่องจากใบกำกับภาษีส่วนมากแยกมาให้อยู่แล้ว แต่ใบกำกับภาษีมีทั้งแบบเต็มรูป และอย่างย่อ หากเจอแบบย่อเขาไม่ได้แยกมาให้เรา ฉะนั้นการรู้สูตรจึงเป็นเรื่องง่ายต่อการทำงาน
และบางทีนักบัญชีเห็นแค่ตัวเลขจำนวนเงินเข้าออกธนาคาร แต่ไม่เห็นเอกสาร ดังนั้น การถอด Vat จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราวิเคราะห์รายการและบันทึกบัญชีอย่างถูกต้องค่ะ
ถ้าคำนวณเป็นแล้วรับรองว่าได้ใช้กับการทำงานยาวๆ เลยนะคะ (ถ้าไม่ลาออก หรือเกษียณอายุเสียก่อน ฮ่าๆๆ)
สำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม มากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งระบบ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy