คำพูดที่ว่า Cash is King เป็นคำพูดที่จริงและเป็นที่ยอมรับเสมอ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เพราะธุรกิจมีกำไรอย่างเดียวคงไม่ดีนัก ถ้าสร้างเงินสดกลับมาไม่ได้
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสดเป็นเครื่องมือในการตรวจสุขภาพงบการเงินวิธีหนึ่งที่นิยมทำกัน นอกเหนือเสียจากการวิเคราะห์กำไรขาดทุน และงบแสดงฐานะการเงิน เนื่องจากการวิเคราะห์เงินสดจะช่วยให้เรารู้ว่ากิจการมีเงินเข้า-เงินออกจากแหล่งใดเป็นหลัก ซึ่งการวิเคราะห์เงินสดนั้นมีเอกลักษณ์และวิธีการวิเคราะห์ที่แตกต่างไปจากงบอื่นๆ
ลองมาดูตัวอย่างขั้นตอนในการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดให้ทะลุปรุโปร่งกันค่ะว่ามีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง
วิเคราะห์งบกระแสเงินสดคืออะไร?
การวิเคราะห์กระแสเงินสด (Cash Flow Analysis) เป็นการวิเคราะห์เฉพาะเงินสดเข้า-ออกของกิจการ (สนใจเฉพาะเงินสดเท่านั้น) ว่ามีแหล่งที่มาจากไหน และจ่ายเงินสดออกไปไหนบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น
เงินสดต้นงวด 200 บาท เงินสดปลายงวด 300 บาท
ส่วนต่าง 100 บาทที่เกิดขึ้นจากอะไร? งบกระแสเงินสดจะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ ซึ่งถ้าอยากเข้าใจมากขึ้นก็ต้องเจาะลึกลงไปวิเคราะห์งบกระแสเงินสดอีกต่อหนึ่ง
ขั้นตอนวิเคราะห์กระแสเงินสด
1. เข้าใจกิจกรรมเกี่ยวกับเงินสดทั้ง 3 กิจกรรม
ในงบกระแสเงินสด จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 กิจกรรม ได้แก่
- กิจกรรมดำเนินงาน หรือ Cash Flow from Operating (CFO) คือ เงินสดเข้า-ออกจากการดำเนินงานหลัก เช่น ซื้อขายสินค้า จ่ายเงินเดือนพนักงาน
- กิจกรรมลงทุน หรือ Cash Flow from Investment (CFI) คือ เงินสดเข้า-ออกจากการลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
- กิจกรรมจัดหาเงิน หรือ Cash Flow from Financing (CFF) คือ เงินสดเข้า-ออกจากการจัดหาเงิน เช่น กู้ยืมเงิน จ่ายชำระดอกเบี้ย หรือชำระเงินกู้
และโดยปกติแล้ว ธุรกิจทั่วไปมักต้องการมีเงินสดเข้ามามากๆ จากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) ส่วนกิจกรรมการลงทุน (CFI) และกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF) นั้นจะเป็นบวกหรือลบก็ขึ้นอยู่กับจังหวะของแต่ละธุรกิจ
ถ้าเราเข้าใจทั้ง 3 กิจกรรมในงบกระแสเงินสดแล้ว เราก็จะสามารถวิเคราะห์เงินสดเข้า-ออกในแต่ละหมวดได้ดียิ่งขึ้น
2. วิเคราะห์กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO)
เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน ส่วนมากมีที่มาที่ไปจากการประกอบธุรกิจหลัก เช่น การขายของ ซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าแรงคนงาน จ่ายค่าเช่าร้านค้า ซึ่งถ้าเราคิดง่ายๆ ใครๆ ก็อยากมีเงินเข้ามากกว่าเงินออกสำหรับกิจกรรมนี้อยู่แล้วใช่ไหมคะ
กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานเสมือนเป็นกำไรในเกณฑ์เงินสดของกิจการ ซึ่งแตกต่างจากกำไรในเกณฑ์คงค้างที่แสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุน
สิ่งที่เราควรวิเคราะห์ในกิจกรรมนี้ก็คือ ธุรกิจมีกำไรในงบกำไรขาดทุนแล้ว มีเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) เข้าได้ดีขนาดไหน
สาเหตุหลักๆ ของความแตกต่างระหว่างกำไรในงบกำไรขาดทุนกับกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) เกิดจาก
- รายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย รายการพวกนี้ทำให้กำไรในเกณ์คงค้างน้อยลงจากเกณฑ์เงินสด
- เงินทุนหมุนเวียน หรือ การเปลี่ยนแปลงไปของสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเราขายสินค้าแบบเงินเชื่อ ณ วันที่ขายได้เรามีกำไรในงบกำไรขาดทุนแล้ว แต่ว่าเงินสดยังไม่เข้ามาในงบกระแสเงินสดจนกว่าจะถึงกำหนดตาม Credit term
การเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน อย่างเช่น สินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนนั้นมีผลกระทบกับเงินสดด้วยกันทั้งสิ้น โดยเราสรุปให้เพื่อนๆ เห็นภาพง่ายๆ ตามนี้
ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจหลักการแล้ว เราก็ต้องเอาไปคิดกันต่อค่ะ ว่าจากเหตุการณ์ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้มันมีผลกระทบทำให้กิจการได้รับเงินสดช้าหรือเร็วอย่างไร และมันเหมาะสมแล้วหรือไม่
3. วิเคราะห์กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (CFI)
กิจกรรมถัดมาเกี่ยวข้องกับการลงทุน ถ้าเพื่อนๆ ลองจินตนาการไปพร้อมๆ กันว่าในธุรกิจต้องใช้เงินลงทุนด้านใดบ้าง ส่วนใหญ่แล้วน่าจะตอบได้ว่า เงินลงทุนนั้นเรามักเอาไปลงกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอย่างที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เช่น ซื้อที่ดินเพิ่ม สร้างโรงงานเพิ่ม ลงทุนในบริษัทย่อยเพิ่ม
ถ้าเราวิเคราะห์ในจังหวะที่เริ่มต้นของธุรกิจเงินสดจากกิจกรรม CFI น่าจะติดลบแน่นอนอยู่แล้วค่ะ แต่ว่าการติดลบของเงินสดในกิจกรรมนี้อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไปถ้าเราสามารถสร้างรายได้กลับเข้ามาในธุรกิจได้จากการดำเนินงาน CFO
4. วิเคราะห์กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF)
กิจกรรมการจัดหาเงินเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับธุรกิจมาตลอด โดยปกติแล้วธุรกิจสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนได้จาก 2 แหล่ง คือ กู้ยืมเงิน และเพิ่มทุนจากส่วนของเจ้าของ
ธุรกิจที่กิจกรรมจัดหาเงินเป็นบวก อาจเกิดจากการรับเงินกู้มาเพิ่ม หรือว่ามีการเพิ่มทุน แต่หลังจากนั้นกิจการก็ต้องจ่ายชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย และจ่ายปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นค่ะ
ถ้าเราเช็คองค์ประกอบในงบกระแสเงินสดแล้ว เราก็จะรู้ว่ามีการรับ-จ่ายเงินในกิจกรรมนี้เท่าไรกันแน่ และที่สำคัญเงินได้จาก CFO ต้องมีเพียงพอที่จะจ่ายชำระดอกเบี้ย เงินกู้ และปันผลในอนาคต
สรุปการวิเคราะห์กระแสเงินสด
ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนการวิเคราะห์งบกระแสเงินสดอย่างง่าย 4 ขั้นตอนที่นักบัญชีควรทำความเข้าใจค่ะ ว่าเงินสดในธุรกิจนั้นเข้า-ออกมาจากกิจกรรมอะไรกันแน่ และในแต่ละกิจกรรมมีเหตุการณ์อะไรสำคัญเกิดขึ้นหรือเปล่า
3 เรื่องหลักๆ ที่อยากให้ทุกคนนำไปคิดวิเคราะห์กันต่อ ก็คือ
- กิจกรรมดำเนินงาน (CFO) ควรมีเงินสดเป็นบวกเสมอ และยิ่งเยอะก็ยิ่งดี
- กิจกรรมลงทุน (CFI) มีเงินสดติดลบได้ เพราะเกิดจากการลงทุน แต่ต้องมีแผนงานสำหรับอนาคต ยิ่งลงทุนได้ดี ก็จะนำเงินสดให้เข้ามาในกิจกรรม CFO ได้มากขึ้น
- กิจกรรมจัดหาเงิน (CFF) จัดหาเงินมาแล้วจากการกู้ก็ต้องคิดต่อเรื่องการจ่ายเงินคืน และถ้ามาจากผู้ถือหุ้นก็จะต้องจ่ายเงินปันผลด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การวิเคราะห์งบการเงินอาจจะไม่ได้หยุดอยู่ที่การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรเท่านั้น แต่ว่านักบัญชีต้องเจาะลึกไปอีกว่าวิเคราะห์กำไรได้แล้ว มันผันมาเป็นเงินสดได้จริงไหมด้วยนะคะ
สนใจเรียนรู้วิธีการจัดทำกระแสเงินสดเพิ่มเติมได้ที่ คอร์สวิธีจัดทำงบกระแสเงินสด Step-by-Step
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy