ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือว่าเป็นนักบัญชี เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่างก็มีความสงสัยในหลายๆ เรื่องว่าสิ่งที่เราเข้าใจมันผิดหรือถูกต้องอย่างไร ทุกวันนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับ VAT ของเราถูกต้องหรือไม่ CPD Academy รวบรวม Q&A คำถาม-คำตอบที่พบบ่อยๆ มาให้ทุกคนแล้วค่ะ
Q1 : ทำไมจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกหรือ?
A1 : คำถามนี้ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจากเจ้าของธุรกิจค่ะ เพราะนักบัญชีส่วนใหญ่ก็จะรู้แล้วว่า วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บของภาษี 2 ชนิดนี้ มีวัตถุประสงค์คนละอย่างกันค่ะ
VAT เป็นการจัดเก็บภาษีในด้านของการบริโภค ที่ภาระภาษีจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคคนสุดท้าย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการจัดเก็บภาษีในด้านของผลการดำเนินงานของกิจการบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนค่ะ
ทั้งวัตถุประสงค์และการคำนวณ สองอย่างนี้เลยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยค่ะ ดังนั้นภาษีทั้งสองอย่างนี้ ไม่ได้เป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใดค่ะ
ภาษี | ชนิด | ภาระภาษี |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | ภาษีทางอ้อม | ผู้บริโภค |
ภาษีเงินได้นิติบุคคล | ภาษีทางตรง | นิติบุคคล |
Q2 : เมื่อไหร่ที่ควรจดทะเบียน VAT ?
A2 : สิ่งที่ต้องพิจารณาหลักๆเลยก็คือ
1. ประเภทของกิจการ
เมื่อไม่เป็นกิจการได้รับการยกเว้น อย่างเช่น การขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน แบบนี้ต้องจดทะเบียน VAT ทันทีเมื่อรายได้ต่อปีถึง 1.8 ล้านบาทค่ะ
2. รายรับของกิจการ
ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องรีบดำเนินการในการขอจดทะเบียน VAT ภายใน 30 วัน และเริ่มเสียภาษีสำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาทเป็นต้นไป แต่ถ้าหากกิจการสามารถประมาณการรายได้ว่า ต้องถึงแน่ๆ 1.8 ล้านบาท กิจการก็สามารถที่จะเลือกจดทะเบียน VAT ได้เช่นกันค่ะ
Q3 : การจด VAT ทำให้ต้นทุนของกิจการเพิ่มขึ้นหรือไม่?
A3 : ประเด็นหลักสำคัญของเรื่องนี้ คือ ต้องทำความเข้าใจว่า จริงๆแล้ว VAT คือภาษีที่จะไปตกอยู่กับผู้บริโภคคนสุดท้ายของการบริโภคสินค้า เพราะ กิจการที่ดำเนินธุรกิจ ต้องนำ ภาษีขาย ที่เรียกเก็บจากลูกค้า มาหักกับ ภาษีซื้อ ที่กิจการได้จ่ายเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อประกอบกิจการ เมื่อนำมาหักกลบกันแล้ว หาก ภาษีขายมากกว่าภาษี = นำส่งภาษีให้กรมสรรพากร แต่ถ้าหาก ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ก็สามารถขอคืนหรือว่าเก็บไว้เป็นเครดิตเพื่อใช้เครดิตยอดภาษีเดือนหน้าได้เช่นกัน แต่เห็นไหมคะ ว่าภาษีส่วนนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเพิ่มเองแต่อย่างใด แถมยังสามารถนำภาษีซื้อจากค่าใช้จ่าย มาใช้สิทธิได้อีกด้วย
เพราะฉะนั้น ภาษีขาย ไม่ใช่ รายได้ และ ภาษีซื้อ ก็ไม่ใช่ ต้นทุนค่ะ จึงตอบคำถามได้ว่า VAT ไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มค่ะ แต่ประเด็นอยู่ที่ตรง ถ้าจดทะเบียน VAT แล้ว จะตั้งราคาขายเท่าไหร่เพื่อที่จะรักษายอดขายไว้ให้ได้มากที่สุดค่ะ
Q4 : ใบกำกับภาษี ชื่อผิดสามารถ นำใบกำกับภาษี ถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
A4 : ใบกำกับภาษี ชื่อผิด แต่ไม่ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงความเข้าใจให้เข้าใจว่าเป็นผู้ประกอบการท่านอื่น ก็ยังถือว่า ไม่ทำให้ผู้รับเอกสารเข้าใจผิดก็ยังถือว่าใบกำกับภาษีนั้นใช้เคลมภาษีซื้อได้นะคะ
ทุกท่านก็ยังคงมีคำถามต่อใช่ไหมคะ ว่าถ้าหากอย่างอื่นผิดล่ะ เช่น การเว้นวรรค การแสดงเครื่องหมาย จุด หรือลูกน้ำ ในจุดแบบนี้ก็ถือเป็นจุดเล็กๆน้อยๆ ก็ยังไม่ถือว่าทำให้ผู้รับเอกสารเข้าใจผิดค่ะ
Q5 : ใบกำกับภาษีต้องระบุเลขที่ผู้เสียภาษีของผู้ซื้อ
เสมอไปไหม
ส่วนสำคัญของใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ส่วนหนึ่งก็คือ เลขที่ผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ ไม่จำเป็นต้องระบุเสมอไป ถ้าหากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการไม่ได้จด VAT หรือ ผู้ประกอบการจด VAT แต่ไม่ได้แจ้งเลขที่ผู้เสียภาษี
โดยผู้ขายสินค้าแจ้งอย่างทั่วถึงแล่วว่าสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบได้ ผู้ขายก็ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด
ส่วนในด้านของผู้ซื้อนั้น หากต้องการใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และข้อมูลสำคัญอื่นๆ ให้ผู้ขายทำการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้ได้ค่ะ
Q6 : Tax Invoice ไม่มีลายเซนต์ได้หรือเปล่า
ตาม ประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 86/4 รูปแบบของ Tax Invoice ที่สำคัญ ลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้นะคะ
ใบกำกับภาษีสำคัญยังไง 8 จุดต้องเช็ค ถ้าอยากทำให้ถูกต้อง ว่าจุดสำคัญที่กล่าวถึงนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
แต่ที่แน่ๆ ไม่มีการกล่าวถึง ลายเซนต์ เพราะฉะนั้น ถ้าในใบกำกับภาษีไม่มีลายเซนต์ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรค่ะ ในการนำใบกำกับภาษีนี้มาเคลม VAT ค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ คำถามยอดฮิตของประเด็น VAT ที่ควรรู้ จริงๆแล้วภาษีไม่ใช่เรื่องยากเลยนะคะ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภาษีแต่ละอย่างคืออะไร เรียกเก็บเพราะวัตถุประสงค์อะไร แล้วเราจะสามารถคำนวณได้ และวิเคราะห์ต่อได้ว่าควรจัดการอย่างไรกับภาษีแต่ละชนิดให้ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy