สำหรับนักบัญชีที่ทำบัญชีมาสักพัก น่าจะเจอปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำรายการภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนว่า ต้องมาคอยอธิบายเจ้าของธุรกิจว่า ทำไมค่าใช้จ่ายบางรายการถึงไม่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ นั่นเป็นเพราะว่า รายการนั้นอาจติดเงื่อนไขบางอย่างตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ค่ะ
แต่จะติดเงื่อนไขอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อธุรกิจแบบไหน บทความนี้จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ “ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ คืออะไร? จะมีปัญหากับธุรกิจไหม” กันค่ะ
ภาษีซื้อคืออะไร ?
ภาษีซื้อ (Input vat) หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เจ้าของธุรกิจซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกเรียกเก็บจากผู้ขายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหมือนกัน
เมื่อซื้อสินค้า หรือชำระค่าบริการเพื่อนำไปใช้ประกอบธุรกิจของตัวเอง โดย VAT 7% ที่เจ้าของธุรกิจได้จ่ายไปจะจ่ายรวมไปพร้อมกับมูลค่าสินค้า และ บริการค่ะ
ในขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจก็มีสิทธิ์ขอคืนภาษีซื้อที่ได้จ่ายให้กับผู้ประกอบการจด VAT เจ้าอื่น ๆ จากกรมสรรพากรได้ เพียงแค่ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ได้รับจากผู้ขายเป็นหลักฐาน และนำมาคำนวณหักจากภาษีขายในการยื่นแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ
แต่ก็ใช่ว่าภาษีซื้อทุก ๆ รายการจะสามารถขอคืน VAT ได้นะคะ วันนี้จะชวนเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจภาษีซื้อประเภทที่เรียกว่า “ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้” ค่ะ

ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ คืออะไร?
ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ หรือที่เข้าใจในอีกชื่อเรียกว่า “ภาษีซื้อต้องห้าม” คือ ภาษีซื้อที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขาย หรือขอคืนภาษีซื้อ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 จะมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
1. ไม่มีใบกำกับภาษีเป็นหลักฐาน
กรณีนี้ เจ้าของธุรกิจอาจไม่ได้รับใบกำกับภาษีมาจากผู้ขายสินค้า และ บริการที่จด VAT หรือใบกำกับภาษีนั้นระบุเป็นชื่อคนอื่น รวมไปถึงกรณีที่เจ้าของธุรกิจได้รับใบกำกับภาษีมาแล้ว แต่ดันทำหาย ไม่มีหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรด้วยเช่นกันค่ะ
2. มีใบกำกับภาษีที่ไม่อยู่ในรูปแบบที่กำหนด
ใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถใช้ขอคืนภาษีซื้อได้ จะเป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อ และมีข้อความระบุในเอกสารไม่ครบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะถือว่าภาษีซื้อในใบกำกับภาษีนั้นเป็นภาษีต้องห้ามทันทีค่ะ เพราะฉะนั้น เมื่อไปซื้อสินค้า และ บริการจากสถานประกอบการที่ไหน อย่าลืมขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปกลับมา และตรวจสอบเอกสารว่ามีข้อความครบถ้วนไหมให้เรียบร้อยด้วยนะคะ

3. ภาษีซื้อไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายนั้นมีใบกำกับภาษีในรูปแบบที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด แต่ถ้ารายการซื้อสินค้า และ บริการไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อหากำไรของเจ้าของธุรกิจ จะถือว่าเป็นภาษีขอคืนไม่ได้เช่นเดียวกันค่ะ
4. ภาษีซื้อที่มาจากค่าใช้จ่ายเพื่ออำนวยประโยชน์
ค่ารับรองลูกค้า หรืออำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมทั้งค่าสิ่งของต่าง ๆ ที่ให้แก่บุคคลที่ได้รับบริการ แบบนี้จะถือเป็นภาษีที่นำมาหักออกจากภาษีขาย หรือขอคืนไม่ได้เลยค่ะ
5. มีใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ออก
โดยผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี คือ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบนี้จะไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อจากกรมสรรพากรได้นะคะ เท่ากับว่าผู้ประกอบการเจ้านี้ออกใบกำกับภาษีปลอม ทั้งคนให้และคนรับมีสิทธิ์ติดคุกได้เลยค่ะ
6. ภาษีซื้อตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ภาษีซื้อต้องห้าม ที่กฎหมายไม่ยอมให้นำมาเครดิตภาษีซื้อเด็ดขาด จะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้
- รายการซื้อ เช่า เช่าซื้อรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
- รายการซื้อทรัพย์สินที่จะใช้ในธุรกิจแบบไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- รายการค่าใช้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้ในธุรกิจตัวเอง
- รายการค่าใช้จ่ายในใบกำกับภาษีที่ไม่ได้พิมพ์ หรือจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- รายการค่าใช้จ่ายในใบกำกับภาษีที่ไม่ได้จัดทำขึ้นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
- รายการค่าใช้จ่ายในใบกำกับภาษีที่เป็นสำเนา ไม่ใช่เอกสารตัวจริง
และรายการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ระบุในประมวลรัษฎากร โดยสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีซื้อต้องห้ามลักษณะนี้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้เลยค่ะ [คลิกที่นี่]
ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้บันทึกบัญชียังไง?
ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ คือ ค่าใช้จ่ายรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะนำมาเคลมภาษีซื้อตามกฎหมายไม่ได้ แต่ว่าก็ยังถือว่าเป็นรายจ่ายทางบัญชีของบริษัทอยู่ดีนะคะ ดังนั้น เวลาบันทึกบัญชีเราสามารถบันทึกภาษีต้องห้ามดังกล่าว รวมกับค่าสินค้า และบริการ หรือต้นทุนสินทรัพย์หนึ่งได้เลยค่ะ
ยกตัวอย่าง
บริษัท A ซื้อวัสดุสิ้นเปลือง 2,000 บาท และเสียค่า VAT 7% 140 บาท แต่ได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อกลับมา ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปถือเป็นภาษีที่ขอคืนไม่ได้ จึงบันทึกรวมในบัญชีอุปกรณ์ทำงาน แบบนี้
Dr. วัสดุสิ้นเปลือง (ค่าใช้จ่าย) | 2,140 |
Cr. เงินสด (สินทรัพย์) | 2,140 |
สำหรับรายการค่าใช้จ่ายที่มีภาษีซื้อขอคืนไม่ได้แล้ว ยังมีภาษีซื้ออีกประเภทหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจหลาย ๆ คนควรจะศึกษาเอาไว้นะคะ เพราะมีโอกาสที่จะพบเจอจริง ๆ ในอนาคตค่ะ นั่นก็คือ “ภาษีไม่ขอคืน” โดยจะอธิบายข้อมูลอย่างละเอียดไว้ในหัวข้อถัดไปนี้ค่ะ

ภาษีซื้อไม่ขอคืนคืออะไร
ภาษีซื้อไม่ขอคืน หมายถึง ภาษีซื้อของธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสิทธิ์ขอคืนจากกรมสรรพากร เช่น มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป แต่ไม่ได้ใช้สิทธิดำเนินการขอคืนภายใน 6 เดือน หรือเลือกไม่ใช้สิทธิ์ (เอ๊ะ ทำไมไม่อยากใช้สิทธิ์นะ ฮ่าๆ) จนไม่สามารถลงเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีเงินได้นิติบุคคล และกลายเป็นรายจ่ายต้องห้ามไปโดยปริยายนั่นเองค่ะ
ภาษีซื้อไม่ขอคืนบันทึกบัญชียังไง
เนื่องจากภาษีซื้อไม่ขอคืน ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามที่ไม่สามารถนำไปขอคืน หรือหักลบกับภาษีขายได้อีกต่อไป เพื่อให้การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลง่ายขึ้น แนะนำให้แยกรายการออกมาเป็นอีกบัญชีดีกว่าค่ะ
ยกตัวอย่าง
บริษัท A ซื้อคอร์สอบรมให้พนักงานมูลค่า 16,000 บาท และเสียค่า VAT 7% 1,120 บาท พร้อมได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปกลับมาด้วย แต่เมื่อผ่านไป 6 เดือน พนักงานดันลืมเอาเอกสารมาให้บัญชี เพื่อขอคืนภาษีซื้อกับกรมสรรพากร ทำให้ภาษีซื้อนั้นกลายเป็นรายจ่ายต้องห้าม นักบัญชีจึงต้องบันทึกบัญชีแบบนี้
Dr. ค่าบริการอบรม (ค่าใช้จ่าย) | 16,000 |
Dr. ภาษีซื้อไม่ขอคืน (ค่าใช้จ่ายต้องห้าม) | 1,120 |
Cr. เงินสด (สินทรัพย์) | 17,120 |

หลังจากที่เจ้าของธุรกิจได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีซื้อทั้งแบบขอคืนไม่ได้ และแบบไม่ขอคืนมาพอสมควรแล้วนั้น เวลาที่ไปซื้อสินค้า และ บริการกับสถานประกอบการ หลายคนอาจเจอกรณีต่าง ๆ ที่ทำให้ภาษีซื้อนั้นไม่สามารถใช้เครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเสียจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่แพงขึ้น ฉะนั้น มาทำความเข้าใจกับข้อควรระวังเกี่ยวกับภาษีซื้อกันค่ะ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับธุรกิจมีภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ และไม่ขอคืน
ปัญหาเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจที่มักจะพบบ่อยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ใบกำกับภาษี” โดยเฉพาะแบบเต็มรูปซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการขอคืนภาษี ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ขายจด VAT อาจหลีกเลี่ยงไม่ออกภาษี ทำมาแบบผิด ๆ ปลอมแปลงข้อมูล หรือให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ รวมทั้งตัวเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อเองนำใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องมายื่นด้วยค่ะ
เพราะฉะนั้น เพื่อให้การดำเนินการขอคืนภาษีเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีข้อระวังที่เจ้าของธุรกิจทุกคนควรรู้ไว้ เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
1. ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
- ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ โดยผู้ขายจะเก็บเอกสารต้นฉบับไว้เป็นหลักฐาน แล้วเอาสำเนาให้ผู้ซื้อ แบบนี้จะไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ ฉะนั้นผู้ซื้อต้องแจ้งให้ผู้ขายออกใบกำกับภาษีแยกออกจากเอกสารอื่น ๆ แล้วมอบต้นฉบับ พร้อมกับสำเนาเอกสารอื่น ๆ ให้กับผู้ซื้อ
- ออกเอกสารเป็นชุด โดยมีเอกสารอื่นแนบพร้อมกันด้วย ผู้ขายต้องระบุข้อความที่ไม่ใช่ใบกำกับภาษีว่า “ไม่ใช่ใบกำกับภาษี” หากเป็นสำเนาให้ระบุไว้ทุกแผ่นว่า “สำเนา” และเอกสารทุกใบต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด”
- ฝากขายสินค้า และ บริการ หากผู้ฝากขายจดทะเบียน VAT ให้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ฝากขาย
2. ยกเลิกใบกำกับภาษีใบเก่า แล้วออกใบใหม่
ใบกำกับภาษีนั้น ผู้ขายต้องนำมาประทับตรา “ยกเลิก” แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาฉบับเดิม จากนั้นออกใบกำกับภาษีใหม่ แต่ใช้วันที่ตามใบเดิม และเขียนหมายเหตุเอาไว้ด้วย ส่วนผู้ซื้อก็ถ่ายเอกสารฉบับเดิมที่ยกเลิกเก็บเอาไว้
3. ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ
ไม่ว่าจะเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยที่ไม่ได้ขายสินค้า และ บริการจริง การออกใบกำกับภาษีซ้ำ การออกใบกำกับภาษีโดยผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งคนที่กฎหมายห้ามไม่ให้ออกใบกำกับภาษี กรณีนี้ผู้ซื้อจะเอาไปขอคืนภาษีซื้อไม่ได้เลยค่ะ ต้องระวังกันนะคะ
4. ออกใบกำกับภาษีปลอม
การทำเอกสารปลอมทั้งฉบับ หรือทำเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง รวมทั้งการดัดแปลงเนื้อหาข้อความใด ๆ ประทับตราปลอม ลงชื่อปลอม และวิธีแบบไหนก็ตาม เข้าข่ายปลอมแปลงเอกสารทั้งสิ้นค่ะ นอกจากจะขอคืนภาษีซื้อ หรือนำไปคำนวณหักภาษีขายไม่ได้แล้ว ยังเสี่ยงต่อกฎหมายอาญาด้วยนะคะ
สรุป
จะเห็นได้ว่า ภาษีซื้อที่มาจากการซื้อสินค้า และ บริการจากผู้ประกอบการที่จด VAT ไม่ได้มีทุกรายการที่สามารถขอคืนภาษีซื้อตามกฎหมายได้ ซึ่งก็คือภาษีซื้อขอคืนไม่ได้ และภาษีไม่ขอคืน แต่ทั้งนี้ยังสามารถนำไปบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายหนึ่งของธุรกิจได้อยู่ค่ะ ดังนั้นสรุปได้ว่า ภาษีขอคืนไม่ได้จะไม่สร้างปัญหาให้กับธุรกิจมากนัก อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ไปซื้อสินค้า และ บริการเพื่อนำไปใช้ประกอบธุรกิจ อย่าลืมขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป พร้อมกับตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารตามที่กฎหมายกำหนดก่อนรับมาเก็บไว้ด้วยนะคะ
สำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำเลือกดูคอร์สเกี่ยวกับภาษีต่างๆได้ตามลิงค์นี้เลยค่ะ คอร์สภาษีแนะนำ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy