TFRS for NPAEs สรุปสิ่งที่นักบัญชีควรรู้มีอะไรบ้าง มาตรฐานรายงานทางการเงินนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบันสำหรับธุรกิจที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะซึ่งมีการอัปเดตจากชุดแรกที่ออกมาตั้งแต่ปี 2554 เป็น มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ปรับปรุง 2565) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 นั่นเอง
ทีนี้หลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่าเราในฐานะนักบัญชีเนี่ย จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานตัวนี้อย่างไรบ้าง วันนี้ CPD Academy ขออาสามาสรุปให้เพื่อนๆ ฟังไปทีละหัวข้อเลยค่ะ
TFRS for NPAEs สรุป 8 สิ่งที่นักบัญชีควรรู้
1. มาตรฐานการบัญชี กับ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ต่างกันอย่างไร?
เริ่มต้นทำความเข้าใจจากมาตรฐานสากลกันก่อนค่ะ เดิมทีเรามีมาตรฐานการบัญชีที่เรียกว่า IAS และเมื่อเวลาผ่านไปมาตรฐาน IAS จะถูกแทนที่ด้วย IFRS
IAS = International Accounting Standards
IFRS = International Financial Reporting Standards
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง IAS และ IFRS ก็คือ IAS เป็นมาตรฐานการบัญชีเวอร์ชันก่อนหน้า ในขณะที่ IFRS เป็นเวอร์ชันที่ทันสมัยกว่าและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก IFRS ให้ข้อกำหนดที่มีรายละเอียดมากขึ้นสำหรับการรายงานทางการเงิน และครอบคลุมประเด็นทางบัญชีในวงกว้างมากกว่า IAS
ดังนั้น สำหรับประเทศไทยเอง ที่เคยใช้ TAS (มาตรฐานการบัญชี) ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้ TFRS (มาตรฐานรายงานทางการเงิน) ที่มีความคลอบคลุมสำหรับรายงานทางการเงินมากกว่าค่ะ
แม้ว่า 2 มาตรฐานนั้นมีความแตกต่างกันอย่างที่อธิบายไป แต่ส่วนใหญ่แล้วนักบัญชีก็มักเรียกกันติดปากว่า มาตรฐานการบัญชี (เพราะไม่ชอบเรียกยาวๆ ว่ามาตรฐานรายงานทางการเงินนั่นเอง)
2. ธุรกิจไหนต้องใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs บ้าง?
ถ้าเราไปดูที่บทที่ 2 ขอบเขต ของมาตรฐานชุดนี้
กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Non-Publicly Accountable Entities) หมายถึง กิจการที่ไม่ใช่กิจการดังต่อไปนี้้
1. กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการ ซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชน
2. กิจการที่ดําเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัท ประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลาด สินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้้น เป็นต้น
3. บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วย บริษัทมหาชน
4. กิจการอื่นที่จะกำหนดเพิ่มเติม
กิจการเหล่านี้ครอบคลุมถึงผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 8 ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย
ต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร
กิจการบางกิจการไม่ได้ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้างแต่ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าให้ดูแลหรือจัดการทรัพยากรทางการเงินของลูกค้าโดยที่ลูกค้าหรือสมาชิก ไม่ได้เข้ามามีส่วนในการบริหารกิจการนั้น กิจการเหล่านี้ถือเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
ตัวอย่างเช่น ตัวแทนการท่องเที่ยว ตัวแทนหรือนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์โรงรับจำนำ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถานภาพเป็นบริษัทจำกัด เป็นต้น
3. หามาตรฐาน NPAEs ชุดจริงอ่านได้ที่ไหน?
มาตรฐาน TFRS for NPAEs ฉบับปี 2565 ที่เผยแพร่และมีผลบังคับใช้ตามราชกิจจานุเบกษานั้นสามารถไปกดอ่าน และดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซด์ของสภาวิชาชีพบัญชี หรือไปที่ลิงก์นี้เลย
วิธีสังเกตว่ามาตรฐานที่เราดาวน์โหลดมาเป็นชุดประกาศใช้จริงแล้ว ไม่ใช่ชุดร่าง หรืออยู่ระหว่างการพิจารณานั้น สังเกตที่หน้าแรกของมาตรฐานเลยค่ะ จะมีวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างชัดเจน

4. TFRS for NPAES มีตั้ง 28 บท ควรเริ่มโฟกัสเรื่องใดก่อน?
สำหรับคนที่ไม่มีเวลา ต้องใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs แล้ว ถ้าจะให้อ่านมาตรฐานทั้งหมด 28 บทก็คงจะไม่ทันการ เรามีเทคนิคส่วนตัวที่อยากแนะนำอย่างงี้ค่ะ ว่าลองเช็กว่ากิจการที่เรากำลังทำบัญชีนั้นมีรายการค้าเกี่ยวข้องกับบทไหนบ้าง แล้วลองไปเจาะลึกศึกษาในบทนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของเราค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป น่าจะมีรายการค้าเกี่ยวข้องกับบทเฉพาะเจาะจงดังต่อไปนี้
บท | เราละเอียด |
6 | เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด |
7 | ลูกหนี้ |
8 | สินค้า |
15 | ภาษีเงินได้ |
16 | ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น |
18 | รายได้ |
ส่วนบทที่ทุกธุรกิจควรมีความรู้เป็นพื้นฐาน ได้แก่
บท | เราละเอียด |
1 | ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ |
2 | ขอบเขต |
3 | กรอบแนวคิด |
4 | การนำเสนองบการเงิน |
5 | การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี และข้อผิดพลาด |


5. เรื่องสำคัญที่คนใช้มาตรฐานชุดนี้ต้องท่องไว้ในใจ?
1.มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ใครที่เคยใช้มาตรฐานชุดนี้ แล้วบอกว่ามีธุรกิจแปลกๆ แต่ไม่มี NPAEs รองรับ เลยต้องไปใช้มาตรฐานชุดใหญ่ซึ่งทำให้ยุ่งยาก อยากให้หยุดความคิดนี้ไว้ก่อน แล้วลองเช็กดูดีๆ ก่อน เพราะมาตรฐานที่ปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่องต่างๆ เข้ามาให้สมบูรณ์มากขึ้น สำหรับวิธีปฏิบัติทางบัญชี
ตัวอย่างเช่น เกษตรกรรม อนุพันธ์ การรวมธุรกิจ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล การสำรวจและประเมินค่าแหล่งทรัพยากรแร่ ข้อตกลงสัมปทานบริการ ธุรกรรมเหล่านี้มีไว้ให้แล้วใน TFRS for NPAEs นะจ๊ะ
2. คงความง่ายในทางปฏิบัติ
เนื่องด้วยผู้ใช้งบการเงินสำหรับกิจการไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะนั้นเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีคนเกี่ยวข้องมาก ดังนั้น มาตรฐานชุดนี้ก็จะปฏิบัติตามได้ง่ายกว่า TFRS for PAEs ค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ไม่ได้บังคับให้ทำงบกำไรขาดทุนสะสม แต่ TFRS for PAEs บังคับ
3. มีทางเลือก
มาตรฐานชุดนี้มีทางเลือกในการปฏิบัติให้สำหรับนักบัญชีและเจ้าของธุรกิจที่หลาย โดยไม่จำเป็นต้องไปใช้มาตรฐานชุดใหญ่อย่าง TFRS for PAEs โดยไม่จำเป็น
ยกตัวอย่างเช่น การจัดทางบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ การจัดทำงบการเงินรวม ทางเลือกในการกำหนดสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่ไม่ใช่สกุลเงินบาท เป็นต้น

6. TFRS for NPAEs อัปเดตปี 2566 ใครได้รับผลกระทบบ้าง?
สำหรับผลกระทบของการอัปเดต TFRS for NPAEs สรุปสั้นๆ ก็คือว่า แบ่งออกเป็น 3 พวกค่ะ
1.ไม่ได้รับผลกระทบ – เป็นส่วนใหญ่
2.มีผลกระทบเฉพาะกลุ่ม – เฉพาะธุรกิจที่มีธุรกรรมใน 6 บทใหม่
3. มีผลกระทบแน่นอน – น้อยมาก
แต่ในรายละเอียดเราแนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ที่เลย: TFRS for NPAEs ฉบับล่าสุด มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมบ้าง?
7. ถ้าอ่านมาตรฐานไม่เข้าใจ ทำยังไงดี?
ไม่ต้องกังวลใจ สำหรับคนที่อ่านมาตรฐานแล้วไม่ค่อยเข้าใจ ลองไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สภาวิชาชีพบัญชี เพราะว่าเค้ามีทั้งตัวอย่างประกอบ สรุปความแตกต่าง รวมไปถึงคลิปให้พวกเราเข้าไปเรียนรู้มากมายเลยค่ะ
ตัวอย่างประกอบความเข้าใจและเอกสารที่เกี่ยวข้อง | |||
1 | ตัวอย่างประกอบความเข้าใจ TFRS for NPAEs (ปรับปรุง 2565) | เผยแพร่ ณ วันที่ 20 ก.ย. 2566 | ดาวน์โหลด |
2 | สรุปความแตกต่างที่สำคัญของหลักการระหว่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ปรับปรุง 2565) (TFRS for NPAEs) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for PAEs) | 2 ต.ค. 2566 | ดาวน์โหลด |
การสัมมนา (ท่านสามารถคลิกชมได้ที่เมนูย่อย “Facebook Live & Clip” และเลือกหัวข้อสัมมนาที่ท่านสนใจ ซึ่งเรียงไว้ตามวันที่สัมมนา) | |||
1 | สัมมนาพิจารณ์ (ร่าง) TFRS for NPAEs ปรับปรุงเพื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมมากขึ้น | 27 เม.ย. 2565 | Facebook Live & Clip |
2 | การเสวนาการเตรียมความพร้อมกับ TFRS for NPAEs ปรับปรุง 2565 | 22 พ.ย. 2565 | Facebook Live & Clip |
3 | มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ปรับปรุง 2565) (TFRS for NPAEs) หมายเหตุ: เอกสารฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังจากการสัมมนา | 9 ธ.ค. 2565 | Facebook Live & Clip |

8. สรุปแล้ว รู้ TFRS for NPAEs มีประโยชน์ยังไงกับนักบัญชี?
มาตรฐานการบัญชี Npaes หรือชื่อเป็นทางการที่เราเรียกกันว่ามาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ แม้ว่าชื่อจะยาว และดูซับซ้อนเหลือเกินสำหรับนักบัญชีและเจ้าของธุรกิจ
แต่ถ้าลองอ่านดูดีๆ แล้วมาตรฐานชุดนี้มีประโยชน์มากๆ เพราะ
- ทำให้นักบัญชีมีหลักคิดในการทำงาน
- มีประโยชน์สำหรับการสมัครงาน เพราะนี่คือ พื้นฐานความรู้ด้านบัญชีการเงินที่สำคัญมากๆ
- กิจการส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานชุดนี้ เรียกได้ว่ามากกว่า 80% ในประเทศไทยเลยล่ะ
ดังนั้น การศึกษามาตรฐาน TFRS for NPAEs สรุปแล้วมีแต่ข้อดี และมีประโยชน์สำหรับคนทำงานในวิชาชีพบัญชีแน่นอนค่ะ
และสำหรับใครที่อ่านเองไม่เข้าใจ ใช้เวลานานเหลือเกิน แนะนำคอร์สอบรมนี้ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ: สรุปประเด็นสำคัญ TFRS for NPAEs (เริ่มใช้ 2566)