ใครเคยมีประสบการณ์โดนสรรพากรตรวจสอบบัญชีบ้างคะ หรือว่าใครที่กังวลอยู่ว่างบของเราจะโดนเรียกตรวจเมื่อไหร่นะ งบแบบเรานี้จะโดนรึป่าว หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า งบการเงิน ที่เราส่งพี่สรรพากรเค้าไปนั้น ทุกวันนี้เค้ามีเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์แอบมองงบการเงินของเราอยู่ว่ามีอะไรผิดปกติและมีสัญญาณการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ ถ้าหากมีเยอะๆ ก็อาจจะได้จดหมายตราครุฑจากทางสรรพากรให้เราตกใจก็เป็นไปได้ค่า
ทีนี้ ใครสงสัยบ้าง ว่าสรรพากรเค้าเลือกจากอะไร จับฉลากงบมาหรือป่าว หรือว่าสุ่มเลือกยังไง ทาง CPD Academy จะมาสรุปให้ฟังค่า
1. ระบบตรวจสอบของกรมสรรพากร
ตั้งแต่ปี 2560 ทางสรรพากรมีระบบตรวจสอบแบ่งเป็น 2 รูปแบบค่ะ
1.1 ตรวจสอบโดยใช้การวิเคราะห์
การตรวจสอบโดยใช้การวิเคราะห์ ในการตรวจสอบแบบนี้จะให้คะแนนในเรื่องของความเสี่ยงในการเสียภาษีอากรอาจไม่ถูกต้องค่ะ
1.2 การนำระบบ RBA (Risk Based Audit System)
ระบบ RBA คือ ระบบที่นำข้อมูล IT มาใช้ในการวิเคราะห์ภาษีของแต่ละธุรกิจ วิเคราะห์ความเสี่ยงจากข้อมูลภายในและภายนอกของกรมสรรพากร ซึ่งมีการแบ่งข้อมูลวิเคราะห์เป็น 4 กลุ่ม
2. 4 กลุ่มข้อมูลที่เสี่ยงโดนสรรพากรตรวจสอบบัญชี
ระบบ RBA (Risk Based Audit System) นำมาใช้วิเคราะห์
2.1 ข้อมูลการยื่นภาษี
ยกตัวอย่างเช่น การยื่นแบบภาษีตามปกติของกิจการเรา ภ.พ.30 เป็นต้น
2.2 ข้อมูลจากองค์กรภายนอกสรรพากร
ยกตัวอย่างเช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย(BOT) การไฟฟ้า การประปา เป็นต้น
2.3 ใช้ข้อมูลการเปรียบเทียบย้อนหลัง 3-5 ปี
การใช้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกในการเอามาเปรียบเทียบค่ะ ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า งบการเงินของเรานั่นเองค่ะ
2.4 ข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดเก็บภาษีตามระบบงานกรมสรรพากร
ยกตัวอย่างเช่น ระบบการกำกับดูแล ระบบการควบคุมการคืนภาษี เป็นต้น
3. เกณฑ์ที่นำมาใช้ประเมิน
เกณฑ์ที่จะถูกนำมาใช้ประเมินแบ่งเป็น 2 กลุ่มค่ะ
3.1 ความผิดปกติทั่วไป
- ผู้เสียภาษีหยุดยื่นแบบแสดงรายการภาษี
- ขาดทุนสุทธิติดต่อกัน 3 รอบระยะเวลา
- ขอคืน VAT ด้วยการขอเครดิตภาษีติดต่อกัน 6 เดือนสุดท้าย
3.2 ความผิดปกติเฉพาะกิจการ
ความผิดปกติเฉพาะกิจการจะใช้โครงสร้างของรายได้และค่าใช้จ่ายในการพิจารณา
- เปรียบเทียบต้นทุนและค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ
- เปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ
ยกตัวอย่างงบกำไรขาดทุน
ตัวอย่างของความผิดปกติทั่วไป
บริษัท ABC จำกัด เป็นกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เดือน 1-5 ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 มาตลอด แต่เดือน 6 เกิดมีพนักงานออก แล้วพนักงานใหม่ไม่ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือน 6 ให้ ซึ่งแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะมีหรือไม่มีรายการซื้อ ขาย ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการทุกเดือน ทำให้ได้รับการติดต่อจากกรมสรรพากร ถึงความผิดปกตินี้
วิธีการแก้ไข ก็ทำการยื่นแบบภาษีย้อนหลังให้ถูกต้องและเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ตามที่สรรพากรกำหนดค่ะ
ตัวอย่างของความผิดปกติเฉพาะกิจการ
เปรียบเทียบต้นทุนและค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ
งบกำไรขาดทุนของบริษัท ABC จำกัด
2565 | 2564 | |||
จำนวนเงิน (บาท) | จำนวนเงิน (บาท) | เปลี่ยนแปลง (บาท) | เปลี่ยนแปลง (%) | |
รายได้ | 120,000 | 100,000 | 20,000 | 20.00 |
รายได้อื่น | 5,000 | 4,500 | 500 | 11.11 |
รวมรายได้ | 125,000 | 104,500 | 20,500 | 19.62 |
ต้นทุนขาย | 96,000 | 80,000 | 16,000 | 20.00 |
ค่าใช้จ่ายในการขาย – ค่าส่งเสริมการขาย | 3,600 | 10,000 | (6,400) | (64.00) |
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร | 16,000 | 15,000 | 1,000 | 6.67 |
รวมค่าใช้จ่าย | 115,600 | 105,000 | 10,600 | 10.10 |
ต้นทุนทาง การเงิน | 400 | 500 | (100) | (20) |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ | 9,000 | (1,000) | 10,000 | 1,000 |
การเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการขาย-ค่าส่งเสริมการขาย ปี 2564 จำนวน 10,000 บาท และ ปี 2565 จำนวน 3,600 บาท ลดลงถึง 6,400 บาท คิดเป็น 64% ถือว่าลดลงอย่างผิดปกติ ทั้งๆ ที่รายได้จากการขาย ปี2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทำให้มีข้อบ่งชี้ว่า กิจการบันทึกค่าส่งเสริมการขายอาจจะไม่ครบถ้วน บันทึกไม่ครบ หรือเงื่อนไขจ่ายค่าส่งเสริมการขายเปลี่ยนไป
เปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ
งบกำไรขาดทุนของบริษัท XYZ จำกัด
2565 | 2564 | |||
จำนวนเงิน (บาท) | จำนวนเงิน (บาท) | เปลี่ยนแปลง (บาท) | เปลี่ยนแปลง (%) | |
รายได้ | 120,000 | 100,000 | 20,000 | 20.00 |
รายได้อื่น | 5,000 | 4,500 | 500 | 11.11 |
รวมรายได้ | 125,000 | 104,500 | 20,500 | 19.62 |
ต้นทุนขาย | 108,000 | 80,000 | 28,000 | 35.00 |
ค่าใช้จ่ายในการขาย | 15,600 | 10,000 | 5,600 | (56.00) |
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร | 16,000 | 15,000 | 1,000 | 6.67 |
รวมค่าใช้จ่าย | 139,000 | 105,000 | 34,000 | 32.38 |
ต้นทุนทาง การเงิน | 400 | 500 | (100) | (20.00) |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ | (14,400) | (1,000) | (13,400) | 1,340 |
Gross Profit | 10% | 20% |
ดูแบบผิวเผิน เห็นตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประเด็น หากเปรียบเทียบกับรายได้จากการขายที่ปี 2565 สูงกว่า 2564 และต้นทุนขายในปี 2565 สูงกว่า ปี 2564 ถึง 28,000 บาท คิดเป็น 35% แต่ถ้าลองคำนวณหา GP (Gross Profit) พบว่า ปี 2565 GP = 10% แต่ว่า ปี 2564 GP = 20% ซึ่งผลต่างระหว่าง 2 ปีค่อนข้างสูงและอาจจะเป็นไปได้ว่าต้นทุนที่บันทึกในงบนั้นไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของกิจการก็เป็นได้ค่ะ
บัญชี | เปรียบเทียบ | ข้อสังเกตุ |
รายได้จากการขาย | 2565 สูงกว่า 20% | |
ต้นทุนขาย | 2565 สูงกว่า 35% | |
Gross Profit | 2565 ต่ำกว่า 2564 | ต้นทุนที่บันทึกในงบปี 2565 สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของกิจการหรือไม่ หรือรายได้บันทึกต่ำกว่าความเป็นจริงหรือเปล่า |
ประเด็นในงบกำไรขาดทุนอื่นๆที่สรรพากรแอบมองเราอยู่
• การไม่นำรายได้ที่ไม่เสีย vat มารวมในงบการเงิน
• การไม่รับรู้รายได้จากค่าโฆษณาแลกเปลี่ยน
• การไม่รับรู้กำไร (ขาดทุน) จากการจำหน่ายสินทรัพย์
• การไม่ปันส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุน
• ค่านายหน้า ค่าส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายพนักงานสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกิจการ
• กิจการมีรายการค่าใช้จ่าย ไม่เป็นไปตามความจริง หรือไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง
เมื่อทุกท่านรู้แบบนี้แล้วลองกลับไปสำรวจงบการเงินที่เราปิดบัญชีอยู่ว่ามีเข้าข้อไหนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะโดนสรรพากรตรวจสอบบัญชีบ้างไหมนะ แต่ว่าการป้องกันในการโดนตรวจสอบที่ดีที่สุด ก็คือ เราต้องเก็บเอกสารและเตรียมพร้อมสำหรับการจะโดนเข้าตรวจจริง ต้องใช้ข้อมูลที่มีเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องตามหลักของสรรพากร เรียนรู้เกี่ยวกับการคำนวณภาษีที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้นำส่งแบบภาษีทุกชนิดได้อย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ไม่ต้องมากังวลว่าสรรพากรจะเข้าตรวจ
นอกจากนี้ทาง CPD Academy ก็ยังมีตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินที่อาจโดนสรรพากรตรวจสอบบัญชี ให้เพื่อนๆได้เรียนรู้อีกด้วย
หากเพื่อนๆท่านไหน มีคำถามสงสัยเกี่ยวกับการคำนวณภาษียังไงให้ถูกต้อง ไม่เสี่ยงโดนสรรพากร ลองทักมาคุยกันที่ช่องทางนี้ได้นะคะ เรามีคอร์สเรียน เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลกับข้อควรระวังให้เพื่อนๆได้ศึกษาเพิ่มเติมค่ะ ทักเรามาได้เล้ยยยย
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
ขอบคุณที่มา : เอกสารประกอบการบรรยาย “ประเด็นความเสี่ยงจากการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย กองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร