ไลฟ์สไตล์

คุณบุญเลิศ กับเส้นทางผู้สอบบัญชี PwC และมุมมองในสายงานบัญชี

คุณบุญเลิศ กับเส้นทางผู้สอบบัญชี PwC และมุมมองในสายงานบัญชี

เรามักจะหาเรื่องราวของบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับบุคคลสายงานบัญชี เพื่อเป็นทั้งแรงขับเคลื่อนในการทำงาน หรือแม้กระทั่งเป็นแรงผลักดันให้หลายๆคนที่ทำงานบัญชี หรือสนใจงานบัญชี ได้มีแนวทางในการใช้ชีวิต และมองเห็นเส้นทางการเติบโตในสายงานของตนเองได้ และวันนี้จะพาไปรู้จักกับ คุณบุญเลิศ กมลชนกกุล

คุณบุญเลิศ กมลชนกกุล
คุณบุญเลิศ กมลชนกกุล

ก่อนอื่นเรามาย้อนเส้นทางการศึกษาของ คุณบุญเลิศกันก่อน กว่าจะมาเป็น ผู้สอบบัญชีและกรรมการบริหาร PwC  ชีวิตของคุณบุญเลิศก็เหมือนกับคนอื่นๆทั่วๆไป เริ่มต้นจากการศึกษาระดับปวช. จบจากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่ออนุปริญญา (Diploma) ทางด้านบัญชีที่ประเทศสิงคโปร์  หลังจากนั้นจึงไปต่อระดับปริญญาตรีที่ Leicester Polytechnic (ปัจจุบันคือ De Montfort University) ที่ประเทศอังกฤษ 2 ปี หลังจากจบปริญญาตรีด้านบัญชีและการเงินแล้ว จึงได้เริ่มต้นทำงานที่ PwC นั่นเอง

กว่าจะมาเป็นคุณบุญเลิศในปัจจุบัน แน่นอนว่า ต้องผ่านเริ่งราวมากมายไม่ต่างจากคนอื่นๆ เพราะต้องไปเรียนต่างประเทศ ต่างบ้านต่างเมือง และใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง บางคนอาจจะมองแค่ปลายทางว่า จะต้องประสบความสำเร็จแบบนี้ มีเงินเท่านี้ มีชื่อเสียงแบบนี้  แต่ลืมคิดไปว่า ระหว่างทางคือสิ่งสำคัญอีกเช่นกัน

ซึ่งคุณบุญเลิศได้ให้สัมภาษณ์ไว้หลายที่ และมีข้อมูลดีๆในสายวิชาชีพบัญชีฝากคนรุ่นหลังเอาไว้มากมาย

เริ่มด้วยเรื่องความเติบโตในสายวิชาชีพ

สายอาชีพผู้สอบบัญชีจะเติบโตได้อย่างไรบ้าง คุณบุญเลิศให้ความเห็นว่า “สำหรับเด็กจบใหม่ พอเข้ามาในสำนักงานบัญชีจะมีตำแหน่งเป็น Audit Assistant ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือการไปกับทีม พี่ในทีมเขาจะมอบหมายให้เราตรวจสอบในส่วนที่ไม่ยากมากนักหรือไม่มีความเสี่ยงมาก เพราะว่าในส่วนที่ยากและมีความเสี่ยงมากจะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจ

หลังจากเป็น Audit Assistant ประมาณ 2-3 ปี เราจะสามารถโตไปเป็น Senior Auditor ซึ่งจะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมแล้ว Senior Auditor จะมีลูกทีมเล็ก ๆ 2-3 คน ซึ่งก็จะมีหน้าที่นำทีมเข้าไปตรวจสอบที่ไซต์งานที่ได้รับมอบหมาย

ตำแหน่งถัดไปเราเรียกว่าเป็น Manager ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทีมเล็ก ๆ หลายทีม โดย Manager จะได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกค้าหลายราย อาจจะ 20 ราย ขึ้นอยู่กับขนาด หมายความว่าคุณจะมีลูกทีมที่คุณจะต้องดูแล 20 ทีม นอกจากนี้ Manager ก็จะเริ่มมีบทบาทที่สำคัญขึ้น ทั้งเรื่องการวางแผน และการติดต่อลูกค้า คุณจำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการ เพราะคุณต้องจัดการเรื่องของเวลา จัดการเรื่องของคน จัดการเรื่องของทีม

หลังจากเป็น Manager ประมาณ 3 ปี คุณจะมีโอกาสเติบโตเป็น Senior Manager  ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกค้าจำนวนเพิ่มขึ้นหรือเป็นลูกค้าที่ยากหรือท้าทายมากขึ้น เช่น บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

จากตำแหน่ง Senior Manager ก็จะเป็นตำแหน่ง Director ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปเลย ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ Director ได้รับมอบหมายให้ดูแลก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ยากมากนัก ตำแหน่ง Director จะยังไม่ได้ทำหน้าที่เซ็นรายงานรับรองการตรวจสอบ แต่จะมี Partner เป็นผู้รับผิดชอบเซ็นแทน

สุดท้ายเราอาจจะมีโอกาสขึ้นเป็น Partner ของสำนักงานได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลงานและขึ้นอยู่กับ Partnership ขององค์กรว่าเขาพร้อมที่จะยอมรับเราขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนหรือไม่ด้วย ถ้าลองนับระยะเวลาทั้งหมด การที่จะขึ้นมาเป็น Partner ได้ อาจจะต้องใช้เวลาถึง 14-15 ปี แต่ช่วงเวลาทั้งหมดที่พูดมามันก็ไม่ได้ตายตัวเสมอไปมันก็อยู่ที่ตัวเราด้วย”

ความเห็นเรื่องคนที่จบสายงานบัญชี

“คนที่จบบัญชีไม่ได้เป็นผู้สอบบัญชีเท่านั้นเราทำได้หลายอย่าง แน่นอนว่าจบบัญชี พื้นฐานก็สามารถเป็นสมุห์บัญชี เป็นนักบัญชีได้ นอกจากนั้นก็เป็นผู้สอบบัญชีได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท อย่าง PwC เรียกว่าเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) แล้วก็ยังมีผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor)

นอกจากนี้ยังสามารถเป็นนักบัญชีภาษี (Tax Accountant) เป็นนักบัญชีบริหาร (Management Accountant) หรือจะเป็นนักบัญชีต้นทุน (Cost Accountant) หรือแม้กระทั่งเป็นนักการเงิน (Financial Analyst) ก็ต้องใช้พื้นฐานบัญชีและการเงินทั้งนั้น การที่เรามีพื้นฐานบัญชีหรือการเงิน มันช่วยให้เราสามารถทำได้หลาย ๆ วิชาชีพ บางคนทำงานสักพักอยากจะเป็นอาจารย์สอนวิชาบัญชีก็สามารถเป็นได้ วิชาการเงินก็ได้ เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสให้เราได้พัฒนาไปในหลาย ๆ สาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิชาบัญชี ”

เทรนด์การทำงานในอนาคตของสายงานผู้สอบบัญชีในสายตาคุณบุญเลิศ

“ผมเชื่อว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเศรษฐกิจยังโต ธุรกิจยังโต ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีนักบัญชีและผู้สอบบัญชี ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สอบบัญชีอยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่นกว่าคน แต่ในจำนวนนี้ ไม่ถึงครึ่งที่ทำงานเป็นผู้สอบบัญชีจริง ดังนั้นเรามีผู้สอบบัญชีอยู่ที่ประมาณ 3-4 พันคน เต็มที่ไม่เกิน 5 พันคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทในประเทศไทยที่มีจำนวนเป็นแสนเป็นล้านบริษัท เพราะฉะนั้นมันมีความต้องการอยู่

ในอีกด้านหนึ่งของการทำงาน ในอนาคตเราก็อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบ จะไปนั่งดูเอกสารเหมือนเดิมมันทำไม่ได้แล้ว ต้องอาศัยการดาวน์โหลดข้อมูลมาวิเคราะห์ ต้องมีการนำเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาใช้ เรากำลังพูดถึงการพัฒนาวิชาชีพว่าต้องเปลี่ยนการตรวจสอบมาเน้นในเรื่องของข้อมูลให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นทักษะที่เรามีก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากที่เคยมองหาคนที่อดทน ขยัน ก็ต้องมาเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น”

ข้อคิด และข้อแนะนำดีๆ

” ก่อนอื่นเราต้องทำในสิ่งที่เราชอบก่อน ถ้าเราค้นพบตัวเราเร็วเท่าไหร่เราก็จะยิ่งรู้ว่าเราถนัดในด้านไหน อาจจะไม่ใช่แค่สาขาบัญชี อาจจะเป็นเศรษฐศาสตร์ การเงิน หรืออาจจะเป็นวิศวะฯ เป็นอะไรก็ได้ แต่เราต้องรู้ก่อนว่าเราถนัดหรือเราเก่งในเรื่องอะไร และมุ่งเน้นไปในจุดนั้น ไปในจุดที่เราถนัด ที่เราชอบก่อน พอเรารู้ว่าถนัดในเรื่องอะไร เราก็ค่อยต่อยอด เราก็ค่อยเรียน

สำหรับคนที่คิดจะมาทางสายนี้แล้ว ควรจะมาในสายสอบบัญชี แต่ถ้าคุณไม่ชอบจริงๆ ก็อย่าไปบังคับตัวเองนะ เพราะสิ่งที่สำคัญคือทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ แค่จะบอกว่าการสอบบัญชีก็จะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคนที่จบบัญชีโดยทั่วไป และอย่างที่บอกว่าคนที่จบบัญชีไม่ได้เป็นแค่ผู้ทำบัญชี ไม่ได้เป็นแค่ผู้สอบบัญชี คุณทำได้หลายอย่าง ถ้ายังไม่รู้ว่าอยากทำอะไรในด้านไหน คำแนะนำของผมคือเริ่มต้นจากการเป็นผู้สอบบัญชี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ 2-3 ปีแรก สอบให้ได้ CPA แล้วค่อยกลับไปค้นหาตัวเอง ”

หวังว่าเรื่องราวดีจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จในสายงานบัญชี จะเป็นอีกแรงบันดาลใจให้กับหลายๆคนได้มุ่มมั่นกับเส้นทางที่ตัวเองเลือกเดิน

รู้จัก ดร.อิสริยา นักบัญชีไทยคนเก่ง กับความสำเร็จที่ทุกคนทำตามได้ หลายคนที่กำลังเรียนบัญชี หรือกำลังทำงานสายบัญชีอยู่อาจจะกำลังคิด และวางแผนกันอยู่ว่า เราจะต่อยอดอาชีพนักบัญชีของเราได้อย่างไรบ้างจะตัดสินใจเรียนบัญชีดีไหม มีโอกาสประสบความสำเร็จหรือเปล่า

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า