ภาษี

ค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้อย่างไร?

ค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้อย่างไร ?

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ นักบัญชี ไม่ว่าเพื่อนๆ จะทำงานที่ไหน เป็นนักบัญชีที่สำนักงานบัญชี นักบัญชีกิจการทั่วไป ก็ต้องเคยเจอกับ “ค่ารับรอง” กันทั้งนั้น พวกเรามีความสงสัยกันตลอด ว่าแบบนี้ใช้สิทธิทางภาษีได้ไหม ใช้ได้เท่าไร และต้องใช้เอกสารอะไรประกอบบ้าง วันนี้เรามาสรุปครบที่นี่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆนักบัญชีทุกท่านค่ะ

ก่อนอื่นเรามาเริ่มทำความเข้าใจกันก่อนเลย โดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายนี้จัดเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีชนิดหนึ่ง แต่เป็นรายจ่ายที่มีลักษณะพิเศษ เพราะว่าบางครั้งสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ถ้าปฏิบัติตามกำหนดเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคืออะไร และต้องทำอย่างไรบ้าง พวกเราจะไปเรียนรู้พร้อมๆ กันค่ะ

1. ค่ารับรองคืออะไร

ค่าเลี้ยงรับรองที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ คือ ค่าใช้จ่ายนั้น ต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย

กฎกระทรวง ฉบับที่ 143

พูดง่ายๆ ก็คือ ค่าเลี้ยงรับรองลูกค้าที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ และการรับรองนั้นห้ามใช้กับลูกจ้าง เว้นแต่ ลูกจ้างมีหน้าที่ที่ต้องเข้าร่วมด้วยในการเลี้ยงรับรองนั้นด้วยค่ะ

แต่ถ้าเป็นการให้สิ่งของแก่บุคคล ก็มีเกณฑ์กำหนดว่า สามารถให้ได้ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคนต่อครั้งค่ะ

2. ตัวอย่างมีอะไรบ้าง

ในขณะที่นักบัญชีอย่างเรากำลังจะลงบันทึกค่าใช้จ่าย ก็ต้องทำการวิเคราะห์รายการบัญชีก่อนว่าคือค่าอะไร เราไปดูตัวอย่างกันค่ะ ถ้าหากเจอรายการตามนี้ต้องจัดหมวดหมู่เป็นการรับรองนะคะ ตัวอย่างเช่น

ลูกค้าสั่งของลอตใหญ่หรือลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าเป็นประจำ พาไปเลี้ยงรับรองเพื่อคุยข้อตกลงทางธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อสินค้าที่ร้านอาหาร

โดยสรุปแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น

  • ค่าที่พัก
  • ค่าอาหาร
  • ค่าเครื่องดื่ม
  • ค่าดูมหรสพ
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา

เพื่อนๆ ลองสำรวจในกิจการตัวเองดูค่ะ ว่ามีค่าใช้จ่ายที่เข้าข่ายจะเป็นการรับรองดังกล่าวข้างต้นบ้างไหมคะ ถ้าหากมี เราก็ต้องมาเตรียมพร้อมกันต่อว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไร

3. สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไหร่

ค่าใช้จ่ายเพื่อรับรอง อาจไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามทางภาษีทั้งหมด ถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไข ค่าใช้จ่ายนี้ สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้บางส่วนค่ะ นำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไหร่มาดูกัน

“จำนวนเงินค่าเลี้ยงรับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใด ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท”

กฎกระทรวง ฉบับที่ 143

พูดง่ายๆ ก็คือ จำนวนเงินของการเลี้ยงรับรองที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี ต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้ว แล้วแต่ว่าอย่างใดจะมากกว่า แต่ใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทนั่นเอง

ค่ารับรอง
เงื่อนไขค่าใช้จ่ายรับรอง

4. หลักฐานและการอนุมัติค่าเลี้ยงรับรอง

หลักฐานและการอนุมัติ สิ่งที่เน้นย้ำเลยก็คือ 2 เรื่องนี้ค่ะ

  • ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติ
  • ต้องมีหลักฐานของผู้รับเงิน หรือใบเสร็จรับเงินนั่นเอง

นักบัญชีสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นด้วยการออกแบบเอกสารภายในที่ใช้ในกิจการค่ะ ให้เป็นแบบฟอร์มเฉพาะของการเลี้ยงรับรองลูกค้า ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้บริหาร หรือฝ่ายขายและการตลาดบ่อยๆ ต้องสื่อสารให้ฝ่ายอื่นเข้าใจถึงความสำคัญของเอกสารที่ต้องจัดทำว่ามีประโยชน์อย่างไรกับกิจการค่ะ เมื่อต้นทางเก็บเอกสารและมีแบบฟอร์มให้ลูกค้า หรือผู้รับการรับรองเซ็นอย่างครบถ้วน ฝ่ายบัญชีอย่างเรา ก็ไม่ต้องแก้ไข หรือตีกลับเอกสารเพื่อแก้ไขตามจุดต่างๆหลายรอบค่ะ

ลองมาดูตัวอย่างแบบฟอร์มที่สามารถนำไปใช้ได้มีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้ เพียงแค่กรอกเอกสารครบ มีคนอนุมัติตามสมควรและแนบใบเสร็จรับเงิน เพียงเท่านี้ชีวิตนักบัญชีก็ง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ

หลักฐานและการอนุมัติค่ารับรอง
หลักฐานและการอนุมัติค่าใช้จ่ายรับรอง

5. ตัวอย่างการคำนวณประโยชน์ทางภาษีที่ใช้ได้

ต่อไปยกตัวอย่างการคำนวณว่ากิจการของเรา ค่าใช้จ่ายรับรองใช้สิทธิเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไหร่ค่ะ โดยสังเกตจากข้อมูลในงบการเงิน 2 จุด คือ รายได้ และทุนที่ชำระแล้ว

ตัวอย่างการคำนวณ

ฐานที่ใช้จำนวนเงินเกณฑ์คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หน่วย
ฐานรายได้2,000,000x เกณฑ์ภาษี 0.3 %6,000บาท
ฐานทุนที่ชำระแล้ว3,000,000x เกณฑ์ภาษี 0.3 %9,000บาท
เลือกสิทธิที่มากกว่า= ฐานทุนที่ชำระแล้ว9,000บาท

ต่อไปก็เช็คต่อเลยว่ามีการบันทึกบัญชีค่ารับรองไว้จำนวนเท่าไหร่ เช่น


ค่ารับรองตามบัญชี จำนวน 10,000 บาท ถ้าเทียบกับตารางด้านบนก็สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 9,000 บาท เพราะฉะนั้น อีก 1,000 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ที่ต้องบวกกลับตอนที่คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลค่ะ

ตัวอย่างการคำนวณการรับรอง
ตัวอย่างการคำนวณการรับรอง

เมื่อเพื่อนๆทราบถึงเงื่อนไข ลักษณะ และวิธีการคำนวณแล้ว ประโยชน์ก็คือ เพื่อนๆสามารถวางแผนบริหารภาษีได้ด้วย เพราะส่วนใหญ่เราพอเห็นเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้บริหาร ก็มักจะบันทึกเข้าบัญชีรายจ่ายต้องห้ามกันไปเลย แต่จริงๆ แล้วเราสามารถบันทึกแยกออกมาก่อนเพื่อพิจารณาก่อน ว่าเป็นค่าเลี้ยงรับรอง ที่เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

หากเรานำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ กิจการของเราก็ประหยัดภาษีไปได้ด้วยนะคะ ทำให้คุณค่าในความเป็นนักบัญชีของเราเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ

และถ้าใครอ่านแล้วยังจำได้ไม่แม่น แนะนำลองเข้าไปดูคลิปสรุปเรื่องค่าเลี้ยงรับรอง นำไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ยังไงกับพี่หนอม ได้ที่นี่เลย

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่

Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า