สินค้าคงเหลือเป็นบัญชีที่สำคัญมากๆ สำหรับธุรกิจผลิตและซื้อมาขายไป ทุกวันนี้หลายๆ ธุรกิจประสบปัญหาว่าสินค้าล้นสต็อกหรือว่าสินค้าขาดมือ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ แล้วเราในฐานะนักบัญชีจะช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์สินค้าคงเหลือได้ยังไงบ้าง เราลองมาทำความเข้าใจ 4 เรื่องที่นักบัญชีช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์สินค้าได้ค่ะ
1. สินค้าขายดีไหม
สินค้าที่เป็นสินทรัพย์ในธุรกิจ ใครๆ ก็อยากให้มันขายดีๆ แต่คำว่าขายดีเราชี้วัดจากอะไรได้บ้าง
ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเช็คได้จากรายงานยอดขายตามสินค้า และลองดึงข้อมูลออกมาเปรียบเทียบยอดขายของสินค้า Top5 ว่าเกิดจากสินค้าอะไรบ้าง
นอกจากนี้ยังไม่พอ เราลองเช็คสินค้าที่ยอดขายแย่ๆ Top5 เพิ่มเติมดูหน่อยว่ามีความผิดปกติอะไรไหม สินค้าบางอย่างได้มาต้นทุนต่ำมากๆ ตั้งราคาขายไว้ กำไรก็เยอะเลย แต่ไม่สามารถทำยอดขายได้ นั่นแปลว่า สินค้าก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นกำไรที่แท้จริงให้ธุรกิจได้เช่นกัน
แบบนี้นักบัญชีควรเข้าไปเช็ค และบอกเจ้าของธุรกิจแต่เนิ่นๆ ว่าสินค้าชนิดไหนขายดี และสินค้าชนิดไหนขายแย่ แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับสินค้าที่ขายได้แย่ๆ ดีนะ
2. วิเคราะห์การหมุนเวียนสินค้า (Inventory turnover)
ถัดมาเป็นวิธีการวิเคราะห์การหมุนเวียนของสินค้าว่าในภาพรวมแล้วสินค้าของเรานั้นมีการหมุนเวียนเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยอัตราส่วนการหมุนเวียนของสินค้า สูตรคำนวณตามนี้
อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover) = ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือ
ถ้าแปลความแบบง่ายๆ เราเพียงแค่ต้องการจะเช็คว่าสินค้าคงเหลือนั้น สามารถเปลี่ยนไปเป็นต้นทุนขาย (ขายออก) ได้รวดเร็วขนาดไหน
ยิ่งอัตราการหมุนของสินค้าเยอะ ยิ่งแปลว่า สินค้าที่ซื้อมาหรือผลิตไว้ มีรอบหมุนใน 1 ปีเยอะ แปลว่า ขายได้รวดเร็วดีนั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเช่น บริษัท CPD Academy มีสินค้าคงเหลือ = 27,000 บาท และมีต้นทุนขาย = 363,000 บาท
อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover) = 363,000 / 27,000 = 13.44 รอบ
แปลว่า ใน 1 ปี บริษัท CPD Academy ซื้อสินค้ามาแล้วขายออกไปได้ทั้งหมด 13.44 รอบ นั่นเอง ถ้าลองเปรียบเทียบกับปีก่อนตัวอัตราส่วนเดียวกันเราก็จะรู้เลยล่ะว่า เราหมุนเวียนสินค้าได้ดีมากขึ้นกว่าเดิมไหม
สินค้าที่หมุนเวียนเร็วนั้น บ่งบอกว่าเราสามารถหาเงินจากสินค้านี้ได้เร็วขึ้น และในทางกลับกันเราเองก็ต้องสต๊อกสินค้าไว้ให้เพียงพอด้วยเช่นกัน
3. วิเคราะห์ระยะเวลาการถือสินค้า (Days in Inventory)
ถ้านักบัญชีคนไหนคิดว่าการคำนวณอัตราการหมุนของสินค้านั้นสับสนและแปลความยาก ลองใช้วิธีคำนวณระยะเวลาในการถือสินค้าทดแทนดูได้ค่ะ
สูตรที่ใช้คำนวณมีตามนี้
ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory) = 365 Day / อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ หรือ 365 x สินค้าคงเหลือ / ต้นทุนขาย
ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลเดิมของ บริษัท CPD Academy เราเอามาคำนวณจำนวนวันที่ถือครองสินค้าได้ตามนี้
ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory) = 365 x 27,000/363,000 = 27.14 วัน
ระยะเวลาการถือครองสินค้าคงเหลือ 27.14 วัน หมายถึง โดยบริษัท CPD Academy ต้องถือสินค้าไว้จำนวน 27.14 วันกว่าที่จะขายสินค้าได้ ถ้าสมมติในอดีตถือสินค้าไว้ 30 วัน ปัจจุบันจำนวนวันน้อยลงแปลว่า บริษัทบริหารสินค้าได้ดีกว่าเดิม
แต่ถ้าสมมติในอดีต สินค้าถือไว้ 7 วันก็ขายได้แล้ว แต่ปัจจุบันใช้เวลาตั้ง 27 วันเราอาจต้องไปเช็คต่อว่าสินค้าที่หมุนช้าเป็นสินค้าชนิดไหนกันแน่
4. วิเคราะห์กำไรของสินค้า
สินค้าทุกชิ้นที่เลือกเข้ามาขาย หรือว่าเลือกผลิต ควรจะมีกำไรในขั้นต้นใช่ไหมคะ แต่บางครั้งเจ้าของธุรกิจเองก็ไม่รู้ว่าจะคำนวณกำไรของสินค้าอย่างไรบ้าง
วิธีวิเคราะห์กำไรขั้นต้นของสินค้าทำได้จากสูตรนี้
กำไรขั้นต้น = (ราคาขาย – ต้นทุนสินค้า)/ราคาขาย
ยกตัวอย่างเช่น
ผลิตน้ำมันหอมระเหยขาย ตั้งราคาไว้ขวดละ 100 บาท แต่มีต้นทุนค่าซื้อน้ำมัน ค่ากลิ่น ค่าบรรจุขวด รวมแล้ว 80 บาท แปลว่าอัตรากำไรขั้นต้น จะคำนวณได้
กำไรขั้นต้น = (100 – 80)/100 = 20%
ยิ่งมีกำไรขั้นต้นเยอะก็ยิ่งปลอดภัยเพราะว่าเรายังเหลือที่ว่าง สำหรับการทำการตลาด บริหารร้านค้า หรือมีค่าใช้จ่ายขนส่งเพิ่มเติม
ตัวอย่างนี้เป็นเพียงแค่วิธีวิเคราะห์กำไรจากสินค้าขั้นต้นเท่านั้น แต่ถ้าอยากวิเคราะห์กำไรแบบทุกแง่มุม แนะนำอ่านเพิ่มเติมที่นี่เลย : ความสามารถในการทำกำไรคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนได้บ้าง
โดยสรุปแล้ว นักบัญชีช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์เรื่องสินค้าได้ ตั้งแต่เรื่องขายได้ไหม หมุนเวียนเร็วหรือเปล่า ถือสินค้าไว้นานเกินไปไหม จนกระทั้งกำไรขั้นต้นของสินค้าแต่ละตัว ซึ่งสรุปง่ายๆ ตามภาพได้ดังนี้
ถ้าธุรกิจบริหารจัดการสินค้าได้ดี ก็มีโอกาสที่จะสร้างเงินกลับมาได้เร็วขึ้น ซึ่งนักบัญชีเองอาจไม่ได้แค่บันทึกข้อมูลอย่างเดียว แต่ยังช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วย ลองดูนะคะ วิเคราะห์สินค้านั้นไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ
และสำหรับใครที่อยากแนะนำเจ้าของธุรกิจให้จัดการสต็อกให้เป็นระเบียบ จะได้วิเคราะห์สินค้าได้ง่ายขึ้น ลองอ่านบทความนี้เพิ่มเติมเลย: