คนทำธุรกิจคงหนีไม่พ้นเกี่ยวกับเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ ชื่อภาษาอังกฤษ “Withholding tax” อย่างแน่นอน เพราะว่านี่ก็เป็นฎหมายอีกอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ในด้านนักบัญชีเอง ความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะถ้าเรารู้แล้วก็จะให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการได้ แถมยังช่วยเพิ่มมูลค่าในงานบัญชีได้ด้วยค่ะ
เอาล่ะ ถ้าตอนนี้ใครกำลังสนใจเกี่ยวภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทาง CPD Academy ขอสรุปทุกสิ่งที่คุณต้องรู้ไว้ในบทความนี้ ให้ทุกคนอ่านได้เลยจ้า
ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร?
ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย เป็นการหักเงินภาษีโดยตรงจากเงินได้ โดยนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินจะต้องหักเงินภาษีออกจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว และนำส่งชำระภาษีที่หักไว้ให้แก่กรมสรรพากร
ผู้รับเงิน เป็น ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะได้รับหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิเพื่อเป็นตัวแทนว่าได้ถูกหักภาษีเงินได้เรียบร้อยแล้ว และสามารถใช้สิทธิภาษีนี้ได้ตอนคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี
Withholding Tax ในกระบวนการการเสียภาษี ทำงานยังไง
กระบวนการที่ 1 เริ่มต้นจากผู้จ่ายชำระเงิน เตรียมการจ่ายเงิน
กระบวนการที่ 2 ต้องทราบว่าตนเองเป็นผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายค่าใช้จ่ายประเภทนี้ไหม แล้วต้องหักไว้ในอัตราที่เท่าไหร่
กระบวนการที่ 3 ผู้จ่ายเงิน หากต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ต้องทำ 2 อย่าง ดังนี้
1. ผู้จ่ายเงินต้องออกหนังสือรับรองภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงิน
2. ผู้จ่ายเงินต้องนำเงินภาษีที่หักไว้ นำส่งแก่กรมสรรพากรตามเวลที่กำหนดค่ะ
ประเภทของ Withholding Tax และอัตราภาษีของแต่ละประเภท
ประเภทของเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เราสามารถแบ่งได้ตามผู้รับเงินค่ะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ และเราไปดูกันค่ะ ว่าแต่ละประเภทมีอัตราภาษีเท่าไหร่บ้าง
- บุคคลธรรมดา
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้รับเงิน ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายดังนี้ค่ะ
ข้อที่ | เงินได้พึงประเมินตามมาตรา | ตัวอย่าง | อัตราหัก ณ ที่จ่าย | แบบยื่น |
1 | 40 (1) | เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง เป็นต้น | อัตราภาษีเงินได้ | ภ.ง.ด.1 |
2 | 40 (2) | เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่ง งานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม เป็นต้น | อัตราภาษีเงินได้ | ภ.ง.ด.1 |
3 | 40 (5) | การให้เช่าทรัพย์สิน | 5% | ภ.ง.ด.3 |
4 | 40 (5) | การให้เช่าเรือ | 1% | ภ.ง.ด.3 |
5 | 40 (6) | วิชาชีพอิสระ | 3% | ภ.ง.ด.3 |
6 | 40 (7) (8) | ค่าจ้างทำของ | 3% | ภ.ง.ด.3 |
7 | – | การโฆษณา | 2% | ภ.ง.ด.3 |
8 | 40 (8) | การให้บริการ นอกเหนือจาก 40 (3)(4)(7) ไม่รวมถึงค่าบริการโรงแรมหรือภัตตาคาร | 3% | ภ.ง.ด.3 |
9 | – | เงินรางวัล ส่วนลด หรือ ประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย | 3% | ภ.ง.ด.3 |
10 | – | ค่าขนส่ง ที่ไม่ใช่การจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่ง | 1% | ภ.ง.ด.3 |
11 | 40 (8) | เงินรางวัลในการประกวด แข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน | 5% | ภ.ง.ด.3 |
บุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้รับเงิน ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายดังนี้ค่ะ
ข้อที่ | เงินได้พึงประเมินตามมาตรา | ตัวอย่าง | อัตราหัก ณ ที่จ่าย | แบบยื่น |
1 | 40 (8) | เงินรางวัลในการประกวด แข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน | 5% | ภ.ง.ด.3 |
2 | 40 (8) | เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ ผู้มีเงินได้มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ | อัตราภาษีเงินได้ | ภ.ง.ด.3 |
3 | 40 (8) | เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ ผู้มีเงินได้มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ แต่ได้รับ อนุญาตให้ถ่ายทำในประเทศไทย | 10% | ภ.ง.ด.3 |
4 | 40 (8) | เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ ผู้มีเงินได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย | 5% | ภ.ง.ด.3 |
- นิติบุคคล
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป นิติบุคคลที่เป็นผู้รับเงิน ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายดังนี้ค่ะ
ข้อที่ | เงินได้พึงประเมินตามมาตรา | ตัวอย่าง | อัตราหัก ณ ที่จ่าย | แบบยื่น |
1 | 40(2)(3) | เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ ค่านายหน้า ค่าแห่ง กู๊ดวิลล์ ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น | 3% | ภ.ง.ด.53 |
2 | 40 (5) | การให้เช่าเรือ | 5% | ภ.ง.ด.53 |
3 | 40 (5) | การให้เช่าทรัพย์สิน | 1% | ภ.ง.ด.53 |
4 | 40 (6) | วิชาชีพอิสระ | 3% | ภ.ง.ด.53 |
5 | 40 (7) (8) | ค่าจ้างทำของ | 3% | ภ.ง.ด.53 |
6 | การโฆษณา | 2% | ภ.ง.ด.53 | |
7 | 40(8) | การให้บริการอื่นๆ นอกเหนือจาก 40(4)(5)(9)(10) ไม่รวมถึงค่าบริการโรงแรมหรือภัตตาคาร ค่าเบี้ยประกันชีวิต | 3% | ภ.ง.ด.53 |
8 | เงินรางวัล ส่วนลด หรือ ประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย | 3% | ภ.ง.ด.53 | |
9 | เงินได้ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย | 1% | ภ.ง.ด.53 | |
10 | ค่าขนส่ง ที่ไม่ใช่การจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่ง | 1% | ภ.ง.ด.53 | |
11 | 40(4)ก | ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม | 1% | ภ.ง.ด.53 |
12 | 40(4)ข | เงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไร | 10% | ภ.ง.ด.53 |
13 | 40(8) | เงินรางวัลในการประกวด แข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน | 5% | ภ.ง.ด.53 |
ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอรเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน นิติบุคคลที่เป็นผู้รับเงิน ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายดังนี้ค่ะ
ข้อที่ | เงินได้พึงประเมินตามมาตรา | ตัวอย่าง | อัตราหัก ณ ที่จ่าย | แบบยื่น |
1 | 40(4)ก | ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม | 1% | ภ.ง.ด.53 |
ประเภทของอัตราภาษีจากภาพ ทุกท่านจะเห็นว่ามีอยู่ 2 แบบ
1. อัตราภาษีแบบคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะมีช่องอัตราภาษี 2 ส่วนด้วย คือ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลเท่านั้นเองค่า
2. อัตราภาษีแบบก้าวหน้า คือ ใช้ฐานเงินได้สุทธิเป็นขั้น แบ่งเป็นช่วง เพื่อคิดอัตราภาษีในอัตราที่แตกต่างกันแต่ละช่วงของเงินได้ค่ะ ใช้สำหรับเงินได้ประเภท 40 (1) (2) ที่จ่ายให้กับบุคคลธรรมดานั่นเอง
หากเพื่อนๆอยากทราบวิธีการคำนวณหรือตัวอย่างการคำนวณหัก ณ ที่จ่าย เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ในบความนี้มีตัวอย่างการคำนวณและตัวอย่างแบบยื่นภาษีและใบแนบให้เพื่อนๆมองเห็นภาพมากขึ้นค่ะ
ข้อควรรู้ก่อนจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายหัก ณ ที่จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์
การยื่นภาษีและจ่ายชำระภาษี
ในด้านของผู้จ่ายชำระเงิน ต้องปฏิบัติ 2 ข้อดังนี้
- ผู้จ่ายเงินต้องออกหนังสือรับรองภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงิน
ข้อมูลสำคัญที่ต้องระวังของหนังสือรับรองภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ดูได้ที่นี่เลยค่า หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายต้องเข้าใจอะไรบ้าง ดาวน์โหลดที่นี่ - ผู้จ่ายเงินต้องนำเงินภาษีที่หักไว้ นำส่งแก่กรมสรรพากรตามเวลที่กำหนดค่ะ เอกสารที่ต้องยื่นแก่กรมสรรพากรประกอบไปด้วย แบบยื่นภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.3 ภ.ง.ด.53 และใบแนบรายการหัก ณ ที่จ่าย แต่ปัจจุบันนิยมที่จะยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตกันค่ะ เนื่องจากสะดวกสบายและไม่ต้องกรอกแบบเอง ที่สำคัญหากมีค่าปรับยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตก็สามารถคำนวณค่าปรับให้ได้ทันทีเลยนะคะ
โทษของการไม่ยื่นภาษีต้องเจอค่าปรับอะไรบ้าง
กรณีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนนั้น หรือไม่ยื่นแบบจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
- ภาระภาษีที่ต้องทำการหัก ณ ที่จ่ายไว้ ผู้จ่ายเงินจะต้องร่วมรับผิดชอบในจำนวนของภาษีที่ต้องหักไว้ให้ครบตามจำนวนค่ะ
- หากผู้จ่ายเงินหักภาษีไว้แล้ว แต่ไม่นำส่งภาษีแก่กรมสรรพากร จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนอีกด้วยค่ะ
- หากเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะคะ
ดังนั้นเรื่องหัก ณ ที่จ่ายถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องทราบโดยทั่วกันในการทำธุรกิจเลยค่ะ มีบทกำหนดโทษชัดเจนขนาดนี้ ต้องรีบเรียนรู้และปฏิบัติตามให้ถูกต้องแล้วหล่ะ
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับ Withholding Tax
Q : ไม่อยากใช้เวลาในการทำรายงานเพื่อยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ควรทำไงดีเพื่อประหยัดเวลาส่วนนี้?
A : ในส่วนนี้ทางกรมสรรพากรได้มีระบบ Support สำหรับกิจการที่มีขนาดใหญ่ ต้องการชำระเงินจำนวนมาก เรียกว่า “E-withholding tax” ที่เพื่อนๆ สามารถใช้ธนาคารเป็นตัวกลางในการหัก ณ ที่จ่ายได้ค่ะ
E-withholding tax คืออะไร เพื่อนๆสามารถเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับตัวช่วยนี้ตามลิงค์ได้เลยค่า
Q : ทำไมต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ?
A : การที่มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะช่วยบรรเทาภาระภาษีของผู้มีเงินได้ เช่น นาย ก. มีรายได้จากการเป็นลูกจ้างที่บริษัทแห่งหนึ่งทุก ๆ เดือนเงินได้รวมทั้งปีอาจจะเป็น 1 ล้านบาท พอสิ้นปีถ้าไม่โดนหัก ณ ที่จ่ายเลยจะต้องมาเสียภาษีครั้งสุดท้ายตอนสิ้นปีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก็อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินผู้เสียภาษีลดลงไปได้ ในส่วนของรัฐ รัฐเก็บภาษีล่วงหน้า มีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอเพราะว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายผู้ที่หัก ณ ที่จ่ายจะต้องนำส่งทุก เดือน ดังนั้นรายได้ที่เข้าสู่คลังก็จะเข้ามาอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ เดือน หรืออีกนัยนึง มีการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพราะจะช่วยลดการหลีกเลี่ยงภาษีในภายหลังได้
Q : หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องหักเมื่อไร ?
A : เมื่อจ่ายเงินที่เกิน 1,000 บาทในคราวเดียว หรือหลายคราวรวมกันก็แล้วแต่ เช่น ถ้าแบ่งจ่ายบริการมูลค่า 1,200 บาท 2 ครั้ง ครั้งละ 600 บาท คุณต้องหักไว้ทั้ง 2 ครั้งด้วย แม้แต่ละครั้งจะไม่เกิน 1,000 บาท
สำหรับเรื่องของ Withholding tax หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนๆก็พอจะทราบแล้วว่า ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร กระบวนการในการเสียภาษีเกิดขึ้นได้ยังไง ประเภทและอัตราภาษีของภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายรวมถึงโทษหากเราไม่ดำเนินการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร รู้ครบหมดแบบนี้ รับรองไม่ว่าจะเป็นการติดต่อธุรกิจในเรื่องของการจ่ายเงิน หรือผู้ทำบัญชีจะแนะนำผู้ประกอบการเรื่องของการจ่ายเงิน จ่ายภาษี ก็สามารถมีความรู้เพื่อไปใช้ในการทำงานจริงได้อย่างแน่นอนค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y