ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีตัวที่เข้าใจง่ายสุด แต่เราก็มักทำผิดบ่อยสุดเช่นกัน นักบัญชีต้องรู้อะไรเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายบ้าง ตอนจ่ายเงินเราต้องหัก ณ ที่จ่ายเท่าใด และมีเอกสารหลักฐานอะไรที่เราต้องเก็บไว้อย่าให้หายเด็ดขาด
วันนี้ CPD Academy ขออาสามาสรุปใจความสำคัญจากคอร์สเรียนพื้นฐานภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้รับเกียรติจาก พี่นุช ยลวรรณ จิรวัชรเดช และพี่หนอม Taxbugnoms ให้เพื่อนๆ ทุกคนฟังค่า
1.ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร
เป็นภาษีตัวนึงที่น่าจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจเกือบทุกธุรกิจ เพราะมีการจ่ายเงินอยู่เป็นประจำ หลายคนคงสงสัยว่าเวลาจ่ายเงินออกไปแล้วจะต้องทำหัก ณ ที่จ่ายมั๊ย และอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นยังไง มาเรียนรู้พื้นฐานกันค่ะ
เวลาเราพูดถึง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มันมีคำว่า “จ่าย” อยู่ในนั้น ดังนั้นมันเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินแน่ๆ ซึ่งโดยปกติกฎหมายจะพูดถึง 3 องค์ประกอบ คือ
- ผู้จ่ายเงิน
- เงินได้
- ผู้รับเงิน
คนจ่ายเป็นใคร เงินได้ประเภทไหน ผู้รับเงินเป็นใคร 3 เรื่องนี้ถ้าเข้าใจทั้งสามเรื่องนี้ก็จะไปต่อกับภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายตัวนี้ได้ง่ายขึ้น
2. แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
เมื่อผู้จ่ายเงิน หัก ณ ที่จ่าย ทุกคราวที่จ่ายเงินแล้ว จะต้องยื่นแบบภาษีแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- แบบแสดงรายการยื่นเป็นรายเดือน : ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 2, ภ.ง.ด. 3, ภ.ง.ด. 53, ถ้าเดือนไหนมีการหักต้องยื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ยื่นผ่านอินเตอร์เน็ต +8 วัน
- แบบแสดงรายการยื่นเป็นรายปี : สำหรับเงินได้บางประเภท ภ.ง.ด. 1ก ยื่นภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ภ.ง.ด. 2ก ยื่นภายในสิ้นเดือนมกราคมของปีถัดไป
และเรื่องน่ายินดีก็คือ ถ้าเดือนไหนไม่มีการหัก ณ ที่จ่ายก็ไม่ต้องยื่นแบบภาษีให้เหนื่อยจ้า
ประเภทเงินได้ | ผู้รับเงินได้ | แบบแสดงรายการยื่นเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป | แบบแสดงรายการยื่นเป็นรายปี |
มาตรา 40(1) และ 40(2) | บุคคลธรรมดา | ภ.ง.ด. 1 | ภ.ง.ด. 1ก ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป |
มาตรา 40(3) และ 40(4) | บุคคลธรรมดา | ภ.ง.ด. 2 | ภ.ง.ด. 2ก ภายในสิ้นเดือนมกราคมของปีถัดไป |
มาตรา 40(5) – (8) | บุคคลธรรมดา | ภ.ง.ด. 3 | – |
เงินได้ทุกประเภท | นิติบุคคล | ภ.ง.ด. 53 | – |
3. อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ใช้บ่อย
สำหรับผู้รับเงินที่อยู่/ประกอบกิจการในไทย อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่เราพบอยู่บ่อยๆ พี่หนอมสรุปให้ฟังในคอร์สดังนี้
เงินได้ | ประเภทเงินได้ | ผู้รับเงิน | % ที่ต้องหัก |
เงินเดือน | 40(1) | บุคคลธรรมดา | อัตราก้าวหน้า |
ค่าจ้าง (ฟรีแลนซ์) | 40(2) | บุคคลธรรมดา | อัตราก้าวหน้า |
เงินปันผล | 40(4) | บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล | 10% |
ค่าเช่า | 40(5) | บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล | 5% |
ค่าบริการ/จ้างทำของ | 40(7)-(8) | บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล | 3% |
ค่าขนส่ง | 40(8) | บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล | 1% |
ค่าโฆษณา | 40(8) | บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล | 2% |
4. อัตราก้าวหน้า (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
ต่อมา เราขอขยายความคำว่าหัก ณ ที่จ่ายแบบอัตราก้าวหน้ากันสักนิด
ปกติแล้ว เวลาคำนวณภาษีเงินได้บุคคล เราใช้สูตรนี้ค่ะ
เงินได้สุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
จากนั้น เงินได้สุทธิตัวนี้ก็จะไปจ่ายภาษีปลายปีในอัตราก้าวหน้า นี่จึงเป็นที่มาที่ไปว่า กรณีที่บริษัทจ่ายเงินได้ประเภท 40(1) และ 40(2) จะต้องหัก ณ ที่จ่ายในอัตราก้าวหน้าที่มีวิธีคำนวณแบบแอดวานซ์กว่าเงินได้ประเภทอื่นๆ
เงินได้สุทธิ (บาท) | ช่วงเงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี |
150,000 บาทแรก | 150,000 | ยกเว้น |
150,001 – 300,000 | 150,000 | 5 |
300,001 – 500,000 | 200,000 | 10 |
500,001 – 750,000 | 250,000 | 15 |
750,001 – 1,000,000 | 250,000 | 20 |
1,000,001 – 2,000,000 | 1,000,000 | 25 |
2,000,001 – 5,000,000 | 3,000,000 | 30 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | – | 35 |
5. วิธีกรอกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50ทวิ)
ในที่นี้ พี่หนอมได้ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ และวิธีการกรอกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ง่ายๆ มาฝากทุกคนกันค่ะ
- วันที่ 1 สิงหาคม 2565 บริษัท บักหนอม จำกัด ได้รับใบแจ้งหนี้ค่าบริการกำจัดปลวกจากบริษัท กำจัดเก่ง จำกัด จำนวน 32,100 บาท เป็นจำนวนรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
- วันที่ 15 สิงหาคม 2565 บริษัท บักหนอม จำกัด ได้จ่ายชำระเงิน และได้รับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ในวันที่ 20 สิงหาคม 2565
วิธีคำนวณ
- ค่าบริการก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม = 32,100/1.07 =30,000
- อัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย = 3%
- ภาษี หัก ณ ที่จ่าย = 900
ข้อสังเกตง่ายๆ การคำนวณ หัก ณ ที่จ่ายต้องใช้ยอดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มมาคำนวณนะ แปลว่า เราต้องถอด VAT ให้เรียบร้อยตามสูตรข้างบนเสียก่อน
ตัวอย่างหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย และดาวน์โหลดได้ฟรีที่นี่
6. บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี หัก ณ ที่จ่าย
หลายคนอาจจะลืมไปว่านอกจากการหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งแบบภาษี เรายังต้องจัดทำบัญชีพิเศษตามที่สรรพากรกำหนด เพื่อแสดงการหักภาษี หัก ณ ที่จ่ายไว้ให้เรียบร้อยด้วย
บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี หัก ณ ที่จ่าย จะเป็นตารางให้เรากรอกข้อมูลว่าในแต่ละวันมีการหักภาษี หัก ณ ที่จ่ายอย่างไรบ้าง ซึ่งจะแบ่งเป็นหักจากบุคคลธรรมดา และหักจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรอกข้อมูลให้ถูกต้อง สุดท้ายแล้วในแต่ละเดือนเรามีการนำส่งแบบตรงนี้ด้วยแบบอะไร เลขที่ใบเสร็จอะไร จำนวนเงินเป็นเท่าไร
7. สรุปสิ่งควรรู้
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่นักบัญชีควรรู้เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบสั้นๆ
ผู้จ่ายเงิน : จะต้องทำการหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ให้เรียบร้อย ถ้ากฎหมายกำหนด และจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี หัก ณ ที่จ่ายให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน รวมไปถึงยื่นแบบแล้วก็จัดทำบัญชีพิเศษตรงนี้ไว้ให้เรียบร้อยด้วยนะคะ
ผู้รับเงิน : ฝั่งของผู้รับเงินแน่นอนว่าเป็นคนที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย เวลาที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเราย่อมต้องการหนังสือยืนยันการหัก ณ ที่จ่าย อย่าลืมขอหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายให้ครบถ้วนด้วย เพราะไม่ว่าเราจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือว่านิติบุคคล ก็สามารถเอาหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายตรงนี้นำไปเครดิตภาษีเงินได้ ได้ด้วยในตอนปลายปีค่ะ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีที่ง่ายที่สุดถ้าเทียบกับภาษีในธุรกิจทั้งหมดและมีเรื่องของการเครดิตขอคืนภาษีที่เป็นประโยชน์กับนักบัญชีและเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่เราต้องแม่นและทำความเข้าใจก็คือหลักการพื้นฐานตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราจัดการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้องค่ะ
คอร์สความรู้พื้นฐานภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในคอร์สนี้ทุกคนจะเข้าใจทุกประเด็นเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พิเศษ เรียนคอร์สนี้ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเรียน และบัญชีพิเศษไปใช้งานได้ฟรีนะ
เพื่อนๆ ดูตัวอย่าง Highlight คอร์สเรียนนี้ได้ที่นี้เลยค่ะ
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้ที่ link ด้านล่างนี้นะคะ
Withholding tax คิดยังไงบ้าง และคำถามที่พบบ่อย
E-withholding tax คืออะไร ข้อควรรู้ก่อนใช้งาน
ข้อควรรู้ก่อนจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายหัก ณ ที่จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์
หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายต้องเข้าใจอะไรบ้าง ดาวน์โหลดที่นี่
หากเพื่อนๆสนใจอบรมเพิ่มความรู้เรื่องของภาษีในการทำงาน แถมยังเก็บชั่วโมง CPD ได้ด้วย
สอบถามได้ที่นี่ https://www.cpdacademy.co/Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
หรือคลิกดูคอร์สออบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้านที่ลิงค์นี้ได้เลยค่ะ