ความรู้บัญชี

เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เรื่องง่ายที่นักบัญชีเข้าใจผิด

เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคืออะไร เรื่องง่ายที่นักบัญชีมักเข้าใจผิด

บัญชีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เหมือนจะเป็นเรื่องหมูๆ ที่นักบัญชีไม่ค่อยสนใจ เพราะรายการนี้ แม้ไม่ได้เรียนบัญชีก็น่าจะรู้ว่ามันคืออะไร แต่เชื่อมั้ยคะว่า รายการนี้เป็นหนึ่งใน Top-List ที่นักบัญชีเข้าใจผิดอยู่มาก และพอเข้าใจผิดแล้ว การบันทึกบัญชีและแสดงรายการต่างๆ ในงบการเงินก็จะผิดไปเสียหมด

ในวันนี้ CPD Academy อยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องเงินสดกันสักนิด รับรองว่าถ้ารู้แล้วจะช่วยลดข้อผิดพลาดได้เยอะเลยค่ะ

เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคืออะไร

ในที่นี้จะขออธิบายให้ทุกคนเข้าใจแบบละเอียดเลยค่ะ โดยจะแบ่งเป็น 2 คำแบบนี้ 1) เงินสด และ 2) รายการเทียบเท่าเงินสด

2 - CPD Academy
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคืออะไร

1.เงินสด

จะแบ่งออกเป็นเงินสดในมือ และเงินฝากธนาคาร

เงินสดในมือ : สำหรับเงินสดในมือทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนะคะ มันก็คือพวกธนบัตร เหรียญ เงินสดย่อย ธนาณัติ ตั๋วแลกเงินที่ถึงกำหนดชำระ รวมถึงเช็คที่ถึงกำหนดชำระแล้ว

เงินฝากธนาคาร : เงินฝากธนาคารจะแบ่งออกเป็น เงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากออมทรัพย์ โดยทั่วไปจัดเป็นเงินสดของธุรกิจอยู่แล้วนะคะ แต่ในบางครั้งอาจจะไม่ใช่เงินสดเสมอไป เพราะมันอาจจะติดเงื่อนไข เช่น เงื่อนไขในการเบิก – ถอนเงิน

2. รายการเทียบเท่าเงินสด

ถ้าแปลเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆ ก็อาจจะเปรียบเสมือนรายการเงินสดนั่นล่ะ แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบแบงค์ที่เป็นธนบัตรที่อยู่ในกระเป๋าเรา หรือเป็นธนบัตรที่อยู่ในลิ้นชักของธุรกิจ รายการเทียบเท่าเงินสดประกอบด้วยอะไรบ้าง ตัวอย่าง เช่น

เงินฝากประจำแต่ไม่เกิน 3 เดือน

เราอาจจะคิดว่าถ้าเป็นเงินฝากประจำมันไม่น่าจะเป็นเงินสด เพราะมันน่าจะต้องติดเงื่อนไขว่าจะต้องเก็บเอาไว้นานเท่าไรแล้วถึงจะเบิก-ถอนได้ เราก็เลยตัดออกจากเงินสดไปโดยปริยาย

แต่จริงๆ แล้วถ้าลองไปดูระยะเวลาของเงินฝากตัวนี้สมมติว่ามันยังไม่ถึง 3 เดือนและไม่คิดจะฝากต่อ เราก็จัดประเภทเป็นรายการเทียบเท่าเงินสดได้ค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น เงินฝากประจำ ถ้าเราเอาเงิน 1 ล้านบาท ไปฝากประจำ 3 เดือนนะคะ เวลาถอนออกมาเรารู้ว่าเราจะได้เงิน 1 ล้านบาทกลับมาแน่นอน อาจจะมีดอกเบี้ยนิดๆ หน่อยๆ

ตั๋วเงินคลังระยะสั้น ตราสารหนี้ระยะสั้น และตั๋วรับเงินระยะสั้น

เงินลงทุนระยะสั้นมากๆ (แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนเลย) แบบนี้เราต้องดูที่ระยะเวลาว่าสามารถเบิก-ถอนเงิน ออกมาได้ภายในระยะเวลา 3 เดือนหรือเปล่า ถ้าอยู่ใน 3 เดือนแปลว่า มันมีสภาพคล่องสูงนะ แล้วถ้าเป็นเงินลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง หรือว่าเสี่ยงน้อยมากๆ แบบนี้เราต้องจัดเป็นรายการเทียบเท่าเงินสดตามมาตรฐานบัญชีเลยจ้า

แต่ในกรณีหุ้นถึงแม้จะสภาพคล่องสูง ไม่ทราบจำนวนเงินแน่นอน แล้วก็อาจจะมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นมันก็เลยไม่จัดเป็นรายการที่เรียกว่ารายการเทียบเท่าเงินสดค่ะ

4 คำศัพท์ต้องรู้เรื่องเงินสด มีอะไรบ้าง

ในชีวิตประจำวันเรามักมีรายการที่ต้องตัดสินใจอยู่เสมอค่ะ ว่าจะให้รายการเหล่านี้เป็น “เงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด” ดีมั้ยในงบการเงิน

ในวันนี้เราจึงรวบรวมคำศัพท์ 4 คำที่ทำให้นักบัญชีเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ และวิธีการตัดสินใจว่ามันคืออะไรในงบการเงินมาให้ทุกคนเรียนรู้กัน

- CPD Academy
4 คำศัพท์ต้องรู้เรื่องเงินสด

1. เช็คคืออะไร

เช็ค เป็นตัวแทนเงินสด ที่เจ้าของเช็คต้องมีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร และคนได้รับเช็คใบนั้นสามารถนำไปยื่นกับธนาคารเพื่อเบิกเป็นเงินสด หรือนำเงินเข้าบัญชีธนาคารได้

สิ่งที่ต้องสังเกตเกี่ยวกับเช็ค คือ วันที่สั่งจ่าย

  • เช็คถึงกำหนดชำระแล้ว = วันที่ในเช็คจะเป็นวันที่อดีตหรือปัจจุบัน แปลว่า ผู้รับเช็คเอาไปขึ้นเงินได้ทันที รายการนี้ ถือเป็น “เงินสด” ของกิจการ
  • เช็คยังไม่ถึงกำหนดชำระ = วันที่ในเช็คเป็นวันที่ในอนาคต ที่เรามักได้ยินบ่อยๆว่า “เช็คลงวันที่ล่วงหน้า” รายการนี้ห้ามทึกทักเอาเองว่าเป็นเงินสด เพราะผู้รับเช็คยังขึ้นเงินไม่ได้ ปัจจุบันยังถือเป็น “ลูกหนี้” ของกิจการอยู่

และสุดท้ายคำว่า “เช็คเด้ง” ชื่อนี้ไม่เป็นมงคลเอามากๆ มันหมายถึง เช็คที่ถึงกำหนดชำระแล้วแต่พอเอาไปขึ้นเงินดันไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอให้จ่าย แทนที่จะรับรู้เป็น “เงินสด” ก็เลยต้องเด้งกลับไปเป็น “ลูกหนี้” เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ คนรับเช็คอย่างเราต้องไปตามทวงเงินจากเจ้าของเช็คใหม่ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปตามระเบียบ

2. เงิน OD คืออะไร

เงิน OD ย่อมาจาก Over Draft เป็นสินเชื่อที่ธุรกิจได้รับจากธนาคาร แบบให้เบิกเงินเกินบัญชีออกมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจก่อน ส่วนมากจะเกิดจากการสั่งจ่ายเช็คออกไป เช่น มีเงินในบัญชีกระแสเงินสดอยู่ 1 ล้าน และสั่งจ่ายเช็คออกไป 3 ล้าน แปลว่ายอดเงินสดในบัญชีนี้จะติดเครดิตอยู่ 2 ล้าน เงินจำนวนนี้เราจะเรียกว่า “เงิน OD”

ข้อสังเกต เรื่องเงิน OD เราต้องดูว่าลูกค้ามีสัญญาหักกลบกันแบบอัตโนมัติไหม

โดยทั่วไป ถ้าไม่ได้ทำสัญญาหักกลบเงินเบิกเกินบัญชีกับบัญชีออมทรัพย์อื่นๆ ไว้ยอดเงิน OD เราต้องแสดงแยกต่างหากในงบการเงิน เป็น “หนี้สินระยะสั้น” แต่ถ้ามีสัญญาหักกลบระหว่างกันแบบอัตโนมัติจากบัญชีอื่นที่เป็นบวก โดยเจ้าของกิจการไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยส่วนที่ติดเครดิตตรงนี้ รายการนี้อาจนำมารวมกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดได้ ซึ่งเราจะพบไม่บ่อยนัก

3. เงินฝากประจำ

เงินฝากประจำ เป็นเงินฝากที่เราสัญญากับธนาคารไว้ว่าไม่ถอนออกไปจนกว่าจะครบกำหนด เช่น 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน และสิ่งที่เราจะได้จากธนาคารเป็นผลตอบแทนคือ ดอกเบี้ย (อันน้อยนิด) หลังจากครบอายุเงินฝากแล้ว

เมื่อเงินฝากประจำมีระยะเวลาการฝากมาเกี่ยวข้อง มันจึงไม่จัดเป็น “เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด” ทุกๆ บัญชีไป

เราต้องดูระยะเวลาการฝากเงิน ประกอบกับเจตนาของเจ้าของเงินด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • ฝากประจำ ไม่เกิน 3 เดือน = รายการเทียบเท่าเงินสด ถ้าคิดว่าจะฝากไว้เพื่อรอจ่ายในเวลาอันใกล้
  • ฝากประจำ ไม่เกิน 3 เดือน แต่อยากต่ออายุไปเรื่อยๆ = เงินลงทุน เพราะเจ้าของเงินไม่ได้คิดจะเอาไว้ใช้จ่าย แต่เป็นเพื่อลงทุน
  • ฝากประจำ 3 เดือน – 12 เดือน = เงินลงทุนชั่วคราว
  • ฝากประจำนานกว่า 12 เดือน = เงินลงทุนระยะยาว

4. เงินฝากติดภาระ

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเงินฝากเหมือนกัน แต่ข้อแตกต่างของมัน คือ มันมีภาระค้ำประกัน ทำให้เราไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ง่ายๆ เหมือนเงินฝากทั่วไป เพราะถ้าถอนออกมาใช้แล้วจะผิดเงื่อนไขกับธนาคารหรือบุคคลที่ 3 ไปโดยปริยาย

ตัวอย่างเช่น เงินฝากค้ำประกันสัญญาเงินกู้ เงินฝากค้ำประกันการออก LG

เงินฝากจำพวกนี้จะแสดงเป็นสินทรัพย์อื่นในงบการเงิน แบ่งตามช่วงเวลาของข้อจำกัด เช่น

  • เงินฝากติดภาระไม่เกิน 12 เดือน = สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น
  • เงินฝากติดภาระนานกว่า 12 เดือน = สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น

โดยสรุปแล้ว ทั้ง 4 คำนี้ แม้เป็นคำสั้นๆ แต่ไม่ใช่ทุกคำที่จัดเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดตามหลักการบัญชี ฉะนั้น อย่าลืมวิเคราะห์กันดีๆ ก่อนตัดสินใจนะคะ

เงินสดต้องเปิดเผยในงบการเงินยังไง

เวลาที่แสดงรายการเงินสดต่างๆ ในงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินจะต้องแสดงรายการยังไงบ้างให้ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีเป๊ะ เรายกตัวอย่างมาให้ดูนะคะ

2 - CPD Academy
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด

1.เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด

ตัวอย่างหมายเหตุประกอบงบข้อ 3. ตรงนี้เราจะเปิดเผยให้ดูว่าจริงๆ แล้วเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดมันน่าจะประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆ หลายๆ ตัวถูกมั๊ย เพราะคงไม่มีใครฝากแค่เงินออมทรัพย์ ยอดออกมาต้องเท่ากับเงินสดในหน้างบนะคะ แน่นอนต้องมีเงินสดย่อยด้วย หรือว่าเงินสดในมือของธุรกิจนะ บางครั้งก็จะมีเงินฝากกระแสรายวัน มีตั๋วสัญญาใช้รับเงิน ซึ่งเราก็ควรจะเปิดเผยในหมายเหตุแยกประเภทรายการต่อไปนี้ให้มันชัดเจน เพื่อที่ว่าคนอ่านงบมาดูงบก็จะได้เห็นข้อมูลชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะคะ

3 - CPD Academy
สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น 

2.สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น 

ถ้ามีเงื่อนไข หรือข้อจำกัดเกิดขึ้นเราก็จะจัดเป็นประเภทสินทรัพย์อื่น เราจะจัดเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นก็ต่อเมื่อมันเป็นเงินฝากประจำที่ติดภาระค้ำประกันและจะครบกำหนดภายใน 12 เดือน ถ้าอยู่ใน 12 เดือนก็เปิดเผยแบบนี้นะคะ แล้วก็สรุปยอดออกมาซึ่งยอดข้างล่างมันก็จะไปตรงกับหน้างบการเงิน แต่สิ่งที่เราเปิดเผยเพิ่มเติมก็คือเรื่องของเงื่อนไข หรือข้อจำกัดที่มันมีกับเงินฝากเหล่านั้น

4 - CPD Academy
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น

3.สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น

เนื่องจากระยะเวลาของการติดภาระเป็นหลักประกันมากกว่า 12 เดือนมันก็เลยถูกแยกออกมาเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นนะ ในบางครั้งธุรกิจอาจจะมีหลายประเภท เช่น เงินค้ำประกัน หรือเงินฝากธนาคารติดภาระค้ำประกัน เงินสดที่เอาไปวางเป็นค้ำประกันเอาไว้ เงินฝากธนาคารก็คือสมุดบัญชีนั่นแหละแต่ว่ามันติดภาระค้ำประกันอยู่ อันนี้เราต้องแยกประเภทออกมาให้ชัดเจนด้วยนะคะ ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

5 - CPD Academy
เงินเบิกเกินบัญชี

4.เงินเบิกเกินบัญชี

เวลาเปิดเผยในหมายเหตุจะแสดงเงินเบิกเกินบัญชีว่ามีจำนวนเท่าไร แล้วก็ตัวเงินเบิกเกินบัญชีตรงนี้เพิ่มข้อจำกัดเงื่อนไขลงไปด้วยนะคะ ว่าบริษัทมีวงเงินเบิกเกินบัญชีจำนวนเท่าไร แล้วใช้วงเงินไปแล้วเท่าไร มีอัตราดอกเบี้ยเท่าไรนะคะ เพื่อที่คนอ่านงบจะได้รู้ว่า อ๋อ เค้าก็ไม่ได้เบิกเงินเกินบัญชีแบบฟรีๆ สุดท้ายแล้วมันมีภาระที่ต้องจ่ายก็คือดอกเบี้ย อันนี้เป็นข้อมูลสำคัญมากเลยที่เราจะต้องแยกแล้วก็เปิดเผยในหมายเหตุให้ถูกต้องนะคะ

ทุกคนก็พอจะทราบกันแล้วนะคะว่า เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคืออะไร ตามหลักการและมาตรฐานรายงานทางการเงิน  ไม่ว่าจะเป็น 4 ศัพท์ต้องรู้เรื่องเงินสด เช็คคืออะไร เงิน OD คืออะไร เงินเบิกเกินบัญชีอยู่หมวดไหนนะคะ รวมไปถึงเงินสดแต่ละประเภทแสดงในงบการเงินอย่างไร หวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านค่ะ

สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจเรื่องเงินสดให้มากกว่านี้ ลองศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง รายการปรับปรุงเงินสดที่พบบ่อย ได้ที่นี่เลย

อยากทำงบการเงินให้ถูกต้อง ต้องเรียนคอร์สนี้ คอร์สที่เราจะพาทุกคนทำความเข้าใจ เงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือ แบบเจาะลึกว่าแต่ละบัญชีมีเรื่องอะไรที่ต้องรู้บ้าง

เพื่อนๆ สามารถไปศึกษาความรู้เกี่ยวกับ เงินสด เพิ่มเติมได้ link อยู่ด้านล่างแล้วนะคะ

เงินสดคืออะไร? | รู้จักเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด EP.1

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า