การจด VAT ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบ เช่น รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้าน หรือคนที่เลิกทำธุรกิจนี้มานานแล้ว แต่ยังต้องนำส่ง VAT อยู่ทุกเดือน เป็นภาระที่วุ่นวาย ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนอยากบอกลา VAT เสียเต็มทน แต่ถ้าเพื่อนๆ ลอง Search ดูในโซเชียลก็อาจจะตกใจเพราะมีแต่คนบ่นว่าการยกเลิก VAT นั้นมันยากแบบสุดๆ ไปเลย
แล้วแบบนี้ผู้ประกอบการจะต้องทำยังไง ถึงจะหลุดออกจากวงจร VAT นี่ออกมาได้ บทความนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ยกเลิกจด VAT มีขั้นตอนยังไงบ้าง” มาฝากเจ้าของกิจการที่กำลังเจอปัญหานี้กันค่ะ
ยกเลิกจด VAT คืออะไร
การยกเลิกจดVAT หมายถึง การที่กิจการที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท รวมทั้งกิจการที่ได้รับการยกเว้นจด VAT แจ้งออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร เพื่อไม่ต้องยื่นรายการภาษี และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไปค่ะ
การยกเลิกจดVAT ให้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เพราะด้วยขั้นตอนเอย เงื่อนไขเอย หรืออะไรเอย ใช้เวลาดำเนินการนานมากกกกกก (ก.ไก่ล้านตัว) จริง ๆ ค่ะ แต่ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการที่ต้องการจะยกเลิกจดVAT จริง ๆ สามารถเลือกดำเนินการได้ 2 กรณีค่ะ
- จดเลิก VAT คือ การจดเลิกหรือปิดกิจการ VAT ไปเลย ไม่ต้องการดำเนินกิจการอีกต่อไป โดยจะต้องยื่นแบบขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกกิจการ
- จดถอน VAT คือ ยังคงทำกิจการอยู่ แต่แค่อยากออกจากระบบ VAT ให้ยื่นแบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.08) โดยที่กิจการต้องอยู่ในเงื่อนไขการถอน VAT ด้วย

เงื่อนไขการจดถอน VAT เป็นอย่างไรบ้าง
กรณีการจดถอน VAT สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ยังทำกิจการเดิมอยู่ แต่อยากออกจากระบบ VAT จะต้องเข้าเงื่อนไขตามที่มาตรา 85/10 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ นั่นก็คือ
- กิจการที่จด VAT จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี
- กิจการที่ได้รับยกเว้น แต่ขอจด VAT โดยสมัครใจ จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
- เข้าใจผิด จด VAT โดยไม่ได้ตั้งใจ
หากกิจการจด VAT ของตัวเองเข้าเงื่อนไขตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้ผู้ประกอบการยื่นแบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแบบ ภ.พ.08 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ จะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับอนุมัติการถอน VAT ก่อนนะคะ

ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้วว่า การขอยกเลิกจดVAT แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ซึ่งจะมีขั้นตอน และเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน เอกสารที่ใช้ยื่นเรื่องนั้นจึงต่างกันด้วยค่ะ แต่ละกรณีจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีรายละเอียดตามด้านล่างนี้
จดเลิก VAT ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
- แบบขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) ระบุว่าเลิกประกอบกิจการ จำนวน 3 ฉบับ
- ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)
- สำเนาแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมใบเสร็จรับเงินปีล่าสุด
- สำเนาแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) พร้อมใบเสร็จรับเงินชำระภาษี
- หนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ ฉบับแจ้งเลิกกิจการ
- งบการเงินปีล่าสุด หรืองบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ
- เอกสารอื่น ๆ กรณีเจ้าหน้าที่สรรพากรขอเพิ่มเติม
ส่วนนี้แนะนำให้โทรสอบถามหน่วยงานในพื้นที่ว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ บอกใบ้ให้นิดนึงว่า คนที่อยากจดเลิกบริษัทพร้อมยกเลิก VAT นั้น ขั้นตอนนี้ล่ะ ล่าช้าและยาวนานสุดๆ ถ้าที่ผ่านมา เอกสารไม่พร้อม บัญชีและภาษีไม่เรียบร้อย เตรียมตัวขึ้นเขียงกันไว้ให้ดีๆ เลยค่ะ

จดถอน VAT ต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง?
ส่วนการจดถอน VAT ไม่ได้จะเลิกกิจการ แต่แค่ต้องการออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะต้องกรอกเอกสารที่เรียกว่า “แบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.08)” พร้อมกับระบุข้อมูลให้ครบถ้วน ได้แก่
1.เดิมทีจด VAT เพราะอะไร?
2.ทำไมขอถอน VAT?
โดยมีให้เลือกชี้แจง 3 หัวข้อ ได้แก่
- เป็นผู้ประกอบการที่ก่อนขอถอนทะเบียนกิจการมีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) ต่ำกว่า 1,800,000 บาท เปนเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี
- เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก่อนขอถอนทะเบียนกิจการมีมูลค่า ของฐานภาษี (รายรับ) ต่ำกว่า 1,800,000 บาท เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
- เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนโดยเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย
3. ข้อมูลเพิ่มเติม ณ วันขอถอน VAT ได้แก่
- รายรับที่ยังมิได้ชำระภาษี
- สินค้าคงเหลือตามราคาตลาด
- เครื่องจักรตามราคาตลาด
- ทรัพย์สินอื่นตามราคาตลาด
- ลูกหนี้ (เฉพาะที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- เจ้าหนี้

เอกสารด้านบนเป็นเพียงแค่เบื้องต้นที่เราต้องมีเท่านั้น เมื่อไปยื่นถอน VAT จริง พี่สรรพากรน่าจะขอตรวจเพิ่มเติมตามความจำเป็นนะคะ (นี่แค่เบื้องต้น ก็หนาวแล้วใช่ไหม อิอิ)
ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจะยื่นเรื่องขอยกเลิกจดVAT ด้วยกรณีไหนก็ตาม ก่อนจะยื่นส่งเอกสารเหล่านี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการเคลียร์บัญชีคงค้าง เช่น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ เงินกู้ยืม สินค้า และสินทรัพย์อื่น ๆ ให้เรียบร้อย และยื่นภาษีที่ขาดตกให้ครบถ้วน หากยังไม่ครบก็ไปชำระให้เรียบร้อยนะคะ เพราะว่าเราต้องถูกตรวจสอบโดยสรรพากร แม้จะไม่เต็มใจก็ตามค่ะ
ติดต่อใครดี?
เตรียมเอกสารเสร็จเรียบร้อยกันแล้ว ผู้ประกอบการหลายคนคงจะสงสัยกันใช่ไหมคะว่าจะต้องติดต่อใคร ในกระบวนการยกเลิกจด VAT เราจะต้องยื่นเอกสารต่าง ๆ กับกรมสรรพากร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเพิกถอนรายชื่อกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากระบบค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้จดทะเบียนไว้
เมื่อได้ยื่นเอกสารขอยกเลิกจด VAT เรียบร้อยแล้ว กระบวนการนี้จะถือว่ายังไม่ได้ออกจากระบบ VAT นะคะ จนกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึงจะเป็นการยกเลิกจด VAT กับกรมสรรพากรได้สำเร็จ และไม่ใช่กิจการที่จด VAT อีกต่อไปค่ะ ดังนั้น ถ้ายังไม่ได้รับหนังสือขีดชื่อผู้ประกอบการจด VAT ออก เรายังมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 อยู่ทุกเดือนนะคะ

ข้อควรระวังสำหรับคนที่กำลังจด VAT
เอ๊ะ! ใครกำลังจะจด VAT ถ้ายังไม่ได้อ่านบทความนี้ อย่าเพิ่งลงมือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกันนะคะ ไม่อย่างนั้น อาจจะเผลอสร้างภาระให้กับกิจการของตัวเองแบบไม่รู้ตัวได้ค่ะ
สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องระวังก็คือ การจดทะเบียนบริษัท กับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคนละอย่างกัน ซึ่งหากจะเปิดกิจการใด ๆ อันนี้ต้องจดทะเบียนบริษัทตามกฎหมายอยู่แล้วค่ะ
ส่วนจะต้องจดหรือไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีข้อควรพิจารณาก็คือ
- ไม่เคยมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีเลย
- เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้น VAT
หากกิจการเข้าข่าย 1 ใน 2 ข้อนี้ แนะนำว่าอย่าเพิ่งวู่วามไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ศึกษาให้ดีก่อน เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับนั่นเองจ้า
สรุป
จะเห็นได้ว่า การยกเลิกจด VAT ทั้งกรณีขอเลิก VAT และ กรณีขอถอน VAT ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการให้สำเร็จภายในเร็ววัน เพราะต้องทำตามขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน และเข้าเงื่อนไขที่กำหนด อีกทั้งจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรให้ครบถ้วนด้วย ถึงจะเป็นการยกเลิกจด VAT อย่างสมบูรณ์นั่นเองจ้า
แนะนำบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นภาษี (คลิกที่นี่)
สำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำเลือกดูคอร์สเกี่ยวกับภาษีต่างๆได้ตามลิงค์นี้เลยค่ะ คอร์สภาษีแนะนำ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy