ภาษี

รายการปรับปรุงทางภาษีคืออะไร มีอะไรบ้างต้องปรับปรุง

รายการปรับปรุงทางภาษีคืออะไร มีอะไรบ้างต้องปรับปรุง

มาถึงฤดูกาลแห่งการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลกันแล้วค่ะเพื่อนๆ นักบัญชีคนไหนที่ได้รับหน้าที่ในการคำนวณภาษีประจำปีของกิจการก็คงจะมีเรื่องปวดหัวและงานที่เพิ่มขึ้นมาจากงานบัญชีอย่างแน่นอน ในระหว่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เราเชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “รายการปรับปรุงทางภาษี” แต่เคยสงสัยไหมว่า รายการปรับปรุงทางภาษีคืออะไร มีอะไรบ้าง ในวันนี้พวกเราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องรายการปรับปรุงทางภาษีทุกซอกทุกมุม พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ เพื่อให้เพื่อนๆ เอาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานนะคะ

รายการปรับปรุงทางภาษีคืออะไร

รายการปรับปรุงทางภาษี คือ  รายการที่เป็นรายได้หรือค่าใช้จ่าย ที่กฏหมายภาษีกำหนดให้ใช้สิทธิได้เพิ่ม และไม่ให้ใช้สิทธิทางภาษี ดังนั้น ตอนที่คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงจำเป็นต้องปรับปรุงกำไรทางบัญชี (ในสมุดบัญชี) ให้เป็นกำไรทางภาษี เพื่อที่จะคำนวณภาษีที่ต้องชำระได้อย่างถูกต้อง

ก่อนอื่น ทำความเข้าใจแบบง่ายๆ กันก่อนนะคะว่า รายการปรับปรุงทางภาษีแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • รายการที่เป็นรายได้ทางภาษี
  • รายการที่ไม่ใช่รายได้ทางภาษี
  • ค่าใช้จ่ายต้องห้าม
  • ค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่ม
รายการปรับปรุงทางภาษี

ทำไมต้องปรับปรุงรายการ

เพื่อนๆสงสัยไหมคะ ว่าทำไมต้องมีรายการปรับปรุงทางภาษีด้วย ทำไมทำงบการเงินมาแล้วอย่างเหนื่อย แต่ตัวเลขกลับต้องมาทำรายการปรับปรุงเพิ่มเติม ทำไมกันนะ

วิชาชีพของเรา ต้องเกี่ยวข้องอยู่กับ 3 องค์กร
1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2. กรมสรรพากร

ซึ่งหน้าที่ของแต่ละองค์กร ก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป และก็มีข้อกฏหมายที่ต้องปฏิบัติตามไม่เหมือนกัน

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำหน้าที่กำกับดูแลการนำส่งงบการเงินที่จัดทำตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน (มาตรฐานบัญชี)
  • กรมสรรพากร ทำหน้าที่กำกับดูแลการนำส่งภาษี ตามประมวลรัษฎากร


เมื่อทั้ง 2 องค์กรยึดถือกฏหมายไม่เหมือนกัน ก็จะมีข้อแตกต่างบางข้อ ที่ต้องเกิดเป็นรายการปรับปรุงระหว่างทางบัญชี (จากงบการเงิน) ให้เป็นตัวเลขทางภาษี (เพื่อยื่นภาษีกรมสรรพากร) นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น
งบการเงิน ต้องนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แสดงมูลค่าเป็น กำไรสุทธิทางบัญชี
ภ.ง.ด.50 ต้องนำส่งกรมสรรพากร ต้องแสดงมูลค่าเป็น กำไรสุทธิทางภาษี
เราก็ต้องตั้งต้นด้วยงบการเงินที่เรามี คือ
กำไรสุทธิทางบัญชี  ปรับปรุงด้วย “รายการปรับปรุงทางภาษี” จะได้เท่ากับ กำไรสุทธิทางภาษี นั่นเอง

ตัวอย่าง 4 รายการปรับปรุงทางภาษีคืออะไร

รายการปรับปรุงทางภาษีทั้ง 4 รายการที่เราเคยเกริ่นไป ความหมายแท้จริงมันคืออะไร และมีตัวอย่างอะไรบ้างที่น่าจะเจอบ่อยๆ ลองมาดูรายละเอียดกันเลย

ตัวอย่างรายการปรับปรุงทางภาษี
ตัวอย่างรายการปรับปรุงทางภาษี

1. รายได้ทางภาษีมีอะไรบ้าง

รายได้ทางภาษี คือ รายได้ของกิจการที่ต้องนำไปรวมในการคำนวณภาษี

ยกตัวอย่างเช่น การคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ในทางบัญชีไม่ได้สนใจสิ่งนี้ แต่ในทางภาษีเราต้องบวกเพิ่มเข้าไปเป็นรายได้ทางภาษีด้วย

ลองมาดูคำอธิบายง่ายๆ เรื่องรายได้ทางภาษีกับประเด็นที่ต้องระมัดระวังกันค่ะ

2. รายได้ที่ได้รับยกเว้นทางภาษีมีอะไรบ้าง

รายได้ที่ได้รับยกเว้นทางภาษี คือ รายได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นเงินได้ให้กับกิจการตามที่กฏหมายประกาศและบังคับใช้แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลิตผล หรือการให้บริการตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม ไม่เกินปริมาณการผลิตต่อปี หรือไม่เกินขนาดของกิจการที่ให้บริการตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม (BOI) หรือ เงินปันผลจากบริษัท เป็นต้น

3. ค่าใช้จ่ายทางภาษีที่หักได้เพิ่มมีอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายทางภาษีที่หักได้เพิ่ม คือ ค่าใช้จ่ายที่กฏหมายประกาศและบังคับใช้แล้ว เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้เพิ่ม ที่เกิดขึ้นในกิจการ

ยกตัวอย่างเช่น เงินบริจาค ค่าจ้างแรงงาน และก็ยังมีอื่นๆอีกเยอะเลยค่ะ แต่ว่าในแต่ละปีก็จะมีประกาศเพิ่มว่าสามารถใช้สิทธิอะไรเพิ่มได้บ้าง เช่น ค่าซื้อชุดตรวจ ATK ของกิจการ เป็นต้น

4. ค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษีมีอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คือ ค่าใช้จ่ายของกิจการที่ไม่สามารถนำมารวมคำนวณภาษีได้

ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ

สรุปอีกครั้งรายการปรับปรุงทั้ง 4 ตัวคืออะไร ลองดูคลิปนี้เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นได้เลย

เมื่อทราบทั้งเกี่ยวกับรายการปรับปรุงทั้ง 4 ข้อแล้ว จะมีอยู่ 2 ข้อนะคะ ที่ถ้าเราไม่ทันได้ระวัง จะทำให้เราเสียภาษีไม่ครบ และถ้าหากถูกสรรพากรตรวจสอบ ก็อาจจะโดนเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มได้ นั่นคือ

รายได้ทางภาษี และ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม


ทำไมต้องระวัง ไปดูตามตารางกันค่ะ ว่ามีผลกระทบอย่างไร

รายการปรับปรุงกำไรทางบัญชีกำไรทางภาษีผลต่างภาษีความเสี่ยง
รายได้ทางภาษีไม่บันทึกรายได้เพิ่มขึ้นภาษีเพิ่มขึ้นมี
ค่าใช้จ่ายต้องห้ามบันทึกค่าใช้จ่ายลดลงภาษีเพิ่มขึ้นมี
ไม่ใช่รายได้ทางภาษีบันทึกรายได้ลดลงภาษีน้อยลง
ค่าใช้จ่ายหักเพิ่มได้ไม่บันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นภาษีน้อยลง

การที่เราไม่ปรับปรุงรายการ 2 รายการดังกล่าว ทำให้เราเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง แบบนี้ทำให้พี่สรรพากรไม่ปลื้มอย่างแน่นอนค่ะ สองรายการนี้จึงเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ

ตัวอย่างวิธีการปรับปรุง

เมื่อเราปิดงบการเงินแล้ว ก็ต้องคำนวณหาภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ เพื่อนำไปลงบัญชีให้ถูกต้อง เมื่อพิจารณารายการแล้ว พบว่าบัญชีของเรา มีรายการปรับปรุงทางภาษี จะต้องปรับปรุงอย่างไร มาดูกัน

งบทดลองทางบัญชี
รายได้หักค่าใช้จ่าย= กำไรสุทธิทางบัญชี
ปรับปรุงรายการทางภาษี
+ รายได้ทางภาษี
– ไม่ใช่รายได้ทางภาษี
ปรับปรุงรายการทางภาษี
+ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม
– ค่าใช้จ่ายหักเพิ่มได้
รายได้ หลังปรับปรุงหักค่าใช้จ่ายหลังปรับปรุง= กำไรสุทธิทางภาษี
อัตราภาษีx 20%
= ภาษีที่ต้องชำระ
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ตารางด้านบนเป็นตัวอย่างการปรับปรุงที่คำนวณแยกระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย จากนั้นปรับปรุงแยกกันไปเลย

แต่ส่วนใหญ่แล้วที่นิยมทำกันเราจะข้ามขั้น โดยตั้งต้นจากกำไรทางบัญชีแบบนี้ค่ะ

ตัวอย่างวิธีการปรับปรุง
ตัวอย่างวิธีการปรับปรุง

ก่อนที่จะจัดทำงบการเงินได้สำเร็จ เราก็ต้องคำนวณภาษีให้ได้ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกต้องและนำไปบันทึกบัญชี เพื่อทำการปิดงบการเงินให้สมบูรณ์ ขั้นตอนของการปรับปรุงรายการทางภาษีนั้น จึงสำคัญมาก เนื่องจากมีผลต่อตัวเลขภาษีที่ต้องส่งกรมสรรพกร และงบการเงินที่ต้องส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเลยค่ะ เพราะฉะนั้นเราจึงหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักบัญชีทุกท่านนะคะ

ถ้าหากเพื่อนอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ขอแนะนำคอร์สเรียน ภาษีเงินได้นิติบุคคล ความรู้เบื้องต้นและประเด็นที่น่าสนใจ นี้เลยค่ะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่นี่
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า