อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ธุรกิจที่มีรายได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่ในบางกรณีที่ธุรกิจบางประเภทมีรายได้ต่อปีที่เยอะมาก แต่กลับไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าซะงั้น นั่นอาจทำให้หลายคนงงได้ เพราะเหตุนี้ก็เลยมีบทความดี ๆ เกี่ยวกับ “ยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ไม่ออกใบกำกับภาษี เพราะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีจริงหรือ ?” มาไขข้อสงสัยให้กับทุกคนกันค่ะ
ใครบ้างต้องจด VAT
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า ใครบ้างที่ต้องจด VAT
โดยปกติแล้วผู้ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้น ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้
1. รายรับหรือรายได้จากการขายหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาท
2. เตรียมที่จะขายหรือให้บริการ มีแผนงาน ซื้อสินค้า หรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสีย VAT
3. ผู้ประกอบการต่างประเทศ มีตัวแทนในไทย ต้องรับผิดชอบจด VAT
หากเข้าข่ายที่จะต้องจด VAT ต้องจดภายใน 30 วัน นับจากที่มีรายรับเกินที่กำหนด หรือภายใน 6 เดือน ก่อนเริ่มประกอบกิจการ หากมีสัญญาให้พิจารณาตามความเหมาะสม
ทำไมซื้อของแล้วไม่ได้ใบกำกับภาษี ทั้งที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ?
เคยสังเกตไหมคะ เวลาทุกคนไปซื้อสินค้า หรือใช้บริการที่ร้าน ๆ หนึ่ง และเมื่อชำระราคาเสร็จแล้ว ทางร้านจะมีใบกำกับภาษีมาให้ ไม่ว่าจะเป็นใบแบบเต็มรูป หรือแบบอย่างย่อก็ตาม ซึ่งนั่นหมายความว่า ร้านนั้นเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท จึงสามารถออกใบกำกับภาษีมาได้
ในทางกลับกัน ก็มีบางกรณีที่หลายคนไปซื้อสินค้า หรือใช้บริการอีกร้านหนึ่ง เมื่อจ่ายเงินเสร็จแล้ว ร้านกลับไม่ออกใบกำกับภาษีให้ อาจมีความเป็นไปได้ว่าร้านนั้นไม่ได้จดทะเบียน VAT ค่ะ (แม้ว่าพวกเค้าจะมีรายได้ทะลุเป้า 1.8 ล้านบาทแล้วก็ตาม)
ถ้าหากได้ศึกษาจากประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 81 ก็จะพบว่ามีธุรกิจบางหมวดหมู่ที่ได้รับการยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่าไม่ต้องจด VAT และชาร์ต 7% จากลูกค้าไปจ่ายสรรพากรนั่นแหละ
เมื่อได้รู้แบบนั้นแล้ว หลายคนอาจตั้งคำถามกันว่า ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายมีหมวดหมู่ไหนบ้าง เราจะได้รู้คำตอบในหัวข้อถัดไปกันค่ะ
ธุรกิจยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีอะไรบ้าง?
ธุรกิจที่ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 มีดังต่อไปนี้
(1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการดังต่อไปนี้
(ก) การขายพืชผลทางการเกษตร
(ข) การขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิตไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์
(ค) การขายปุ๋ย
(ง) การขายปลาป่น อาหารสัตว์
(จ) การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
(ฉ) การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
(ช) การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
(ซ) การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
(ฌ) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น
(ญ) การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(ฎ) การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ทั้งนี้ ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
(ฏ) การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
(ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
(ฑ) การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
(ฒ) การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ ทั้งนี้ เฉพาะบริการในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
(ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
(ด) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล
(ต) การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
(ถ) การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
(ท) การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
(ธ) การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
ธุรกิจยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จด VAT ได้มีอะไรบ้าง?
ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้น VAT ตามกฎหมาย แต่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
- การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ออกกำกับภาษี ผิดกฎหมายไหม ?
เป็นอีกหนึ่งกรณีที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวันค่ะ แต่จะผิดกฎหมายไหม เราจะต้องพิจารณากันก่อนว่า บริษัทที่ได้รับการยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่?
หากได้ขอจดทะเบียนและได้รับการอนุมัติแล้วเรียบร้อย จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 นั่นหมายความว่ามีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อ หรือผู้ใช้บริการได้เลย
ในทางกลับกัน บริษัทที่ได้รับการยกเว้น VAT นั้น ไม่ได้ขอจดทะเบียน VAT แต่ดันออกใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อ หรือผู้ใช้บริการ การกระทำนี้ถือเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ์ตามมาตรา 86/13 แบบนี้จะผิดกฎหมายค่ะ หากผู้ประกอบการฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาทเลยค่ะ
เพียงแต่กรณีนี้เท่านั้นค่ะ ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่รับรายได้มา 2 ทาง ซึ่งจะสามารถทำได้ไหม และมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ จะขออธิบายในหัวข้อต่อไปด้านล่างนี้ในทุกคนกันค่ะ
มีรายได้ที่ได้รับยกเว้น VAT และรายได้ที่ต้องเสีย VAT พร้อมกัน 2 ทางได้ไหม ?
ตามหลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีรายได้ทั้งหมด 2 แบบ นั่นคือ รายได้ที่ได้รับการยกเว้น VAT (NON-VAT) หมายถึง รายได้ซึ่งมาจากแหล่งรายได้ที่ยกเว้น VAT และรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็คือรายได้ที่มาจากธุรกิจที่ต้องเสีย VAT ค่ะ
อย่างในกรณีที่ผู้ประกอบการมีรายได้ที่ได้รับการยกเว้น VAT และรายได้ที่ต้องเสีย VAT ทั้ง 2 ทาง โดยปกติสามารถทำได้ค่ะ แต่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไหมนั้น ขึ้นอยู่กับว่ารายได้ของบริษัทที่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีนั้น เป็นรายได้ทางไหน โดยมีวิธีการพิจารณาการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามตารางด้านล่างนี้ค่ะ
รายได้ที่ต้องเสีย VAT | รายได้ที่ยกเว้น VAT | การเสียภาษี VAT |
มากกว่า 1.8 ล้านบาท | น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท | ต้องจดทะเบียน VAT และ ต้องยื่นภาษี VAT ทุกเดือน |
น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท | มากกว่า 1.8 ล้านบาท | จะจดทะเบียน VAT หรือ ไม่จดก็ได้ |
ยกตัวอย่างสถานการณ์
นาย A เป็นผู้ประกอบการ บริษัท บริหารดีมีชัย จำกัด ประกอบกิจการห้องสมุด ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มีรายได้ปีละ 2.5 ล้านบาท และกิจการขายอาหารเพื่อสุขภาพมีหน้าร้านอยู่หน้าสมุด ซึ่งอยู่ในบริษัทเดียวกันที่ต้องเสียภาษี มีรายได้ปีละ 2 ล้านบาท ดังนั้น นาย A ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนตามกฎหมาย เนื่องจากรายได้ที่ต้องเสีย VAT มียอดเกิน 1.8 ล้านบาท โดยไม่ต้องนับยอดของรายได้ที่ยกเว้น VAT นั่นเองค่ะ
วิธีเช็กร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
หลายคนอาจสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าร้านค้าแห่งนี้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ มีวิธีตรวจสอบร้านค้าอยู่ค่ะทุกคน โดยในบทความนี้จะขอนำเสนอทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่
- มองหาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.20) ที่แขวนอยู่ในร้านค้า ซึ่งเป็นเอกสารแสดงว่าธุรกิจนี้ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ก่อนที่จะได้มาเป็น แบบ ภ.พ.20 ต้องดำเนินการยังไงบ้าง ดูที่นี่เลย - ค้นหาข้อมูลของร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยสามารถค้นหาโดยใช้ชื่อผู้ประกอบการ เลขผู้เสียภาษี 13 หลัก หรือกรณีที่เป็นบริษัทนิติบุคคล ก็ใช้เลขนิติบุคคล ทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลอื่น ๆ ในการค้นหาได้อีกด้วย
หรือดูวิธีเช็กที่บทความนี้เลย วิธีการตรวจสอบผู้ประกอบการรายชื่อ Vat ถ้าไม่เช็กกระทบอะไรบ้าง
สรุป
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะได้คำตอบเกี่ยวกับธุรกิจที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกลับไปนะคะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีบางธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และเมื่อธุรกิจนั้นมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท ก็สามารถเลือกได้ว่าจะจดหรือไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอเสียภาษี VAT ตามกฎหมายนั่นเองค่ะ
สำหรับธุรกิจของใครที่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลองกลับไปตรวจสอบเงื่อนไขอีกครั้งว่าธุรกิจตัวเองเป็นธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น VAT หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ใช่ อย่าลืมไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เรียบร้อยกันนะคะทุกคน
และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม มากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งระบบ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy