นักบัญชีน่าจะได้รับคำถามจากเจ้าของธุรกิจบ่อยๆ ว่าควรจดทะเบียน VAT หรือไม่? จดแล้วต้องทำอย่างไร หรือว่ามีเรื่องอะไรที่แตกต่างจากการไม่จด VAT บ้าง
บทความนี้จะพาทุกคนมาเจาะลึกเรื่อง จด VAT กับไม่จด VAT ต่างกันอย่างไร รับรองว่าหลังจากอ่านจบ ทุกคนจะมองเห็นภาพรวมของระบบ VAT ได้ชัดเจนขึ้นแน่นอนค่ะ
กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องทำอะไรบ้าง?
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ การเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสืบเนื่องจากเราเป็นธุรกิจไม่ได้รับยกเว้น VAT และอาจมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
เมื่อจด VAT แล้ว ธุรกิจมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้
1. ออกใบกำกับภาษีขายทุกครั้ง เมื่อขายสินค้าและให้บริการ
หลังจากที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ในทุกครั้งที่ขายสินค้าและให้บริการ จะต้องออกใบกำกับภาษีขายให้แก่ลูกค้า ซึ่งใบกำกับภาษีนี้ จะเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าธุรกิจได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าแล้วนั่นเอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี
1. เมื่อขายสินค้า เป็นการเก็บภาษีขาย ที่ผู้ประกอบการต้องออกให้กับลูกค้าทุกครั้งที่ขายสินค้าหรือให้บริการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ แสดงรายละเอียดการขาย และใช้เป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษี
2. เมื่อซื้อสินค้า ผู้ขายจะออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อ เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนิติบุคคล ใบกำกับภาษีซื้อนี้มีบทบาทสำคัญในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถนำไปเคลมภาษีมูลค่าเพิ่มได้
2. จัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย
กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเป็นต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ และภาษีขายเป็นประจำทุกเดือน เพื่อสรุปยอดภาษีที่ต้องจ่าย หรือได้รับคืนจากกรมสรรพากร ซึ่งรายงานนี้จะต้องมีความถูกต้อง และครบถ้วนค่ะ โดยจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. รายงานภาษีซื้อ คือ รายการแสดงจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่กิจการได้จ่ายไปเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการรายอื่นที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเป็นต้องทำทุกครั้ง ซึ่งหากเดือนไหนไม่สามารถลงรายการได้ สามารถนำมาลงในเดือนถัดไปได้ แต่ทั้งนี้ห้ามลงย้อนหลังเกิน 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับนั้น ๆ ค่ะ
2. รายงานภาษีขาย คือ รายการแสดงจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่กิจการเรียกเก็บจากลูกค้าเมื่อขายสินค้าหรือบริการในทุกครั้ง และจำเป็นต้องยื่นให้ตรงกับเดือนที่ออกด้วยค่ะ
3. จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
นอกจากรายงานภาษีแล้ว กิจการยังต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสินค้าคงคลัง และวัตถุดิบภายในธุรกิจ โดยจะบันทึกข้อมูลการรับเข้า การจ่ายออก และปริมาณสินค้าคงเหลือในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องตามที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษีหรือไม่ ทั้งนี้หากรายการไม่ตรงกันอาจถูกสรรพกรประเมินได้ว่า กิจการยื่นแบบไม่ถูกต้อง ได้
4. ยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบแนบ แบบแสดงรายการ
กิจการที่จดทะเบียน VAT ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับใบแนบ และแบบแสดงรายการที่เกี่ยวข้องทุกเดือน ซึ่งเป็นการรายงานยอดขาย ยอดซื้อ และภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน การยื่นแบบที่ถูกต้อง และตรงเวลาจะช่วยลดปัญหากับกรมสรรพากรในภายหลัง โดยที่ทุกเดือน จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมใบแนบ และแบบแสดงรายการต่า งๆ เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรค่ะ โดยแบบกระดาษ ต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือแบบออนไลน์ ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอาจดูซับซ้อนในช่วงแรก แต่เมื่อเข้าใจขั้นตอน และปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง การดำเนินกิจการก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น และสอดคล้องกับกฎหมายภาษีที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนค่ะ
สำหรับกิจการที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากกิจการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีข้อจำกัดบางอย่างที่จำเป็นต้องรู้ ดังนี้
1. ไม่มีสิทธิเรียกเก็บ Vat เวลาขายสินค้าหรือบริการ
กิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บ VAT 7% จากลูกค้าเมื่อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งหมายความว่า คุณจะไม่สามารถเพิ่มภาระภาษีนี้ให้กับลูกค้าได้ และลูกค้าก็จะไม่ได้รับใบกำกับภาษีที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ค่ะ
2. เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการก็จะต้องจ่าย VAT แต่จะเคลมภาษีซื้อไม่ได้
แม้ว่ากิจการของคุณจะไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่คุณยังคงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ขายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ดี แต่เมื่อได้รับใบกำกับภาษีจากร้านค้าแล้ว เราจะไม่สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระนี้มาหักลบกับภาษีที่ต้องจ่ายได้ (เคลมภาษีซื้อไม่ได้) เนื่องจากคุณไม่ได้เป็นผู้จดทะเบียน VAT ค่ะ
แม้ว่ากิจการที่ไม่จดทะเบียน VAT ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 และไม่ต้องทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย แต่ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ตามปกตินะคะ ดังนั้นการเข้าใจข้อจำกัดเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินกิจการได้ค่ะ
สรุป การจด VAT กับไม่จด VAT ต่างกันอย่างไร ?
การตัดสินใจว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยผู้ประกอบการที่จด VAT จะมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า และสามารถนำภาษีซื้อไปหักลดภาษีได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการออกใบกำกับภาษี และยื่นแบบแสดงรายการภาษี
ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่จด VAT จะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการขายสินค้าและบริการ แต่ก็จะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าได้ และไม่สามารถนำภาษีซื้อไปหักลดภาษีได้ค่ะ
การเลือกจดหรือไม่จด VAT ควรพิจารณาจากขนาดธุรกิจ ประเภทของสินค้าหรือบริการที่จำหน่าย รายได้ของธุรกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจะช่วยให้เจ้าของกิจการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นค่ะ
สำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม มากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลย รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งระบบ
แนะนำบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นภาษี (คลิกที่นี่)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy