ภาษี

จ่ายค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่ มีเงื่อนไขยังไงบ้าง 

จ่ายค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่ มีเงื่อนไขยังไงบ้าง 

CPD Academy มักได้รับคำถามจากนักบัญชีบ่อยๆ ค่ะ ว่า ค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายยังไง จำเป็นต้องหัก ณ ที่จ่ายไหม หรือยอดไม่ถึง 1,000 บาท ทำไมบางคนบอกว่าต้องหัก ณ ที่จ่าย

เดี๋ยววันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกัน ว่าเวลาจ่ายค่าบริการเราต้องเช็คอะไร หัก ณ ที่จ่ายไหม มีเทคนิคอะไรต้องรู้บ้าง มาดูกันเลย!

การหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร?

ก่อนอื่นเรามาปูพื้นฐานเรื่องการหัก ณ ที่จ่ายกันก่อน บางคนอาจจะรู้จักแบบผิวเผิน ไม่ได้รู้ถึงขั้นรายละเอียดว่าการหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร

การหัก ณ ที่จ่าย ชื่อเต็มของเค้า คือ “ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” เป็นหนึ่งในกฎหมายที่กำหนดโดยสรรพากร กฎหมายที่ว่าเกี่ยวข้องกับหลายมาตราด้วยกัน แต่สำหรับวันนี้เราจะมาพูดถึงค่าบริการ ซึ่งจะอ้างอิงข้อกฎหมายจาก มาตรา 3 เตรส และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เป็นหลัก ที่มีใจความสำคัญว่า

“ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ มาตรา 40  ซึ่งเข้าเงื่อนไขของการหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงิน มีหน้าที่หักเงินค่าภาษี และนำส่งต่อกรมสรรพากร” 

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528

สำหรับผู้รับเงิน เงินที่ถูกหักไป จะถือเป็นการภาษีจ่ายล่วงหน้า ซึ่งสามารถนำมาหักลบกับการเสียภาษีตอนสิ้นปีได้ ซึ่งผู้รับเงินจะได้รับหลักฐานการหัก ณ ที่จ่าย คือ “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ

จ่ายเงินเท่าไหร่ถึงต้องหัก ณ ที่จ่าย 

หากพูดถึงเรื่องการหัก ณ ที่จ่าย หลายคนมักจะพุ่งเป้าไปที่ ค่าใช้จ่ายอันนี้หักกี่เปอร์เซ็นต์ (หรือที่เราเรียกว่า อัตราการหัก ณ ที่จ่าย) ซึ่งก็พอเข้าใจได้ค่ะ เนื่องจากอัตราการหัก ณ ที่จ่ายมักจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนสำหรับมือใหม่ แต่เรามักจะลืมประเด็นสำคัญไปว่า ขั้นต่ำของการหัก ณ ที่จ่ายเป็นเท่าไหร่

สำหรับขั้นต่ำของการหัก ณ ที่จ่ายนั้น อันที่จริงแล้วจะแบ่งออกเป็นหลายประเด็น ซึ่งอยู่คนละข้อกฎหมาย ดังนี้

ข้อกฎหมายประเภทเงินได้ขั้นต่ำการหัก ณ ที่จ่าย
มาตรา 5040 (1) (2)ตามขั้นบันไดภาษีบุคคลธรรมดา (คำนวณตามภาษีรายปี)
มาตรา 5040 (3) (4)ไม่ระบุขั้นต่ำ หักทุกครั้งเมื่อจ่าย
มาตรา 5040 (5) (6) (7) และ (8)(ภาครัฐเป็นผู้จ่าย)ขั้นต่ำ 10,000 บาท ต่อ 1 ผู้รับ 
มาตรา 3 เตรส, ท.ป.4/252840 (5) (6) (7) และ (8)ขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อ 1 สัญญา
เงินขั้นต่ำ หัก ณ ที่จ่าย
เงินขั้นต่ำ หัก ณ ที่จ่าย

จ่ายค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่

เราลองมาเจาะลึกกันที่ ค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่ ตามหัวข้อของเราในวันนี้ จากตารางก่อนหน้านี้ เราจะเห็นได้ว่า ค่าบริการจะอยู่ในหมวดของมาตรา 3 เตรส เงินได้ประเภท 40 (8) และหากเราไปดูที่ข้อกฎหมายดีๆ แล้ว 

ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 101/2544 ระบุเอาไว้ว่า “การจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องมีจำนวนตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท”

แปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย คือ หากค่าบริการ มีสัญญารวมมูลค่าเกินกว่า 1,000 บาท แม้จะแบ่งจ่ายหลายครั้ง มูลค่าไม่ถึง 1,000 บาท แต่สัญญารวมเกิน 1,000 ก็ต้องหัก ณ ที่จ่าย

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายขั้นต่ำ ต้องดูว่าเป็นสัญญาระยะยาวที่มูลค่าเกิน 1,000 บาท หรือเปล่า ถ้าใช่ ก็ต้องหัก ณ ที่จ่าย แม้จะจ่ายเงินไม่เกิน 1,000 บาทก็ตาม

ค่าบริการ หัก ณ ที่จ่ายอย่างไร
ค่าบริการ หัก ณ ที่จ่ายอย่างไร

ตัวอย่างการคำนวณ ค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายอย่างไร

เรามาเพิ่มความเข้าใจกันด้วยตัวอย่างดีกว่า หากใครที่ยังงงอยู่ ว่าค่าบริการหัก ณ ที่จ่ายยังไง ลองมาดูตัวอย่างต่อไปนี้เชื่อว่าน่าจะเข้าใจขึ้นแน่นอน

ตัวอย่างที่ 1  บริษัท A จ่ายค่าบริการล้างรถ ให้กับบริษัทคาร์แคร์แห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 500 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทอย่างถูกต้อง 

>>จากตัวอย่างที่ 1 เป็นค่าบริการจำนวนไม่เกิน 1,000 บาท แบบนี้ชัดเจนว่า ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่ายแน่นอน ข้อมูลค่ารวมตอน 1 สัญญา ไม่เกิน 1,000 บาท แม้จะเป็นค่าบริการ แต่ไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องหัก ณ ที่จ่าย

ตัวอย่างที่ 2 บริษัท A จ่ายค่าบริการอินเตอร์เน็ต ให้กับบริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน  600 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 

>> จากตัวอย่างที่ 2 เป็นค่าบริการไม่เกิน 1,000 บาท ก็จริง อย่างไรก็ตาม ค่าบริการอินเตอร์เน็ต ถือเป็นสัญญาต่อเนื่อง 

เนื่องจาก เราทำสัญญาแค่ 1 ครั้ง และใช้ต่อกันไปเรื่อยๆ ด้วยการต่ออายุรายเดือน แบบนี้เข้าลักษณะ เป็นสัญญาต่อเนื่อง แม้ต่อครั้งจะจ่ายไม่เกิน 1,000 บาท แต่หากรวมเป็นสัญญาระยะยาว มูลค่าจะเกิน 1,000 บาททันที

ดังนั้น บริษัทต้องหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่าย โดยคำนวณจาก 600*3% = 18 บาท และนำส่งสรรพากร ด้วย ภ.ง.ด. 53

Tips ง่ายๆ ไม่ต้องวุ่นวาย สำหรับ WHT ค่าบริการสัญญาระยะยาว

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า พอดูในกระดาษแล้วมันก็ดูง่ายดี แต่พอเอามาใช้ในชีวิตจริงเท่านั้นแหละ โอ้โห! ปวดหัวขึ้นมาทันทีเลย อะไรไม่รู้เยอะแยะไปหมด

ดังนั้นจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราได้กล่าวมา เกี่ยวกับสัญญาระยะยาว ก็พอจะรวบออกมาเป็น Tips ง่ายๆ ได้ 2 ข้อ ดังนี้

1.หากรู้แน่ๆ ว่าต้องจ่ายเกิน 1,000 บาท ก็หัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อนเลย เพราะว่าหากเป็นสัญญา ที่เราต้องจ่ายกันระยะยาวเกิน 1,000 บาท ตอนเราจ่ายเกิน 1,000 บาท(กรณีก่อนหน้านี้ไม่เคยหัก) เราต้องหัก ณ ที่จ่ายจากยอดที่เราจ่ายไปทั้งหมด ดังนั้น เมื่อรู้แน่ๆ ว่าต้องจ่ายเกิน 1,000 บาท จึงควรหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อนจะง่ายที่สุด

หรืออีกกรณีนึง ถ้าเป็นค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออินเตอร์เน็ต เดี๋ยวนี้เราสามารถแต่งตั้งให้ผู้ให้บริการเป็นตัวแทนในการนำส่งหัก ณ ที่จ่ายให้ได้นะคะ โดยเราจ่ายเงินเต็มแล้วผู้รับเงินก็นำส่งเงินดังกล่าวให้สรรพากรเอง แบบนี้ง่ายและสะดวกมากๆ เลย

ถ้าใครสนใจ ลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่เลยจ้า

2. ค่าบริการที่ไม่เกิน 1,000 บาท อ่านแยกสัญญาได้ ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย หากมีงานหลายประเภท ซึ่งแต่ละงานไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คนละประเภทกัน ควรแยกสัญญาออกจากกัน หากไม่เกิน 1,000 บาท ก็ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย

นอกเหนือจาก 2 กรณีนี้ คือ ไม่ใช่สัญญาระยะยาว ไม่เกิน 1,000 บาท ก็ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย หากเกิน 1,000 บาท ต้องหัก ณ ที่จ่าย 

สัญญาบริการระยะยาวหัก ณ ที่จ่ายยังไง
สัญญาบริการระยะยาวหัก ณ ที่จ่ายยังไง

สรุป

การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าบริการที่ทั้งผู้ประกอบการและนักบัญชีต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ประเด็นสำคัญสำหรับค่าบริการหัก ณ ที่จ่าย คือ 1)เกินมูลค่า 1,000 บาทหรือเปล่า หากเกิน ต้องหัก ณ ที่จ่ายแน่นอน 2)หากไม่เกิน 1,000 บาท ต้องมองว่าเป็นสัญญาระยะยาวหรือเปล่า หากใช่ ก็ต้องหัก ณ ที่จ่ายเช่นกัน

และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

อ้างอิง

คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า