เพื่อนๆเคยสงสัยเกี่ยวกับบัญชีเงินให้กู้ยืมไหมคะ ว่าทำไมมีเงินให้กู้ยืม แต่ว่าไม่มีดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมก้อนนี้เลยในงบทดลอง ซึ่งส่วนใหญ่บัญชีเงินให้กู้ยืมที่ไม่มีดอกเบี้ยแบบนี้ก็จะเป็นการให้กู้ยืมในบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันค่ะ ซึ่งภายในการบริหารก็เป็นซึ่งเจ้าของคนเดียวกัน หรือเป็นบริษัทในเครือกันที่สามารถตกลงเจรจาธุรกิจกันได้ ในทางของการบริหารอาจจะเลือกที่จะไม่คิดดอกเบี้ยได้นะคะ แต่ว่าทางกฏหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 3 ภาษีเงินได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) นั้นบ่งบอกไว้อย่างชัดเจนเลยค่ะ ว่าจะต้องนำดอกเบี้ยในส่วนนี้ นำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย
แต่ก็จะมีคำถามว่า แล้วเราจะคำนวณยังไงล่ะ งั้นเราลองไปทำความเข้าใจกันเลยค่า
ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ระบุไว้ว่า ให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีดอกเบี้ย หรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงิน หมายถึง หากกิจการของเพื่อนๆที่ทำงานอยู่ หรือว่าลูกค้าของเพื่อนๆ มีบัญชีเงินให้กู้ยืม ให้สอบถามกับผู้จัดการ หรือว่าผู้บริหารเลยค่ะ ว่ามีการคิดดอกเบี้ยกันที่อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ถ้าแหล่งเงินที่ให้กู้ยืมเป็นเงินมาจากการกู้ยืมธนาคาร ดอกเบี้ยที่คิดก็ไม่ควรต่ำกว่าอัตราการกู้ยืมมาจากธนาคาร แต่ถ้าเป็นเหลือในบริษัทพิจารณาคิดจากอัตราเงินฝากประจำ เมื่อทราบแล้ว เพื่อนๆก็ลองนำอัตราดอกเบี้ยนั้นมาพิจารณาว่าเป็นไปตามดอกเบี้ยตามราคาตลาดไหม ก็จะแบ่งเป็น 2 กรณีนะคะ
1 .คิดดอกเบี้ย ราคาตลาดหรือสูงกว่า กรณีนี้ผ่านฉลุยเลยค่ะ แต่เพื่อนๆต้องอย่าลืมบันทึกบัญชีด้วยนะคะ เพราะว่าแบบนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้อื่นของกิจการ แล้วเมื่อได้รับเงินค่าดอกเบี้ยแล้ว ต้องยื่นแบบภธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วยนะคะ
2. คิดดอกเบี้ย ต่ำกว่าราคาตลาด หรือไม่คิดดอกเบี้ย กรณีนี้จะต้องมาพิจารณาต่อค่ะ เพราะว่ากฏหมายระบุไว้ชัดเจนมาก ว่า “เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงิน” หมายถึง เราอาจจะเสี่ยงต้องเสียภาษีเพิ่มและโดนค่าปรับเงินเพิ่มด้วยนะคะ หากว่าโดนเจ้าพนักงานประเมินขึ้นมา เพราะฉะนั้น เรามาจ่ายภาษีให้ถูกต้องกันค่ะ ในกรณีดอกเบี้ยรับจะไม่ได้จ่ายเงินกันจริง ทางบัญชีไม่ต้องบันทึกดอกเบี้ยรับ เพราะว่างบการเงินจะแสดงดอกเบี้ยค้างรับยกยอดไปเรื่อยๆแบบไม่ถูกต้องค่ะ ถึงเราไม่ได้บันทึกบัญชีดอกเบี้ยรับ แต่เราก็ต้องมีรายการปรับปรุงทางภาษีค่ะ เพื่อที่จะแสดงรายได้ทางภาษีให้ถูกต้องค่ะ
วิธีการคำนวณคือ
รายได้ทางภาษี = จำนวนเงินให้กู้ยืม คูณ อัตราดอกเบี้ยราคาตลาด คูณ ระยะเวลา
ยกตัวอย่างนะคะ
- กำไรทางบัญชี 1,000,000 บาท
- ก่อนปรับปรุงรายการรายได้ทางภาษี กิจการต้องเสียภาษี
- กำไรทางบัญชี 1,000,000 x อัตราภาษี 20% = 200,000 บาท
รายการปรับปรุง
- 1 ม.ค. 2564 เงินให้กู้ยืม 5,000,000 บาท
- 31 ธ.ค. 2564 เงินให้กู้ยืม 5,000,000 บาท
- อัตราดอกเบี้ยราคาตลาด 6.15% ต่อปี
- รายได้ทางภาษี = 5,000,000 x 6.15% x (365/365) = 307,500 บาท
- หลังปรับปรุงรายการรายได้ทางภาษี กิจการต้องเสียภาษี
- กำไรทางบัญชี 1,000,000 + รายได้ทางภาษี 307,500 = 1,307,500 x อัตราภาษี 20% = 261,500 บาท
เพื่อนๆ เห็นความแตกต่างไหมคะ
- ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนปรับปรุงรายได้ทางภาษี = 200,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนปรับปรุงรายได้ทางภาษี = 261,500 บาท
เมื่อมีรายได้ทางภาษีเพิ่มขึ้น กิจการก็มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นค่ะ แบบนี้ถ้าโดนตรวจสอบขึ้นมา สรรพากรก็คงแฮปปี้ค่ะ เพราะว่าเราได้ยื่นรายการนี้ไปแล้วในแบบภงด.50