การทำงบการเงินเป็นหน้าที่สำคัญมากๆ ของนักบัญชีและรู้หรือไม่ว่า รายการย่อในงบการเงิน 2566 ที่เพิ่งประกาศออกมาไม่นานนี้ มีผลกับการจัดทำงบการเงินเยอะเลยค่ะ เพราะจะทำให้รูปแบบของงบการเงินเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการนำส่ง e-filing งบการเงินก็จะต้องทำตามรูปแบบใหม่แล้ว แล้วนักบัญชีจะต้องเริ่มใช้เมื่อไหร่ ความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนเพราะอะไร เรามาทำความเข้าใจในบทความนี้กัน
1. ความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลง รายการย่อในงบการเงิน 2566
เกริ่นก่อนว่า ตามประกาศรายการอย่างย่อในงบการเงิน พ.ศ.2566 ที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีสาเหตุค่ะ
ใครจำได้บ้าง ว่าปี 2565 เรามีการอัปเดตเรื่อง TFRS for NPAEs ฉบับปรับปรุงใหม่ 2565 แต่ว่าเราอาจไม่ค่อยได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีนัก เนื่องจากอาจจะไม่ได้โดนบทที่เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ และก็ยังจัดทำงบในรูปแบบเดิมๆ อยู่
แต่ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พ.ศ.2566 ที่เพิ่งประกาศออกมานี่แหละที่มีสาระสำคัญ เพราะเป็นการปรับปรุงรูปแบบงบให้สอดรับกับ TFRS for NPAEs ฉบับปรับปรุงใหม่ 2565 ซึ่งนั่นหมายความว่า หน้าตางบการเงินของเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
2.TIMELINE ใช้ประกาศฉบับใหม่
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น เราลองมาไล่เรียง TIMELINE การเปลี่ยนแปลงกันค่ะ เพราะว่าในขั้นตอนการทำงบ เราจะได้ไม่หยิบ ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน มาใช้แบบผิดพ.ศ. หรือว่าผิดฉบับ เพราะถ้าผิดล่ะก็ อาจจะได้แก้ใหม่ทั้งงบนะจะบอกให้ คริคริ
เดิมทีประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีทั้งหมด 3 ฉบับดังต่อไปนี้
- ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2554 (ฉบับเดิม)
- ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
- ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
ในปัจจุบัน ทั้ง 3 ประกาศนี้ได้ถูกยกเลิกการใช้ไปเรียบร้อยแล้ว และให้บังคับใช้ฉบับใหม่ ปี 2566 แทนนะคะ
เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น เราลองมาดูกันนะว่าในอดีตประกาศแต่ละฉบับพูดถึงเรื่องอะไรบ้างเอ่ย
ฉบับที่ 1 ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2554 เป็นการกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน ว่ามี 5 แบบ ได้แก่ แบบ 1 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน แบบ 2 บริษัทจำกัด แบบ 3 บริษัทมหาชนจำกัด แบบ 4 นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และแบบ 5 กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร
ถ้าในตอนนั้นเราใช้มาตรฐาน NPAEs จะต้องมาดูประกาศตรงนี้เพื่อจัดทำงบการเงินตามแบบรายการย่อนั่นเองนะคะ ในระหว่างที่เราใช้ตัวประกาศตรงนี้ไปเรื่อยๆ
ฉบับที่ 2 ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2559 เนื้อหาในฉบับนี้จะเป็นการยกเลิก แบบ 3 บริษัทมหาชนจำกัด และยกร่างรายการย่อใหม่ตาม TFRS for PAEs : มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ที่มีการปรับปรุง
พูดง่ายๆ ว่าเมื่อ TFRS for PAEs มีการอัปเดต แบบรายการย่อสำหรับบริษัทมหาชนจำกัด ก็ถึงคราวอัปเดตตามมาเช่นกันจ้า
ฉบับที่ 3 ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2562 เป็นการยกเลิกแบบ 3 ตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2559 และยกร่างรายการย่อใหม่ ตาม TFRS for PAEs : มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ที่มีการปรับปรุง โดยเฉพาะการเพิ่มเติมรายการตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงิน เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน
ถ้าเป็นผู้ทำบัญชีสำหรับบริษัททั่วไป ห้างหุ้นส่วนทั่วไปที่เป็น NPAEs แล้วชีวิตเราชิลมาก เพราะว่าเข้าใจฉบับปี 2554 แล้วก็จะต้องใช้มันไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยค่ะ
ดังนั้น สรุปง่ายๆ ก็คือ ในช่วงปี 2554 ถึงปัจจุบัน กำหนดรายการย่อนั้นมีประกาศออกมา 3 ฉบับซึ่ง ณ ตอนนี้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว หลังจากนี้เป็นต้นไป ใครกำลังหารูปแบบการจัดทำงบที่ถูกต้อง ให้ไปหา ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566 มาอ่านค่ะ
สำหรับโครงสร้างการจัดทำงบการเงินว่าแต่ละประเภทธุรกิจต้องทำงบการเงินอะไรบ้าง เราลองมาดูตารางสรุปนี้กันได้เลยจ้า
แบบ/ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี | งบฐานะการเงิน | งบกำไรขาดทุน | งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ | งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ | งบกระแสเงินสด | งบการเงินรวม/งบการเงินที่แสดงตามวิธีส่วนได้เสียปีก่อน | ข้อมูลเปรียบเทียบกับปีก่อน | หมายเหตุประกอบงบการเงิน |
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด | / | / | /* | x | /* | /* | / | / |
2. บริษัทจำกัด | / | / | /* | / | /* | /* | / | / |
3. บริษัทมหาชนจำกัด | / | x | / | / | / | / | / | / |
4. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศฯ | / | / | /* | / | /* | /* | / | / |
5. กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร | / | / | /* | / | /* | /* | / | / |
/ หมายถึง ต้องจัดทำ
x หมายถึง ไม่ต้องจัดทำ
/* หมายถึง เป็นทางเลือกสำหรับกิจการ NPAEs
3.วันที่มีผลบังคับใช้
ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566 ประกาศออกมา ณ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 แต่มีผลบังคับใช้งานจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
นั่นแปลว่า งบการเงินที่เริ่มรอบปีบัญชี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป นี้ให้เป็นไปตามประกาศฉบับใหม่แล้วนะ ห้ามลืมเด็ดขาด
แต่ถ้าเป็นงบการเงินเริ่มตั้งแต่งวดก่อนหน้า เช่น 1 มิ.ย. 66 และสิ้นสุด 30 พ.ค. 67 ก็ยังจะใช้รูปแบบเดิมอยู่นะคะ (ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป อย่าลืมเช็กตรงนี้ดีๆ ค่ะ)
4.Download รายการย่อในงบได้ที่ไหน
สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจ หรือดูตัวอย่างงบการเงินรูปแบบใหม่ สามารถเข้าไปดูได้ที่
เว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า > กฎหมาย > พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 > ประกาศ > ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566 (ฉบับเต็ม)
โดยจะมีแนบท้ายประกาศ 5 แบบที่แบ่งตามประเภทธุรกิจดังนี้
ตัวอย่างเช่น ถ้าตอนนี้เพื่อนๆ กำลังทำงบการเงิน บริษัทจำกัด ที่มีงวดบัญชี 1 ม.ค. 67 ถึง 31 ธ.ค. 67 ก็จะต้องไปดาวน์โหลดแบบที่ 1 รายการย่อในงบการเงินบริษัทจำกัดมาดูค่ะ และจัดทำงบตามรายละเอียดนั้นๆ
แต่ถ้ากำลังจัดทำงบการเงิน บริษัทจำกัด ที่มีงวดบัญชี 1 มิ.ย. 66 และสิ้นสุด 30 พ.ค. 67 ก็ยังจะใช้รูปแบบเดิมตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2554 (ฉบับเดิม) นะคะหรืออ่านเพิ่มเติม รายการย่อในงบการเงิน Update ต้องเตรียมตัวทำงบปี 2567 อย่างไรบ้าง?
บทสรุป
ที่เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ TIMELINE และวันที่มีผลบังคับใช้ ประกาศรายการย่อในงบการเงิน 2566 นั้น ก็เพื่อเตรียมตัวในการจัดทำงบการเงินรอบ 2567 นี้ ให้ดูข้อมูลประกาศรายการอย่างย่อในงบการเงินที่จะมาทำงบของปี 2567 ได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องเสียเวลาไปแก้ไขรูปแบบงบตอนที่กำลังจะยื่น DBD e-filing เพราะว่าถึงเวลานั้นอาจจะแก้ไม่ทันแล้วก็ได้จ้า
อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกรมพัฒน์ และทำงบถูกต้อง แนะนำคอร์สนี้: Update รายการย่อที่ต้องมีในงบ และวิธีจัดทำงบการเงิน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy