ความรู้บัญชี

ยื่นงบการเงินคืออะไร ธุรกิจต้องยื่นงบภายในเมื่อไรบ้าง

ยื่นงบการเงินคืออะไร ธุรกิจต้องยื่นงบภายในเมื่อไรบ้าง

เพื่อนๆเคยสงสัยไหมคะ ทำไมทุกๆกิจการจะต้องจัดทำบัญชีเพื่อ “ยื่นงบการเงิน” ในข้อกฏหมายหลายๆอย่าง ทำให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจะมีหน้าที่จัดทำบัญชีและยื่นงบการเงินโดยงบการเงินได้รับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แต่ก่อนจะยื่นงบได้ ก็มีกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร หรือนักบัญชีเอง ก็มีความสงสัยว่า จะต้องทำอย่างไรบ้างในการยื่นงบการเงินนี้ มีอะไรที่เราต้องทำความเข้าใจบ้าง ลองมาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลย

ยื่นงบฯ
ยื่นงบฯ มีอะไรที่ต้องรู้บ้าง

1. ยื่นงบการเงินคืออะไร

ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ได้กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่ต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะดำเนินกิจการหรือไม่ก็ตาม จึงทำให้ทุกกิจการต้องทำตามกฏหมาย โดยการยื่นงบเป็นประจำทุกปีค่ะ

2. ใครบ้างต้องยื่นงบ

ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีจะต้องจัดให้มีการทำบัญชีนับแต่วันเริ่มทำบัญชี ดังต่อไปนี้

  • ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ให้เริ่มจัดทำบัญชีนับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
  • นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยให้เริ่มทำบัญชี นับแต่วันที่นิติบุคคลนั้นได้เริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย
  • กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรให้เริ่มทำบัญชีนับแต่วันที่กิจการร่วมค้านั้นได้เริ่มต้นประกอบกิจการ

3. ยื่นงบวันสุดท้ายเมื่อไร

ในกรณีรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ในทุกปี

ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน นิติบุคคลต่างประเทศ กิจการร่วมค้า ต้องนำส่งงบการเงินภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิด  รอบปีบัญชี คือ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี

สำหรับบริษัทจำกัด ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี (ภายใน 30 เมษายน ของทุกปี) โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่

หลังจากนั้นทั้งบริษัทจำกัด จะต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่งบการเงินได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น นั่นหมายความว่า ถ้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เมษายน ก็จะต้องยื่นงบภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของปีถัดไปนั่นเอง

ในกรณีของ บริษัทจำกัดมหาชน ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี (ภายใน 30 เมษายน ของทุกปี) และนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บมจ.006) ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ประชุมเสร็จ


แต่ว่า บริษัทจำกัดมหาชน ก็มีอีกหนึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ที่มีเงื่อนไขการยื่นงบการเงินที่มีเดดไลน์ที่ต้องยื่นงบการเงิน ไวกว่า คือ
งบการเงินประจำรอบปีบัญชี ฉบับตรวจสอบ
– ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
– ภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีนำส่งงบการเงินรายไตรมาส 4 ภายใน 45 วัน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไตรมาส 4
จึงทำให้เดดไลน์ของทาง กลต. ทำให้งบเสร็จเร็วทันเดดไลน์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าค่ะ

4. ค่าปรับยื่นงบช้าเป็นอย่างไร

ค่าปรับในการยื่นงบการเงิน ไม่ได้มีเพียงแต่โดนปรับที่ยื่นล่าช้าอย่างเดียวนะคะ ยังมีค่าปรับอื่นๆที่ต้องระวังในเรื่องของการนำส่งงบการเงินประจำปีด้วย เช่น ค่าปรับของการยื่นบอจ.5 ค่าปรับอื่นๆ จะมีค่าปรับเท่าไหร่บ้างไปดูกันค่ะ

4.1 ค่าปรับยื่นงบล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้แจ้งค่าปรับยื่นงบล่าช้าไม่เกิน 2 เดือนไว้ดังนี้ค่ะ

ประเภทกิจการค่าปรับ – ผู้จัดทำบัญชีค่าปรับ – กรรมการ/หุ้นส่วนรวมค่าปรับ
/ผู้รับผิดชอบ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด1,0001,0002,000
บริษัทจำกัด1,0001,0002,000
นิติบุคคลต่างประเทศ2,0002,0004,000
บริษัทจำกัดมหาชน2,0002,0004,000
กิจการร่วมค้า2,0002,000

4.2 ค่าปรับยื่นล่าช้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน

ค่าปรับยื่นงบล่าช้าังมีอีกระดับนะคะ ช่วงที่ยื่นล่าช้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน

ประเภทกิจการค่าปรับ – ผู้จัดทำบัญชีค่าปรับ – กรรมการ/หุ้นส่วนรวมค่าปรับ
/ผู้รับผิดชอบ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด4,0004,0008,000
บริษัทจำกัด4,0004,0008,000
นิติบุคคลต่างประเทศ24,00024,00048,000
บริษัทจำกัดมหาชน24,00024,00048,000
กิจการร่วมค้า24,00024,000

4.3 ค่าปรับยื่นงบล่าช้าเกิน 4 เดือน หรือไม่ยื่นงบ

ค่าปรับยื่นงบล่าช้าระดับนี้นี้เป็นระดับสุดท้ายแล้วนะคะ ก็คือ เกิน 4 เดือน หรือว่าไม่ยื่นงบการเงินเลยค่ะ

ประเภทกิจการค่าปรับ – ผู้จัดทำบัญชีค่าปรับ – กรรมการ/หุ้นส่วนรวมค่าปรับ
/ผู้รับผิดชอบ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด6,0006,00012,000
บริษัทจำกัด6,0006,00012,000
นิติบุคคลต่างประเทศ36,00036,00072,000
บริษัทจำกัดมหาชน36,00036,00072,000
กิจการร่วมค้า36,00036,000

4.4 ค่าปรับยื่น บอจ.5 ไม่ทันกำหนด หรือไม่ยื่น บอจ.5

สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ตามกฎหมายต้องส่งภายใน 14 วันนับจากวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี
หากไม่ได้นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ตามกำหนด มีโทษเปรียบเทียบปรับกรรมการคนละ 2,000 บาท

5. ยื่นงบที่ไหนบ้าง

การยื่นงบทำได้ทั้งหมด 2 ช่องทาง ดังต่อไปนี้

ช่องทางการยื่นงบการเงิน
ช่องทางการยื่นงบ
  • การยื่นงบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) แล้วเพื่อนๆสงสัยไหมคะว่า จะทำการลงลายมือชื่อเพื่ออนุมัติเอกสารต่างๆได้อย่างไร ก็ใช้รหัสผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แทนการลงลายมือชื่อและตราประทับในงบการเงิน ที่เว็บไซต์กรมพัฒนา
  • การยื่นงบด้วยตนเอง จัดเตรียมเอกสารตามภาพ แล้วนำยื่นด้วยตนเองที่กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 ในกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
เอกสารยื่นงบด้วยตนเอง
เอกสารยื่นงบด้วยตนเอง

หากบริษัทจำกัด นำงบการเงิน หน้ารายงานผู้สอบบัญชี อัปโหลดลงระบบยื่นงบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) แล้วนั้น ในส่วนของสรรพากร ก็ไม่ต้องนำส่งงบการเงิน หน้ารายงานผู้สอบบัญชีแล้วค่ะ เนื่องจากข้อมูลที่นำส่งไปมีความเชื่อมโยงกันทั้งสององค์กรแล้ว
แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าบังคับแค่อัปโหลดแค่งบการเงินเท่านั้น ในส่วนของหน้ารายงานยังคงต้องนำส่งกรมสรรพกรอยู่ค่ะ

6. หุ้นส่วนจํากัด ต้องยื่นงบ/หน้ารายงานผู้สอบบัญชีหรือไม่?

  • บริษัทจำกัด ต้องยื่นงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้วต่อนายทะเบียนภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี
  • กรณีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แต่งบการเงินต้องตรวจสอบด้วยผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี (TA) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด
    (แต่หากมีรายการใดรายการหนึ่งเกินกว่าที่กำหนด งบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต)

7. บอจ. 5 เกี่ยวกับการยื่นงบยังไง

บอจ.5 หรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น คือ แบบแสดงรายละเอียดของผู้ถือหุ้น บอกถึง ใครถือหุ้นบ้าง แต่ละคนมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของอยู่เท่าไหร่

“บริษัทจำกัด” ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญ ภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี (ภายใน 30 เมษายน) โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่

สรุปคือ ก่อนที่จะอนุมัติงบการเงินจะต้องมีการประชุมเกิดขึ้นก่อน และในการประชุมก็ต้องอัพเดตรายละเอียดของผู้ถือหุ้น ว่าเป็นใครบ้างที่เป็นผู้ถือหุ้น ก่อนที่จะอนุมัติงบการเงินค่ะ
งบการเงินกับแบบแสดงรายละเอียดของผู้ถือหุ้น จึงสัมพันธ์กันแบบว่า จะต้องยื่นไล่เลี่ยกันตลอดยังไงล่ะ
นอกจากจะต้องยื่นงบแล้ว เพื่อนๆก็ต้องเตรียมตัวในการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บอจ.5 กันด้วยค่ะ

8. ยื่นงบผิดแก้ไขได้หรือไม่

ในระบบยื่นงบออนไลน์ผ่าน DBD E-Filing เมื่อเราทำการยื่นงบไปแล้ว ก็จะมีผลบอกนะคะ ว่ายื่นสำเร็จหรือไม่ บางครั้งก็มีจุดผิดพลาดที่ระบบของ DBD E-Filing หรือ พนักงานตรวจสอบ ตรวจเจอข้อผิดพลาดนั้น แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เราก็สามารถยื่นแก้ไขงบฯที่ระบบของ DBD E-Filingได้ค่ะ แต่ว่าก็จะต้องกรอกข้อมูล และทำเรื่องขอหลายขั้นตอนกว่าตอนที่ยื่นครั้งแรกนิดนึงค่ะ

สาเหตุของข้อผิดพลาดและต้องเช็คก่อนที่จะยื่นงบฯ

  • การแก้ไขตัวเลขในงบการเงินที่ส่งผลกระทบต่อยอดรวม
  • แก้ไขรอบบัญชีใหม่
  • ผู้สอบไม่ลงลายมือชื่อรับรอง หรือ ใบอนุญาตสิ้นผล
  • ข้อมูลใน ส.บช.3 ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี รหัสธุรกิจ ประเภทธุรกิจ
  • การแก้ไขงบการเงินที่ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดรวม
  • ไฟล์สแกนที่นำส่งครั้งแรก สแกนขาด/เกิน/ไม่ชัด

การยื่นงบการเงินมีขั้นตอนและสิ่งที่ต้องรู้ ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ แต่ก็ต้องทำเพราะสิ่งที่กฏหมายกำหนดไว้ให้ปฏิบัติ ทั้งเจ้าของธุรกิจและนักบัญชี จะต้องศึกษาเกี่ยวกับการยื่นงบ กฏหมายและกฏระเบียบที่ถูกต้อง เพื่อให้กิจการเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้องและทันเวลาตามกำหนด และข้อมูลที่เราเปิดเผยไป ก็เป็นประโยชน์ในหลายระดับเลยค่ะ

ระดับกิจการ ก็เป็นประโยชน์ของตัวกิจการเอง ที่ได้รู้ถึงผลการดำเนินการของตนเอง หรือสามารถนำข้อมูลงบการเงินไปทำธุรกรรมต่างๆกับธนาคารได้ค่ะ

ระดับธุรกิจ ก็เป็นประโยชน์ของตัวกิจการอีกเช่นกัน ที่มีงบการเงินที่มีมาตรฐานที่ใช้กันทั้งประเทศ เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบกับกิจการอื่นได้ และสามารถไปค้นหาข้อมูลของคู่แข่ง เพื่อทำการวางกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารได้ค่ะ

ระดับประเทศ ข้อมูลงบการเงินนำไปใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจภาพรวมระดับประเทศ อย่างเช่น GDP หรือ มูลค่าส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละอุตสาหกรรม เป็นต้น

ประโยชน์ของการยื่นงบมีเยอะเลยใช่ไหมคะ เราก็มาทำงบการเงินให้ถูกต้อง และนำส่งตามที่กฏหมายกำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่ต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นประจำทุกปี ให้ทันเวลากันค่ะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า