ใครที่ทำงานในแวดวงบัญชีอาจจะเคยได้ยินคำว่าผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร TA ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินค่ะ แต่เคยสงสัยมั้ยว่า TA นั้นสามารถตรวจสอบงบการเงินอะไรได้บ้าง และต่างกับ CPA หรือไม่ อย่างไร
ในวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากรไปพร้อมๆ กันค่ะ
ผู้สอบบัญชีมีกี่ประเภท?
ผู้สอบบัญชี หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของกิจการว่ามีความน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะนำส่งกับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น ผู้สอบบัญชีจึงเป็นผู้ที่ตรวจการทำงานของผู้ทำบัญชีและต้องมีอิสระจากกิจการด้วย
ในประเทศไทยมีผู้สอบบัญชีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
- ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (TA : Tax Audittor) คือ ผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีจากอธิบดีกรมสรรพากร
- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต (CPA : Certified Public Accountant) คือ ผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี
ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ต่างกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) อย่างไร?
เราพอจะทราบคร่าวๆ แล้วว่าทั้ง TA และ CPA นั้นเป็นผู้สอบบัญชีเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ใบอนุญาตนั้นมีข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจน แบ่งเป็นทั้งหมด 4 เรื่องดังต่อไปนี้
1. การขึ้นทะเบียน
TA: ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2544ฯ ซึ่งกำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบ 3 วิชา คือ
1. วิชาการบัญชี
2. วิชาการสอบบัญชี
3. วิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
CPA: ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ พ.ศ.2547 ซึ่งกำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบ CPA 6 วิชา และมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 3,000 ชั่วโมง
ทั้ง 6 วิชาที่ต้องสอบให้ผ่านสำหรับ CPA ประกอบด้วย
- วิชาการบัญชี 1
- วิชาการบัญชี 2
- วิชาการสอบบัญชี 1
- วิชาการสอบบัญชี 2
- วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 1
- วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 2
2. การตรวจสอบงบการเงิน
TA: ตรวจสอบและรับรองบัญชีได้เฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก ที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินทรัพย์รวมไม่เกิน30 ล้านบาท และ
- รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท
CPA: ตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
นั่นก็หมายความว่า TA จะตรวจสอบงบขนาดเล็กเท่านั้น แต่ในส่วนของ CPA สามารถตรวจสอบงบการเงินบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ทุกงบค่ะ
3. วิธีการทำงาน
TA: ปฎิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ สำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก
CPA: แบ่งออกเป็น 2 ส่วนขึ้นอยู่กับว่าตรวจสอบงบการเงินขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก
- งบการเงินขนาดเล็ก – ปฎิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ สำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก
- งบการเงินขนาดใหญ่ – ปฏิบัติงานตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดไว้
ทั้งนี้ ทั้งผู้สอบบัญชีภาษีอากร TA และ CPA เองต้องรายงานรายชื่อธุรกิจที่ตรวจสอบ และลงลายมือให้ครบถ้วนเป็นประจำทุกปีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
4. หน้ารายงานการตรวจสอบ
TA: ต้องจัดทำหน้ารายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ
ตัวอย่างหน้ารายงานผู้สอบบัญชี TA เป็นดังนี้
CPA: แบ่งออกเป็น 2 ส่วนขึ้นอยู่กับว่าตรวจสอบงบการเงินขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก
- งบการเงินขนาดเล็ก – ทำหน้ารายงานการตรวจสอบตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545ฯ สำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก
- งบการเงินขนาดใหญ่ – ทำหน้ารายงานการตรวจสอบมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดไว้
ตัวอย่างหน้ารายงานผู้สอบบัญชี CPA สำหรับกิจการขนาดใหญ่ เป็นดังนี้
โดยสรุปแล้ว ทั้งผู้ตรวจสอบแบบ TA และ CPA มีความแตกต่างกัน 4 ข้อหลักๆ ซึ่งทั้งนักบัญชีเอง และเจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่ว่าจะได้สรรหาผู้สอบบัญชีที่มีความรู้ความสามารถมาตรวจสอบงบการเงินให้เราค่ะ