เพื่อนๆนักบัญชี คงจะคุ้นเคยกับคำถามที่ว่า “สินค้าคงเหลือ คืออะไร?” และได้ยินกันบ่อยๆ ตั้งแต่สมัยเรียนการบัญชีขั้นต้น ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่า พอเจอกับสถานการณ์จริงที่ต้องใช้ทำงาน กลับนึกไม่ออกเสียนี่ ไม่ว่าจะเป็นคำนิยามของสินค้าคงเหลือ ต้นทุนต้องประกอบไปด้วยรายการอะไรบ้าง รวมไปถึงการวัดมูลค่า ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
แค่คิด ก็จับต้นชนปลายกันไม่ค่อยจะถูกแล้วใช่ไหมคะ มาค่ะ วันนี้เรามาสรุปและทบทวนประเด็นสำคัญที่ควรรู้ ของสินค้าคงเหลือ สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ที่จะทำให้ สินค้าคงเหลือ กลายเป็นเรื่องง่ายๆ และไม่น่ากลัวอีกต่อไป
สินค้าคงเหลือ คืออะไร ?
ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS For NPAEs) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเสนอข้อมูลให้มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และผู้ใช้งบการเงินอื่นๆ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ง่ายขึ้น และช่วยลดต้นทุนของเงินทุน อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดความสม่ำเสมอและเปรียบเทียบกันได้ของข้อมูลทางการเงิน ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้งบการเงินเกิดความเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้ได้ให้คำนิยามของสินค้าคงเหลือไว้ดังนี้ค่ะ
สินค้าคงเหลือ คือ สินทรัพย์ซึ่งมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
- ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ (Finished Goods: FG)
- อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย (Work in process: WIP)
- อยู่ในรูปของวัตถุดิบหรือวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวณการผลิตสินค้าหรือให้บริการ (Raw Materials: RM)
- ต้นทุนงานให้บริการส่วนที่กิจการยังไม่ได้รับรู้เป็นรายได้
เมื่อเพื่อนๆทราบคำนิยามของสินค้าคงเหลือ และสามารถจัดประเภทสินทรัพย์ได้อย่างถูกต้อง ขั้นตอนต่อไปก็คือ การรับรู้ต้นทุนของสินค้าคงเหลือค่ะ
ต้นทุนสินค้าคงเหลือรับรู้ยังไง?
ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ กล่าวถึงการวัดมูลค่าเริ่มแรก (ราคาทุน) ไว้ดังนี้ค่ะ
ต้นทุนของสินค้าจะประกอบไปด้วย
- ต้นทุนทั้งหมดในการซื้อ (ราคาซื้อ, ส่วนลดการค้า, ค่าขนส่งเข้า, อากรขาเข้าและภาษีอื่นที่ขอคืนไม่ได้)
- ต้นทุนแปลงสภาพ (ค่าแรงงานทางตรง, ค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่, และค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร)
- ต้นทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าคงเหลือนั้นอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราไปดูตัวอย่างการรับรู้ต้นทุนสินค้าคงเหลือ เพื่อประกอบความเข้าใจกันค่ะ
ตัวอย่าง ข้อใดต่อไปนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าคงเหลือ
- ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต
- ค่าชุดยูนิฟอร์มของพนักงานในสายการผลิต
- ค่าขนส่งจากท่าเรือมายังโกดังเก็บสินค้าของโรงงาน
- ค่าขนส่งจากโรงงานเรา ไปยังโรงงานของลูกค้า
เรามาลองวิเคราะห์ไปพร้อมๆกันทีละข้อนะคะ
จากการวิเคราะห์ข้างต้นคำตอบคือ..
ข้อ 4. “ค่าขนส่งจากโรงงานเราไปยังโรงงานของลูกค้า” ที่ไม่สามารถรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าคงเหลือได้ เนื่องจากไม่ใช่ต้นทุนที่ทำให้สินค้าคงเหลืออยู่ในสถานที่ และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
พูดง่ายๆก็คือ สินค้าคงเหลือนั้นผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมขายให้กับลูกค้า ดังนั้นค่าขนส่งออกจึงไม่สามารถรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนได้ค่ะ
เพื่อนๆต้องระวังกันให้ดีๆนะคะ อย่าจำสลับกับค่าขนส่งเข้า เพราะจะทำให้การรับรู้ต้นทุนของสินค้าคงเหลือสูงไปค่ะ
ต้นทุนสินค้าคงเหลือคำนวณยังไง?
ในการคํานวณต้นทุนของสินค้าเมื่อขาย กิจการอาจเลือกใช้วิธีการคํานวณต้นทุนสินค้าที่ขายโดย
- ใช้วิธีราคาเจาะจง (Specific)
วิธีนี้จะเหมาะสำหรับ สินค้าคงเหลือที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถสับเปลี่ยนกันได้ และเป็นสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้น แยกต่างหากไว้สำหรับโครงการหนึ่ง โครงการใดโดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจเครื่องประดับที่รับสั่งทำตามคำสั่งของลูกค้า (Custom-made)
- วิธีเข้าก่อนออกก่อน (First-in First-out : FIFO)
วิธีนี้จะเหมาะสำหรับ สินค้าคงเหลือที่เน้นความสดใหม่ของสินค้า หรือสินค้ามีการเสื่อมสภาพได้ง่าย เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายยา หรือสินค้าประเภทอื่นๆที่มีอายุของสินค้าจำกัด มีโอกาสเน่าเสีย หรือราคาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ การใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อน จะช่วยป้องกันสินค้าเสื่อมสภาพ หรือล้าสมัย รวมถึงลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วค่ะ
- วิธีถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่ซื้อเข้ามาแต่ละงวด (Weighted average)
สำหรับวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จะเหมาะสำหรับสินค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของต้นทุนที่ซื้อมา หรือ ผลิตขึ้นในระหว่างงวด ซึ่งวิธีการคำนวณต้นทุนถัวเฉลี่ยอาจคำนวณเป็นงวดๆไป หรือ คำนวณทุกครั้งที่ได้รับสินค้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจการค่ะ วิธีนี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับ ธุรกิจสายการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีการผลิตสินค้าครั้งละมากๆ และสินค้ามีความคล้ายคลึงกัน สามารถสับเปลี่ยนกันได้ค่ะ
สินค้าคงเหลือตอนสิ้นงวดวัดมูลค่ายังไง
เดินทางมาถึงหัวข้อสุดท้ายสำหรับเรื่อง สินค้าคงเหลือ คืออะไร ? แล้วนะคะเพื่อนๆ สำหรับหัวข้อนี้ จะช่วยให้นักบัญชีทุกท่าน สามารถบอกความแตกต่างระหว่างราคาทุน และมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ รวมถึงสามารถแสดงมูลค่าตามบัญชีของสินค้าคงเหลือให้ถูกต้องตามควร ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานค่ะ
ตามที่มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ได้ระบุไว้ว่า สินทรัพย์ไม่ควรแสดงมูลค่าตามบัญชี ที่สูงกว่ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากการขายหรือ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้
ดังนั้นก่อนที่เราจะไปดูวิธีการคำนวนและวัดมูลค่า ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เราไปดูความแตกต่างระหว่าง ราคาทุน และมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ กันก่อนนะคะ
ข้อแตกต่าง ราคาทุน และ มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ
จากที่เพื่อนๆนักบัญชีทุกท่านได้ เข้าใจถึงคำนิยาม และ Concept ของราคาทุนสินค้าคงเหลือในข้อ 2. กันไปแล้ว
สรุปสั้นๆง่ายๆอีกครั้ง คือ
ราคาทุน = ต้นทุนซื้อ + ต้นทุนแปลงสภาพ + ต้นทุนอื่นๆที่จำเป็น
ส่วนมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ( Net Realizable Value : NRV ) นั้น หมายถึง ราคาโดยประมาณที่คาดว่าจะขายได้ตามปกติธุรกิจ หักด้วย ประมาณการต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นให้เสร็จและต้นทุนที่จำเป็นต้องจ่ายไปเพื่อให้ขายสินค้านั้นได้
ซึ่ง Concept อย่างง่ายก็คือ
NRV = ราคาขาย* – ต้นทุนในการผลิตสินค้าให้เสร็จ – ค่าใช้จ่ายในการขาย
* แต่สิ่งที่เพื่อนๆนักบัญชีต้องระวัง!! คือ ราคาขายในที่นี้ จะหมายถึงราคาขายตามปกติของธุรกิจ นั่นก็คือราคาขายที่กิจการเป็นผู้กำหนดนะคะ นักบัญชีหลายๆท่านมักจะเผลอไปใช้ ราคาตลาดของสินค้า หรือราคามูลค่ายุติธรรม ซึ่งผิดและจะทำให้การคำนวน มูลค่าสุทธิที่จะได้รับผิดตามไปด้วย
นอกจากความแตกต่างในเรื่องขององค์ประกอบของราคา อีกหนึ่งความแตกต่างระหว่าง ราคาทุน และ มูลค่าสุทธิที่จะได้รับคือ ราคาทุนจะเกิดขึ้น ณ วันที่รับรู้รายการ หรือพูดง่ายๆคือวันที่กิจการได้รับสินค้าหรือบริการ และความเสี่ยงในสินค้าหรือบริการนั้นถูกโอนมายังกิจการเรียบร้อยแล้ว
ส่วนมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ จะเกิดขึ้น ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน อาจจะเป็นรายไตรมาศ ทุกๆครึ่งปี หรือปีละครั้ง ขึ้นอยู่กับหน้าที่ของกิจการที่ต้องนำส่งงบการเงินต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.ล.ต. หรือ หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องค่ะ
วัดมูลค่าอย่างไร ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
จากแนวความคิดที่ว่าสินทรัพย์ไม่ควรแสดงมูลค่าตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากการขายหรือ
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ ดังนั้น ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน สินค้าคงเหลือจึงควรแสดงด้วย
ราคาทุน หรือ มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า
เราไปดูตัวอย่างประกอบการคำนวณดังนี้ค่ะ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กิจการซื้อสินค้า ATK มา 400 ชิ้น ด้วยราคาชิ้นละ 1,000 บาท โดยตั้งราคาขายไว้ที่ชิ้นละ 1,500 บาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 1,600 บาท ต่อมากิจการพบว่า มีสินค้าเสียหายจำนวน 40 ชิ้น ซึ่งต้องนำไปซ่อมก่อนจึงจะขายได้ โดยมีต้นทุนค่าซ่อมชิ้นละ 500 บาท หลังจากซ่อมแล้วราคาขายจะเหลือเพียงชิ้นละ 1,400 บาท จากเหตุการณ์นี้กิจการต้องแสดงมูลค่าสินค้าคงเหลือเท่ากับเท่าใด
จากการคำนวณข้างต้นจะเห็นได้ว่า มูลค่าสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ควรแสดงที่มูลค่า 360,000 + 36,000 = 396,000 บาทค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะเพื่อนๆ ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถแสดงมูลค่าสินค้าคงเหลือได้อย่างถูกต้อง และสามารถอธิบายต้นทุนของสินค้าคงเหลือ วิธีการคำนวณต้นทุนสินค้าเมื่อขาย รวมไปถึงหลักการคำนวณมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับให้กับผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีได้อย่างมั่นใจค่ะ
หากเพื่อนๆนักบัญชีสนใจเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือเพิ่มเติม แนะนำคลิกเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้เลยค่ะ
การบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือ มีกี่วิธี บันทึกยังไง?
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y