สัญญาเช่าเป็นอีกสัญญาหนึ่งที่เรามักพบบ่อยในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ยังอยากเก็บเงินสดไว้เพื่อเป็นสภาพคล่อง พวกเค้าก็มักเลือกทำสัญญาเช่าแทนการซื้อเงินสดกันค่ะ และสัญญาเช่านั้นก็มีการเช่าสินทรัพย์หลายอย่าง อย่างเช่น รถยนต์ เครื่องจักร เช่าอาคาร ซึ่งเนื้อหาในสัญญาก็แตกต่างกันออกไปตามประเภทสินทรัพย์หรือข้อตกลงกับผู้เช่าและผู้ให้เช่า และในทางบัญชีล่ะ เรามีการจำแนกสัญญาเช่าออกเป็นกี่ประเภท ความแตกต่างเป็นอย่างไรบ้าง ลองมาอ่านบทความนี้กันค่ะ
1. สัญญาเช่า คืออะไร
เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักสัญญาเช่า ของกิจการที่ใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs หรือกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะกันค่ะ
สัญญาเช่า หมายถึง สัญญาหรือข้อตกลงที่ผู้ให้เช่าให้สิทธิแก่ผู้เช่าในการใช้สินทรัพย์สำหรับช่วงเวลาที่ตกลงกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทน ซึ่งได้รับชำระในงวดเดียวหรือหลายงวด
TFRS for NPAEs
พูดง่ายๆ ก็คือ สัญญาเช่า มี 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
- ผู้ให้เช่า
- ผู้เช่า
- สินทรัพย์ให้เช่า
- ค่าตอบแทน
2. สัญญาเช่ามีกี่ประเภท จำแนกอย่างไร
เมื่อทราบความหมายกันไปแล้ว ต่อไปจะพาไปจำแนกประเภทของสัญญาเช่าค่ะ
การจำแนกประเภทของสัญญาเช่า กิจการต้องพิจารณาจากความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ที่เช่าว่าตกอยู่กับผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า
โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดให้แก่ผู้เช่า | สัญญาเช่าทางการเงิน |
ไม่โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดให้แก่ผู้เช่า | สัญญาเช่าดำเนินงาน |
สรุป คือ สัญญาเช่าทางการเงิน และสัญญาเช่าดำเนินงานจะมองเรื่องของการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนว่าเป็นของผู้เช่าหรือไม่ หรือพูดง่ายๆก็คือ เสมือนหนึ่งผู้เช่าเป็นเจ้าของสินทรัพย์ติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้วค่ะ
และจำไว้ว่าการจำแนกประเภทของสัญญาเช่าต้องจำแนก ณ วันเริ่มต้นสัญญา เลยค่ะ เพราะว่าจะได้รับรู้รายการในงบการเงินอย่างถูกต้องด้วย
ทีนี้เราไปเจาะลึกคำอธิบายสำหรับแต่ละประเภทของสัญญาเช่ากันนะคะ
2.1 สัญญาเช่าทางการเงิน
TFRS for NPAEs กล่าวไว้ว่า สัญญาเช่าทางการเงิน หมายถึง สัญญาเช่าที่ทำให้เกิดการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ให้แก่ผู้เช่า ไม่ว่าในที่สุดการโอนกรรมสิทธิ์จะเกิดขึ้นหรือไม่
สัญญาเช่าที่บอกเลิกไม่ได้ ก็จะถูกจัดประเภทไปเป็นสัญญาเช่าทางการเงินซะส่วนใหญ่ จะมีเหตุผลอะไรบ้างไปดูกัน
สัญญาเช่าที่บอกเลิกไม่ได้ หมายถึง สัญญาเช่าที่จะบอกเลิกไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า
- เมื่อผู้เช่าต้องจ่ายเงินเพิ่มโดยที่ ณ วันเริ่มต้นสัญญาเช่าเป็นที่เชื่อถือได้อย่างสมเหตุสมผลว่า สัญญาเช่าจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
- เมื่อผู้เช่าทำสัญญาเช่าใหม่กับผู้ให้เช่ารายเดิมเพื่อเช่าสินทรัพย์เดิมหรือสินทรัพย์ที่เทียบเท่าของเดิม หรือ
- เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างซึ่งโอกาสที่จะเกิดน้อยมาก
กิจการต้องจัดประเภทสัญญาเช่าที่บอกเลิกไม่ได้ เป็นสัญญาเช่าทางการเงิน หากสัญญานั้นทำให้เกิดสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างน้อย 1 สถานการณ์
1. โอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ ณ วันสิ้นสุดสัญญาเช่า |
2. สิทธิเลือกซื้อสินทรัพย์ในราคาที่ถูก |
3. อายุสัญญาเช่าครอบคลุมอายุส่วนใหญ่ของสินทรัพย์ |
4. มูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าขั้นต่ำครอบคลุมมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ |
เรามาดูตัวอย่างของสัญญากันนะคะ ว่าข้อมูลในสัญญาฉบับนี้ เข้าเงื่อนไขหรือไม่
ตัวอย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั่ง Benz
กิจการมีอายุการใช้งานของรถยนต์ 5 ปี
จำนวนอายุของสัญญา เท่ากับ 5 ปี
ถ้าเปรียบเทียบข้อมูลแล้ว แสดงให้เห็นว่า อายุสัญญาเช่า ครอบคลุม อายุส่วนใหญ่ของสินทรัพย์ ค่ะ
สัญญาฉบับนี้เข้าเงื่อนไขแล้ว 1 สถานการณ์ เท่ากับว่าเป็นสัญญาเช่าทางการเงินค่ะ
2.2 สัญญาเช่าดำเนินงาน
TFRS for NPAEs กล่าวว่า สัญญาเช่าดำเนินงาน หมายถึง สัญญาเช่าที่มิใช่สัญญาเช่าทางการเงิน
สัญญานี้เป็นสัญญาเช่าที่พอเราอ่านสัญญาปั๊ปแล้วเราตีความง่ายมาก เพราะว่าก็จะมีแต่ข้อความที่บอกว่า ต้องจ่ายเดือนละเท่าไหร่ จ่ายทุกวันที่เท่าไหร่ จะไม่ได้มีส่วนที่ซับซ้อนในเรื่องของการโอนสิทธิ์หรือการเลือกซื้อเข้ามาเหมือนในสัญญาเช่าการเงิน เพราะ กรรมสิทธิ์ในสัญญาเช่าดำเนินงานเป็นของผู้ให้เช่าอยู่แล้วค่ะ
แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเช็คให้ชัวร์ 4 เรื่อง เกี่ยวกับเงื่อนไขของสัญญาเช่าการเงิน 4 เรื่องด้วย ว่าสัญญาเหล่านี้ไม่มีข้อใดที่เข้าเงื่อนไขแบบสัญญาเช่าการเงินนะ
สุดท้ายนี้ ทาง CPD Academy ก็อยากจะขอฝากข้อดี และ ข้อเสียของการทำสัญญาแต่ละแบบไว้คร่าวๆดังนี้นะคะ
สัญญาเช่าทางการเงิน
- ข้อดี : เมื่อทำการผ่อนชำระเป็นรายเดือนแล้ว สินทรัพย์ตกเป็นของกิจการแน่นอน และยิ่งเป็นการทำสัญญาลิสซิ่ง กิจการมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีรายเดือน ได้ถึง 36,000 บาทต่อเดือน และสามารถวางแผนเพื่อบริหารภาษีได้ด้วย
- ข้อเสีย : วิธีการทางบัญชีและภาษีมีความซับซ้อน
สัญญาเช่าดำเนินงาน
- ข้อดี : วิธีการทางบัญชีและภาษี ง่ายไม่มีความซับซ้อน
- ข้อเสีย : ถ้าเช่ารถราคาแพง ในจำนวนปีต่ำๆ ที่ทำให้ค่าเช่ารายเดือนมากกว่า 36,000 บาท ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางด้านของสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเมื่อจ่ายชำระค่าเช่าไปแล้ว กรรมสิทธิ์ก็ยังไม่ได้ตกเป็นของกิจการอีกด้วย
เมื่อเพื่อนๆทราบถึงสัญญาเช่ามีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร รวมถึงข้อดีและข้อเสียแล้ว ยังสามารถดูการบันทึกบัญชีสำหรับสัญญาเช่าได้ในบทความของเราได้เพิ่มเติมนะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line: @cpdacademy