ภาษี

งบแสดงฐานะการเงินแบบไหน อาจโดนสรรพากรตรวจสอบ

งบแสดงฐานะการเงินแบบไหน อาจโดนสรรพากรตรวจสอบ

ถ้าพูดถึงกรมสรรพากร เจ้าของกิจการและนักบัญชีทั้งหลาย ก็เสียวสันหลังกันทั้งนั้น ในคราวก่อนเราพูดถึงประเด็นที่สรรพากรมักจับตาสำหรับงบกำไรขาดทุน แต่สำหรับงบอีกงบนึงที่ขาดไม่ได้ก็คือ งบแสดงฐานะการเงิน หรือที่เรามักเรียกติดปากว่างบดุล ที่แสดงฐานะของกิจการว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของเท่าไร

วันนี้ทาง CPD Academy ก็จะพาเพื่อนๆ ไปดูซิ๊ว่าการเลือกตรวจสอบของกรมสรรพากรนั้นเป็นอย่างไร และตัวอย่างรายการในงบแสดงฐานะการเงินที่มีความเสี่ยงจะโดนสรรพากรตรวจสอบมีอะไรบ้างค่ะ

1. ระบบตรวจสอบของกรมสรรพากร

ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาทางสรรพากรมีระบบตรวจสอบงบการเงินของธุรกิจแบ่งเป็น 2 รูปแบบค่ะ

1.1 ตรวจสอบโดยใช้การวิเคราะห์

การตรวจสอบโดยใช้การวิเคราะห์ ในการตรวจสอบแบบนี้จะให้คะแนนในเรื่องของความเสี่ยงในการเสียภาษีอากรอาจไม่ถูกต้องค่ะ

1.2 การนำระบบ RBA (Risk Based Audit System)

ระบบ RBA คือ ระบบที่นำข้อมูล IT มาใช้ในการวิเคราะห์ภาษีของแต่ละธุรกิจ วิเคราะห์ความเสี่ยงจากข้อมูลภายในและภายนอกของกรมสรรพากร ซึ่งมีการแบ่งข้อมูลวิเคราะห์เป็นกลุ่มค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลการยื่นภาษี ,ข้อมูลจากองค์กรภายนอกสรรพากร ,ใช้ข้อมูลการเปรียบเทียบย้อนหลัง 3-5 ปี หรือข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดเก็บภาษีตามระบบงานกรมสรรพากร เป็นต้นค่ะ

ระบบการตรวจสอบ
ระบบการตรวจสอบ

ต่อไปเรามาดูหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรใช้เลือกกันดีกว่าว่าสรรพากรมีวิธีประเมินอย่างไร

2. สรรพากรประเมินยังไง

เกณฑ์ที่จะถูกนำมาใช้ประเมินแบ่งเป็น 2 กลุ่มค่ะ

ความผิดปกติทั่วไป

  • ผู้เสียภาษีหยุดยื่นแบบแสดงรายการภาษี
  • ขาดทุนสุทธิติดต่อกัน 3 รอบระยะเวลา
  • ขอคืน VAT ด้วยการขอเครดิตภาษีติดต่อกัน 6 เดือนสุดท้าย

ความผิดปกติเฉพาะกิจการ

ความผิดปกติเฉพาะกิจการจะใช้โครงสร้างของงบแสดงฐานะการเงินในการพิจารณา

  • เปรียบเทียบสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของทุนของกิจการ
  • เปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ
สรรพากรเลือกตรวจสอบยังไง
สรรพากรเลือกตรวจสอบยังไง

พอจะทราบหลักเกณฑ์อันทันสมัยและน่ากลัวของสรรพากรแล้ว ต่อไปเราลองมาดูกันค่า ว่างบแสดงฐานะการเงินแบบไหน สรรพากรจับตามองอยู่

3. งบแสดงฐานะการเงินที่อาจโดนสรรพากรตรวจสอบ

งบแสดงฐานะการเงินคืออะไร

งบแสดงฐานะการเงิน (Financial Statement) คือ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ที่แสดงถึงประสิทธิภาพการทำงานของกิจการในระยะเวลาที่กำหนด เอกสารประกอบด้วย ข้อมูลทางการเงินที่ช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถวิเคราะห์และประเมินผลการเงินได้

ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนลองดูตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินนี้กันก่อนนะคะ และเช็กทีละตัวเลขไปพร้อมๆ กันค่ะว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนแล้วเป็นอย่างไร

ตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงิน

งบแสดงฐานะการเงินที่อาจโดนสรรพากรตรวจสอบ
งบแสดงฐานะการเงินที่อาจโดนสรรพากรตรวจสอบ

1. ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น

ลดลงกว่า 90% ซึ่งผิดปกติวิสัยของธุรกิจ กรณีนี้ทางสรรพากรอาจจะพิจารณาร่วมกับรายได้ในงบการเงินและการยื่น ภ.พ.30ว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่

2. สินค้าคงเหลือ

ลดลงจากปีก่อนจำนวน 12 ล้านบาท หรือ 91% ซึ่งอาจจะต้องเปรียบเทียบกับรายได้ที่บันทึกในงบกำไรขาดทุนว่า มีรายได้จากการประกอบกิจการใกล้เคียงหรือสูงกว่าจำนวนสินค้าคงเหลือที่ลดลงหรือไม่ กรณีที่กิจการไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รายการนี้ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนในเรื่องของการบันทึกรายได้และจ่ายภาษีไม่ครบถ้วน

3. สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

ลดลงกว่า 2.6 ล้านบาท หรือ 72% สรรพากรอาจจะไปดูต่อว่าในระหว่างปีมีการขายหรือตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนถูกต้องหรือไม่และได้รับรู้รายการกำไรหรือขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ รวมทั้งนำรายได้มาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หรือในอีกแง่หนึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงการคำนวณตัดค่าเสื่อมราคาไม่ถูกต้องตามที่หลักเกณฑ์กฎหมายกำหนด

4. เจ้าหนี้การค้า

เจ้าหนี้การค้าลดลงจากเดิมมากว่า 5.2 ล้านบาท หรือ 77.2% ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกันกับงบกำไรขาดทุน หรือการลดลงของยอดขาย เป็นเหตุให้สงสัยว่ากิจการไม่ได้บันทึกยอดซื้อหรือไม่

5. เงินกู้ยืมระยะยาว

เงินกู้ยืมระยะยาวของกิจการที่เพิ่มขึ้น 6.2 ล้านบาทหรือ 101% เงินจำนวนนี้อาจทำให้สงสัยได้ว่ากิจการอาจไม่มีเงินกู้ยืมกรรมการจริง อาจจะเป็นการหลีกเลี่ยงการบันทึกรายได้ เพื่อที่จะได้เสียภาษีในจำนวนที่น้อยลง

6. ขาดทุนสุทธิ

กิจการมีขาดทุนสุทธิกว่า 19 ล้านบาท และขาดทุนสะสมกว่า 32 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้สงสัยการคงอยู่ได้ของกิจการ และสงสัยว่ากิจการบันทึกค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควรหรือไม่ นอกจากนี้กิจการมีการลงทุนเพิ่มในที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันของกิจการที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนค่อนข้างสูง

ตัวอย่างประเด็นอื่นในงบแสดงฐานะการเงิน

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายๆ ประเด็นในงบแสดงฐานะการเงินที่เราไม่ได้แสดงบนภาพข้างต้น แต่รู้นะว่าพี่สรรพากรเค้าแอบมอง ยกตัวอย่าง เช่น

  • กิจการใช้เงินสดในการชำระรายการค้าทุกรายการ หรือบันทึกรายการด้วย บัญชีเงินสดทั้งหมด
  • กิจการมีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวนสูง โดยอาจเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตน หรือเป็นยอดเงินให้กู้ยืมที่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ในงบการเงิน ซึ่งอาจแสดงให้เห็น ได้ว่า กิจการมีการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง
  • กิจการไม่มีเงินให้กู้ยืมกรรมการจริง แต่มีรายการดังกล่าวแสดงในงบการเงิน
  • กิจการมีเงินให้กู้ยืม แต่ไม่มีรายการดอกเบี้ยรับ
  • กิจการมีสินค้าคงเหลือสูงหรือต่ำกว่าข้อเท็จจริง (สินค้าขาด/เกิน)
  • กิจการบันทึกสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือลิสซิ่ง ไม่สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร
  • รายการเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่บันทึกรายการซื้อ ที่เกิดขึ้น
  • กิจการแสดงมูลค่าทุนจดทะเบียนไว้ครบตามจำนวน แต่จากข้อเท็จจริงกิจการ ได้รับชำระค่าหุ้นไม่ครบ และไม่ได้รับรู้เป็นลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ รวมทั้งไม่ได้ คิดดอกเบี้ย

อ่านมาจนถึงตรงนี้คงต้องร้องโอ้โหเลยล่ะ เพราะว่างบการเงินนั้น หากไม่ได้บันทึกให้ถูกต้องและแสดงตามข้อเท็จจริง แล้วจะมาแสดงในงบแสดงฐานะการเงินนั้น ขอบอกเลยว่าทำอย่างไรก็ไม่เนียน ไม่อาจรอดพ้นไปจากสายตากรมสรรพากรได้แน่ๆค่ะ ยังไงก็ต้องมีช่องโหว่ให้สรรพากรตรวจจับความเสี่ยงอย่างแน่นอน ถ้ารู้แบบนี้แล้ว เราควรจะเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องแล้วนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง สบายใจกันทุกฝ่ายค่า

ผลของการจัดทำงบแสดงฐานะการเงินไม่ถูกต้องนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงถึงการยื่นภาษีไม่ถูกต้อง และถ้าอยากศึกษาเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม ไม่เสี่ยงโดนสรรพากรตรวจสอบ

เรามีคอร์สอบรมภาษีเงินได้นิติบุคคลกับข้อควรระวังให้เพื่อนๆได้ศึกษาเพิ่มเติมค่ะ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทักเรามาได้เล้ยยยย
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

ขอบคุณที่มา : เอกสารประกอบการบรรยาย “ประเด็นความเสี่ยงจากการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย กองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษีกรมสรรพากร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า