เชื่อแน่ว่าทุกธุรกิจต้องมีการเช่าอย่างน้อยสัก 1 อย่างในสำนักงานค่ะ เช่น เช่ารถ เช่าเครื่องถ่ายเอกสาร หรือเช่าเครื่องจักร ซึ่งการเช่าก็มีหลากหลายรูปแบบ ในทางบัญชี ลักษณะของแต่ละสัญญาจะเรียกว่าสัญญาประเภทใดบ้าง นักบัญชีต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเช่า ตลอดจนถึงการบันทึกบัญชี ถ้านักบัญชีเจอสัญญาเหล่านี้แล้วเราต้องเช็คอะไรบ้าง ในวันนี้ CPD Academy พาทุกคนมาเรียนรู้พร้อมๆ กันค่ะ
1. สัญญาเช่า คืออะไร
เริ่มต้นเรียนรู้จาก สัญญาเช่า คืออะไร
การทำสัญญา เช่าสินทรัพย์ ในแต่ละสัญญาก็จะระบุเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ตามข้อตกลงระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า
ในมุมมองบัญชี เราต้องเข้าใจในธุรกิจของตัวเองเสียก่อนว่า เราต้องใช้มาตรฐานบัญชีเล่มไหนในการทำงาน
ซึ่งสำหรับประเทศไทยมีมาตรฐานการบัญชี 2 เล่ม คือ
- TFRS16 คือ มาตรฐานการบัญชีชุดใหญ่สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
- TFRS for NPAES บทที่ 14 คือ มาตรฐานรายงานทางการเงินเกี่ยวกับสัญญาเช่า สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ
ในบทความนี้เราจะขอเลือกอธิบายเกี่ยวกับ TFRS for NPAEs สำหรับสัญญาเช่า บทที่ 14 นะคะ
หากเพื่อนๆสนใจ TFRS 16 เราก็มีบทความให้เพื่อนๆได้ศึกษาเพิ่มเติมเช่นกัน เลือกอ่านได้ตามลิงค์เลยค่า
สรุปประเด็น TFRS 16 และเหตุผลทำไมต้องเปลี่ยน
สรุปประเด็น TFRS 16 คืออะไร ต่างกับ TFRS for NPAEs อย่างไร
2. TFRS 16 vs NPAES ใครใช้ชุดไหน
TFRS หมายถึง มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก IFRS โดย คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ ปฏิบัติตามให้ออกมาเป็นรูปแบบงบการเงินแก่ผู้ใช้งบการเงิน เช่น นักลงทุน สถาบันการเงิน กรมสรรพากร เป็นต้น
TFRS for NPAES หมายถึง มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Non-Publicly Accountable Entities – NPAEs) หมายถึง กิจการที่ไม่ใช่ กิจการดังต่อไปนี้
TFRS | TFRS for NPAEs |
1. กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการ ซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชน 2. กิจการที่ดําเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม เป็นต้น 3. บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน 4. กิจการอื่นที่จะกําหนดเพิ่มเติม | กิจการที่ไม่ใช่กิจการมีส่วนได้เสียสาธารณะ 4 ข้อด้านซ้าย |
3. ความหมายตาม NPAEs คืออะไร มีกี่ประเภท จำแนกอย่างไร
TFRS for NPAES บทที่ 14 ใช้สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ กล่าวไว้ว่า กิจการต้องพิจารณาจากความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ที่เช่าว่าตกอยู่กับผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า
กิจการต้องจัดประเภทสัญญาเช่าที่บอกเลิกไม่ได้ เป็น Financial Lease หากสัญญานั้นทำให้เกิดสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างน้อย 1 สถานการณ์
1. โอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ ณ วันสิ้นสุดสัญญา |
2. สิทธิเลือกซื้อสินทรัพย์ในราคาที่ถูก |
3. อายุสัญญาครอบคลุมอายุส่วนใหญ่ของสินทรัพย์ |
4. มูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าขั้นต่ำครอบคลุมมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ |
ถ้าหากสัญญาเช่าที่บอกเลิกไม่ได้ ไม่เกิดสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จะถูกจำแนกเป็น Operating Lease
สรุป คือ การจำแนกจะพิจารณาเรื่องของการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทน ว่าเป็นของผู้เช่าหรือไม่ หรือพูดง่ายๆก็คือ ผู้เช่าได้สินทรัพย์อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านบ้างนั่นเอง
ถ้าเพื่อนๆยังนึกภาพไม่ออก สามารถศึกษาบทความ การจำแนกประเภทของสัญญา โดยละเอียดได้เลยนะคะ
และเมื่อเพื่อนๆสามารถเรียนรู้และเข้าใจในการจำแนก Financial Lease แล้วว่าแต่ละประเภทจำแนกอย่างไร เรื่องต่อไปที่ควรรู้ คือ การบันทึกบัญชี ทางเราก็มี บทความตัวอย่างการบันทึกบัญชีในด้านผู้เช่าและผู้ให้เช่า ให้เพื่อนๆได้ดูตัวอย่างเช่นกันค่ะ
4. สรุปความแตกต่างด้านบัญชี-ภาษี
นอกจากเรื่องของมาตรฐานฉบับไหน ใครใช้ยังไง กับการจำแนกสัญญาแล้ว เรื่องที่นักบัญชีต้องรู้ ก็คือ ข้อแตกต่างของการเช่า เช่าซื้อ ลิสซิ่ง ทางด้านของบัญชีและภาษี ว่าแตกต่างกันอย่างไร และกระทบอะไรบ้างมาลองดูกันค่ะ
สรุปและจำง่ายๆตามภาพก็คือ
ความเสี่ยงและผลประโยชน์เป็นของผู้เช่า = Financial Lease
และในทางกลับกัน
ความเสี่ยงและผลประโยชน์เป็นของผู้ให้เช่า = Operating lease
และมาถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาทางภาษี
ทางภาษี แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ 1. สัญญา เช่าซื้อ 2. สัญญา เช่าทรัพย์
- สัญญาเช่าซื้อ
เมื่อเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนตามที่ตกลงกันตามสัญญา
- สัญญาเช่าทรัพย์
สัญญาซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด (ไม่ได้ขายหรือให้) และผู้เช่าตกลงให้ค่าเช่า เพื่อการใช้ทรัพย์สินตามตกลง
จากความหมายของแต่ละสัญญา สามารถสรุปได้ดังนี้
สัญญาใดที่ระบุว่า จะขายหรือให้ทรัพย์สินแก่ผู้เช่า ถือว่าเป็นสัญญา เช่าซื้อโดยปริยาย
การเช่า เช่าซื้อและลิสซิ่ง ก็มีเพียงแต่ สัญญา เช่าซื้อ ที่สัญญาระบุว่าขายหรือให้ จึงทำให้ Financial Lease แบบเช่าซื้อ = สัญญา เช่าซื้อทางภาษี เพียงอย่างเดียว
นอกนั้นให้ตีเป็นสัญญา เช่าทรัพย์ทั้งหมดค่ะ
ภาพนี้จะเป็นการสรุปภาพรวมของข้อแตกต่างทางบัญชี – ภาษีว่าสัญญาแต่ละชนิดเป็นสัญญาทางบัญชีและภาษีประเภทใด
เมื่อมีข้อแตกต่างทางด้านบัญชีและภาษีก็ต้องมีรายการปรับปรุงเพื่อที่จะคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมา เพื่อนๆสามารถดูวิธีปรับปรุงในส่วนของแตกต่างทางบัญชีและภาษีได้ตามนี้เลยค่ะ
เช่า เช่าซื้อ ลิสซิ่ง วิธีการปรับปรุงรายการทั้ง 3 แบบ
5. ตัวอย่างเช่าซื้อรถ นักบัญชีต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง
สัญญาที่จัดทำบ่อยๆในแทบทุกกิจการ ก็คือสัญญา เช่าซื้อรถ
ทางเราก็เลยจะมายกตัวอย่างสำหรับการเช่าซื้อรถ และข้อควรระวังของนักบัญชีค่ะ
เริ่มต้นเราต้องรู้ก่อนค่ะ ว่ารถที่เราซื้อนั้น เป็นรถชนิดใด
- ด้านบัญชีไม่ได้มีปัญหากับประเภทของรถยนต์นะคะ เอกสารครบ สัญญาครบ ก็สามารถบันทึกบัญชีได้แล้ว
- ด้านภาษี จะแบ่งเรื่องของประเภทรถยนต์ออกเป็น 2 กลุ่มตามพิกัดอัตราสรรพสามิต
– รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน
– รถยนต์นั่งเกิน 10 ที่นั่ง รถกระบะเชิงพาณิชย์ จักรยานยนต์
ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพราะว่า มีผลเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และค่าเสื่อมราคานั่นเองค่ะ เพราะต้นทุนของรถยนต์นั่งที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ทางภาษีนั้นคิดค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด 1 ล้านบาทเท่านั้นค่ะ
หากเพื่อนๆอยากทราบเกี่ยวกับข้อกฏหมาย สามารถตามอ่านบทความได้เพิ่มเติมนะคะ
สัญญา เช่าซื้อรถยนต์นักบัญชีต้องรู้อะไรบ้าง
หรือเพื่อนๆอยากทราบเกี่ยวกับวิธีการบันทึกบัญชีสัญญา เช่าซื้อรถยนต์ก็ตามลิงค์ได้เลยจ้า เพื่อจะได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับ ความต่างเรื่องค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษี ได้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ
เมื่อทางด้านบัญชีและภาษี คิดไม่เหมือนกัน แน่นอนต้องมีผลตามมา เป็นข้อควรระวังของนักบัญชี คือเรื่องของการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลค่ะ
มีความต่างเรื่องค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษีค่ะ หากทำสัญญาประเภทเช่าซื้อรถ ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายตามนี้
ค่าใช้จ่ายทางบัญชี | ค่าใช้จ่ายทางภาษี |
Financial Lease (เช่าซื้อ) – ค่าเสื่อมราคา(ราคาเงินสด) – ดอกเบี้ย | สัญญา เช่าซื้อ – ค่าเสื่อมราคา(ราคารวมดอกเบี้ย) ต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อในรอบบัญชี |
วิธีการปรับปรุงง่ายๆ คือ 1. บวกกลับรายจ่ายทางบัญชี 2. คำนวณรายจ่ายทางภาษีและปรับปรุงเพื่อยื่นแบบ ภงด. 50
เรื่องที่นักบัญชีต้องระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ เรื่องของการคำนวณตารางและการปรับปรุงรายการทางภาษีค่ะ
เนื่องจากภาษีจะสามารถให้รับรู้ค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากับทางบัญชี ก็ต้องมาทำการปรับปรุงให้ถูกต้องนะคะ
เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับสัญญาเช่าซึ่งเราเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานนะคะ และถ้าเพื่อนๆ สนใจศึกษาความรู้บัญชีเพิ่มเติม ลองไปดูได้ที่นี่เลยนะคะ อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y