ความรู้บัญชี

แชร์วิธีอ่านหนังสือสอบ CPA ยังไงให้ผ่าน

แชร์วิธีอ่านหนังสือสอบ CPA ยังไงให้ผ่าน

หนึ่งในอาชีพที่ใครหลายคนต่างหมายปองนั่นก็คือ ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาติหรือ CPA ซึ่งอาชีพนี้ไม่ใช่ว่าใครก็จะเป็นกันได้ง่าย ๆ นะคะ เพราะมีด่านสำคัญรออยู่ 2 ด่านด้วยกันคือการเก็บชั่วโมงฝึกหัดงาน และการสอบให้ผ่าน 6 วิชานั่นเอง

หลาย ๆ คนคงจะผ่านด่านแรกได้โดยไม่ยากเย็นนัก แต่ด่านที่ 2 นี่ซิ!! การสอบตั้ง 6 วิชา เพราะแต่ละวิชานั้นไม่ง่ายเลย แต่ไม่เป็นไรค่ะ สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี วันนี้เราจะมาแชร์วิธีอ่านหนังสือสอบ CPA ยังไงให้ผ่านกันค่ะ

แชร์เทคนิคการเตรียมตัว

เทคนิคอ่านหนังสือสอบ CPA โดยทั่วไปก็อาจจะคล้าย ๆ กับการอ่านหนังสือสอบสมัยที่เราเรียนการบัญชีในมหาวิทยาลัย แต่จะแตกต่างกันอยู่นิดหน่อยดังนี้ค่ะ

เทคนิคลงสอบตอนช่วงงานหนัก

สำหรับคนทำงานออดิตอยู่ ช่วงเดือน มกราคม – พฎษภาคม จะต้องคิวทองมากแน่ ๆ งานแน่นสุด ๆ การจะลงสอบช่วงนี้เรียกได้ว่าต้องลงสอบวิชาที่ไม่ต้องอ่านเนื้อหาเยอะ ๆ วิชาบัญชี1 หรือวิชากฎหมาย 2 นี่ตัดออกไปก่อนเลยเพราะเนื้อหาแน่นและละเอียดมาก

ควรลงสอบวิชาที่เน้นการใช่ความเข้าใจและใช้ในการทำงานออดิตอยู่แล้วเช่น สอบบัญชี 1 หรือวิชาบัญชี 2 ก็จะมีเนื้อให้อ่านน้อยลง แต่เน้นการใช้ความเข้าใจและใช้ประสบการณ์ในงานสอบบัญชีช่วยในการสอบได้ค่ะ

สำหรับคนที่ทำงานเป็นนักบัญชี ช่วงสิ้นเดือนถึงต้นเดือนก็จะยุ่งหน่อย แต่อาจจะไม่เท่ากับงานออดิต ดังนั้นเราสามารถออกแบบแผนการสอบได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าเรางานเราหนักหน่วงแค่ไหน

โดยอาจจะลงสอบ 2 – 3 วิชา ต่อรอบการสอบได้เลย แต่สำหรับคนที่มีเวลามาก ๆ ก็อาจจะลงสอบได้ถึง 3 – 4 วิชาได้เลย แต่ถ้าจะให้พอดีสำหรับการโฟกัสเราคิดว่าทีละ 2 – 3 วิชากำลังพอดีเลยค่ะ

สำหรับคนที่ลาออกมาอ่านหนังสือเพื่อสอบนั้น แน่นอนว่าฟรีสไตล์สุด ๆ ขึ้นอยู่กับว่าขยันแค่ไหน ถ้าขยันอ่านมาก ๆ ก็อาจจะลงสอบถึง 6 วิชาเลยก็ได้เช่นกันค่ะ

เทคนิคอ่านหนังสือสอบในวัยทำงาน

วัยทำงาน เราไม่ได้ทำงานแค่บางเวลาเรียนบางเวลา แต่การทำงานจริง ๆ นั้นต้องทำอย่างน้อย ๆ ก็ 8 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว ยิ่งกำลังทำงานออดิตอยู่ ก็อาจจะต้องมีโอทีอยู่ดึกไปอีกนะคะ

โดยการเทคนิคการอ่านหนังสือตอนมีเวลาน้อย ๆ คือการฝึกทำโจทย์ปรนัย แทนการอ่านอัตนัยหรือเนื้อหาที่ยาว ๆ ก็จะช่วยให้เราตัดจบแต่ละพาร์ทการอ่านได้ง่าย ๆ และไม่มีการค้างเนื้อหาที่ยังไม่จบต่อไปอีกวันนึง

ตัวอย่างเช่นแทนที่จะอ่านเนื้อหายาว ๆ ก็เปลี่ยนเป็น ฝึกทำโจทย์ปรนัยหลังเลิกงานโดยใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมงหลังจากเลิกงานทานข้าวเสร็จแล้ว และตั้งเป้าปรนัยไว้วันละ 40 ข้อเป็นต้นค่ะ หรือหากใครที่เครื่องฟิตมาก ๆ ก็ตื่นมาตอนเช้า 1 ชั่วโมง ทำโจทย์ปรนัย 40 ข้อก่อนไปทำงานได้นะคะ

สำหรับโจทย์อัตนัยหรือเนื้อหายาว ๆ เราก็ใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ ในการอ่านเนื้อหา และฝึกทำโจทย์อัตนัย วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราบริหารเวลาในการอ่านหนังสือสอบ CPA ในวัยทำงานเยอะมากเลยค่ะ

เทคนิคอ่านหนังสือสอบในวัยทำงาน
เทคนิคอ่านหนังสือสอบในวัยทำงาน

เทคนิคเลือกวิชาลงสอบ

โดยช่วงการสอบ CPA นั้นจะสอบสุดสัปดาห์ในวันเสาร์และอาทิตย์ และระยะห่าง 1 สัปดาห์สำหรับการสอบหมวดถัดไป เช่น สัปดาห์ที่ 1 วิชาบัญชี สัปดาห์ที่ 2 วิชาสอบบัญชี สัปดาห์ที่ 3 วิชากฎหมาย

เราจะแบ่งประเภทของวิชาสอบเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่ใช้ความเข้าใจในการสอบเป็นหลัก และกลุ่มที่เนื้อหาเยอะเน้นท่องจำด้วยและทำความเข้าใจด้วย

สอบ CPA ยากไหม สำหรับมือใหม่หัดสอบ CPA ก็ต้องบอกว่ารายละเอียดเนื้อหาสอบ CPA แต่ละวิชามีความยากง่ายต่างกันไป แต่ก็พอจะจับกลุ่มวิชาสอบได้ดังนี้

กลุ่มแรก วิชาเบา ประกอบด้วย บัญชี 2+สอบบัญชี 1+กฎหมาย 1 เน้นใช้ความเข้าใจ ถ้าเข้าใจวัตถุประสงค์ รู้โครงสร้าง ที่เหลือก็ต้องฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ ให้คล่อง

ส่วนกลุ่มที่ 2 วิชาหนัก ประกอบด้วย บัญชี 1+สอบบัญชี 2+กฎหมาย 2 เนื้อหาจะเยอะกว่ากลุ่มแรก ทำความเข้าใจอย่างเดียวไม่ได้ต้องจำบางส่วนด้วย เช่น วิชาสอบบัญชี 2 ต้องจำรูปแบบหน้ารายงาน วิชากฎหมาย 2 ต้องจำกฎหมายภาษีเป็นต้น

โดยการสอบควรจับคู่ลงสอบอย่างน้อยสัก 2 วิชา และถ้าไม่หนักมากแบบที่อ่านทันใน 4 เดือน ก็ไม่ควรเกิน 3 วิชา (อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยว่าไหวแค่ไหน) การจับคู่ให้เราเลือก 1 วิชาหนัก และ 1-2 วิชาเบา เช่น

  • บัญชี 1 + สอบบัญชี 1 และ/หรือกฎหมาย 1
  • สอบบัญชี 2 + บัญชี 2 และ/หรือกฎหมาย 1
  • กฎหมาย 2 + บัญชี 2 และ/หรือสอบบัญชี 1
เทคนิคเลือกวิชาลงสอบ
เทคนิคเลือกวิชาลงสอบ

จากตัวอย่างกำหนดการสอบ CPA สังเกตวิชาที่จับคู่นะคะ การจับคู่ทางที่ดีไม่ควรจับคู่วิชาหมวดเดียวกันไว้ด้วยกันเช่น บัญชี 1 + บัญชี 2 เพราะหลังจากสอบวิชาบัญชี 1 วันเสาร์แล้วต้องสอบวิชาบัญชี 2 ต่อวันอาทิตย์ ทำให้มีเวลาเตรียมตัวระหว่างวิชาน้อย การสอบจึงควรจับคู่ข้ามหมวดเพื่อให้เราได้มีเวลาเตรียมตัวบ้างนะคะ

เทคนิคเลือกวิชาลงสอบ-2
เทคนิคเลือกวิชาลงสอบ-2

เทคนิคการทำข้อสอบ

ข้อสอบจะประกอบไปด้วยปรนัย 40 ข้อ 40 คะแนน และอัตนัย 3 ข้อใหญ่รวม 60 คะแนน คะแนนทั้งหมด 100 คะแนน เกณฑ์ผ่าน 60 คะแนน เวลาในการสอบ 4 ชั่วโมง ดังนั้นเป้าหมายของเราคือทำยังไงก็ได้ให้ถึง 60 คะแนนเราก็จะผ่านการทดสอบวิชานั้น ๆ

การทำโจทย์อัตนัย

การทำโจทย์อัตนัย โดยส่วนตัวแล้วให้ทำหลังจากปรนัยแต่ก่อนจะไปทำปรนัย ให้เรามาเช็คข้อสอบอัตนัยก่อน 1 รอบ โดยการอ่านโจทย์คร่าว ๆ แล้วดูว่าโจทย์ถามอะไร หากรู้คำตอบให้ Short note ไว้ แล้วมาเขียนบรรยายคำตอบหลังจากทำปรนัยเสร็จ เพราะบางทีคำตอบของโจทย์อัตนัยที่เราคิดไม่ออก อาจจะได้แนวทางการตอบมาจากโจทย์ปรนัยก็ได้

เวลาในการสอบ 4 ชั่วโมงควรแบ่งสำหรับการทำอัตนัย 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการเขียนบรรยายคำตอบอาจจะใช้เวลานาน

การทำโจทย์ปรนัย

การทำโจทย์ปรนัย ถ้าอ่านโจทย์ 1 รอบแล้วรู้คำตอบเลย ให้เราทำข้อที่รู้คำตอบก่อน หากอ่าน 1 รอบแล้วงง ให้ข้ามไป ทำข้อที่ได้ก่อน แล้ววนกลับมาใหม่ เพราะโจทย์บางข้อตั้งใจเขียนโจทย์ให้ยาว ๆ งง ๆ ทำให้เสียเวลาอ่าน เสียเวลาคิด จึงต้องทำข้อที่คิดว่าได้แน่ ๆ ก่อน หากข้อไหนไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องเดาคำตอบไป โอกาสถูก 1 ใน 4 เพราะมีแค่ 4 ตัวเลือก ฮ่าๆ

เวลาในการสอบ 4 ชั่วโมงควรแบ่งสำหรับทำปรนัย 1 ชั่วโมงรวมฝนคำตอบแล้ว เวลาเฉลี่ยข้อละ 1:30 นาที ถ้าข้อที่อ่านแล้วรู้คำตอบเลยน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที เวลาที่เหลือจึงมีพอที่จะทำข้อคำนวนหรือข้อที่ต้องคิดซับซ้อน

เทคนิคการทำข้อสอบ
เทคนิคการทำข้อสอบ

สรุปอ่านหนังสือสอบ CPA ยังไงให้ผ่าน

การสอบ CPA นั้นเป็นการสอบใบประกอบวิชาชีพที่อยู่ในระดับยากถึงยากมาก การอ่านหนังสือสอบ CPA ก็จำเป็นจะต้องใช้ความอดทน และโฟกัสกับการเตรียมตัวสอบ CPA ให้สำเร็จไปได้ด้วยดีเช่นกัน การวางแผนเป็นตัวช่วยเบื้องต้น แต่การลงมือทำนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้ผลสำเร็จ โดยผู้เขียนเองก็ไม่ได้เป็นคนที่เก่งมากมาย แต่ก็สอบผ่านได้เช่นกัน และเชื่อว่าเพื่อน ๆ ไม่จำเป็นต้องเก่งระดับเทพ ก็มีโอกาสที่จะผ่านการทดสอบได้เช่นกันค่ะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า