ในการปิดบัญชีประจำปี นักบัญชีมักจะได้ยินบ่อยๆ ว่า “อย่าลืมบันทึกประมาณการหนี้สินนะ” ไม่งั้นงบการเงินจะไม่สมบูรณ์
แล้วทุกคนเคยสงสัยมั้ยคะว่า ประมาณการหนี้สิน คืออะไร บันทึกบัญชีแบบไหน นอกจากนี้แล้วทุกคนก็น่าจะสงสัยต่อว่าแล้วเจ้าประมาณการหนี้สินนี้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ไหมนะ วันนี้เราจะมาอธิบายให้เพื่อนๆ ฟังชัดๆ กันไปเลยค่ะ
ประมาณการหนี้สิน คืออะไร?
ตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS for NPAEs ได้ให้นิยามทางบัญชีไว้แบบนี้
ประมาณการหนี้สิน คือ หนี้สินหรือภาระผูกพันในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาหรือจำนวนที่ต้องจ่ายชำระ
ประมาณการหนี้สินจะต้องรับรู้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้
- กิจการมีภาระผูกพันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีตไม่ว่าภาระผูกพันนั้นจะเป็นภาระผูกพันตามกฎหมายหรือภาระผูกพันจากการอนุมาน
- มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อกิจการเพื่อจ่ายชำระภาระผูกพันดังกล่าว
- สามารถประมาณจำนวนของภาระผูกพันได้อย่างน่าเชื่อถือ
เมื่อเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้ว กิจการต้องรับรู้ประมาณการหนี้สินด้วยจำนวนประมาณการที่ดีที่สุดของรายจ่ายที่ต้องนำไปจ่ายชำระภาระผูกพันในปัจจุบัน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
Keyword สำคัญก็คือ คำว่า “ประมาณการที่ดีที่สุด” และ Timeline ที่สนใจ คือ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน
ตัวอย่างประมาณการหนี้สินที่พบบ่อย
1. การรับประกันสินค้า
บริษัท ก. จำกัด ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้การรับประกันสินค้าเมื่อขายสินค้าให้กับลูกค้าภายใต้เงื่อนไขของสัญญาขายผู้ผลิตจะรับผิดชอบสินค้าให้อยู่ในสภาพดี โดยการซ่อมหรือเปลี่ยนแทนสินค้าที่มีตำหนิภายในเวลา 3 ปี นับจากวันที่ซื้อ
จากประสบการณ์ในอดีตของผู้ผลิตพบว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ ที่จะมีการเรียกร้องการรับประกันสินค้า
ดังนั้น กิจการต้องรับรู้ประมาณการหนี้สินด้วยจำนวนประมาณการที่ดีที่สุดของต้นทุนในการทำให้สินค้าอยู่ในสภาพดีภายใต้การรับประกันสินค้าที่ขายไป ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน เช่น คาดว่าจะมีคนมาเคลมสินค้าจำนวน 1,000 ชิ้น ต้นทุนค่าซ่อมแซมชิ้นละ 1,000 บาท รวมเป็นประมาณการหนี้สิน 1,000 x 1,000 = 1,000,000 บาท
2. ประมาณการหนี้สินจากการรื้อถอน
บริษัท ข. ทำสัญญาเช่าสำนักงานขนาดใหญ่กับตึก CP โดยในสัญญาระบุไว้ว่า ผู้เช่ามีสิทธิ์ต่อเติมตกแต่งพื้นที่เช่า แต่ว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด ผู้เช่าจะต้องทำให้สำนักงานอยู่ในสภาพเหมือนเดิมก่อนที่จะส่งมอบคืน มิเช่นนั้นจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน และมีค่าปรับที่ต้องชดใช้
ดังนั้น กิจการจะต้องประมาณการหนี้สินที่เกิดจากการรื้อถอนสำนักงานให้อยู่ในสภาพปกติเมื่อสิ้นสุดสัญญาด้วย โดยประมาณการจากประสบการณ์ในอดีต หรือให้วิศวกรคำนวณประเมินราคาให้ และบันทึกไว้ในงบการเงิน
3. ประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน
บริษัท ลูกจ้างเยอะ จำกัด เปิดมา 13 ปี เจริญรุ่งเรืองเติบโต และปัจจุบันมีพนักงานอยู่ 300 คน ตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน กล่าวไว้ว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ แม้ว่าจะมีการตกลงไว้หรือไม่ก็ตาม และนอกจากนี้หากนายจ้างไล่พนักงานออกก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น บริษัท ลูกจ้างเยอะ จำกัด จึงมีภาระผูกพันตามกฎหมายแรงงานที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าผลประโยชน์พนักงานในอนาคต จึงจะต้องตั้งประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงานในงบการเงินด้วย
ประมาณการหนี้สินบันทึกบัญชีอย่างไร?
ดูตัวอย่างการประมาณการหนี้สินที่พบบ่อยแล้ว ถัดมาทุกคนคงสงสัยว่าจะบันทึกบัญชียังไงกันนะ
1.เมื่อตั้งประมาณการหนี้สิน
บริษัท ก. คำนวณและบันทึกประมาณการหนี้สินจากการรับประกันสินค้า
Dr. ประมาณการค่าใช้จ่ายจากการรับประกันสินค้า (ค่าใช้จ่าย) 1,000,000
Cr. ประมาณการหนี้สินจากการรับประกันสินค้า (หนี้สิน) 1,000,000
2. เมื่อจ่ายชำระจริง
เมื่อลูกค้ามาเคลมสินค้า และจ่ายค่าซ่อมแซมสินค้าให้กับลูกค้า
Dr. ประมาณการหนี้สินจากการรับประกันสินค้า (หนี้สิน) 700,000
Cr. เงินสด 700,000
ประมาณการหนี้สินเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่
พอจะทราบที่มาที่ไป และหลักการทางบัญชีไปแล้ว ลองมาดูกันต่อว่าสำหรับด้านภาษี รายการนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่
สรุปหลักการทางภาษี
ตามประมวลรัษฎากรได้กล่าวไว้ว่า ประมาณการค่าใช้จ่ายถือเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองจึงไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในงวดที่เกิดการประมาณการ ต้องบวกกลับในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
แต่จะถือเป็นรายจ่ายได้เมื่อทราบจำนวนแน่นอนว่าต้องจ่าย
เช่น ในรอบระยะบัญชีเวลาถัดมา มีผู้มาเคลมสินค้าที่บริษัทได้รับประกันไว้ และมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเกิดขึ้นจริงจำนวน 700,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้จะถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
สรุปหลักการบัญชีและภาษี
จากตัวอย่างข้างต้น ทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่าประมาณการหนี้สินทางบัญชีนั้น แม้จะเป็นรายจ่ายทางบัญชีได้ในงวดนั้นๆ แต่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีไม่ได้ทันที ต้องรอให้เกิดขึ้นจริงก่อน จึงสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ เพราะทราบจำนวนแน่นอนและไม่ใช่รายจ่ายที่นั่งเทียนกำหนดขึ้นมาเอง
ดังนั้นอย่าลืมทำความเข้าใจเรื่องบัญชีและภาษีให้ดี ปิดงบปีนี้จะได้ทำได้อย่างถูกต้องนะคะ
เรียนรู้เรื่อง ค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษีอื่นเพิ่มได้ ที่นี่
อบรมบัญชีและภาษี เพื่อพัฒนาความรู้ต่อเนื่องด้านบัญชี ได้ที่นี่
สรุปความแตกต่างบัญชีและภาษีที่นักบัญชีควรรู้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y