ภาษี

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม ที่นักบัญชีควรรู้

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม ที่นักบัญชีควรรู้

เพื่อนๆนักบัญชีประสบปัญหานี้กันไหมคะ เจ้านายเอาบิลมาให้ลงรายจ่ายบริษัท แต่ในใจเราลึกๆก็รู้อยู่แล้วว่ารายจ่ายที่ไม่มีเอกสารตามเงื่อนไขกรมสรรพากร หรือค่าใช้จ่ายไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท พวกนี้ไม่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ วันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปทบทวนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต้องห้ามที่กฏหมายบอกว่าไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี เพื่อจะได้ทำความเข้าใจและอธิบายให้เจ้าของธุรกิจทราบ รวมไปถึงลงบัญชีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีอย่างถูกต้องด้วย

ค่าใช้จ่ายที่มีหลากหลายประเภท แบบไหนสรรพากรให้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ และแบบไหนถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้าม เราไปทำความเข้าใจแบบละเอียดกันในบทความนี้เลยค่ะ

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คืออะไร

รายจ่ายต้องห้าม  หมายถึง รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของนิติบุคคลและได้มีการบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการ แต่ในทางภาษีไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ขอบเขตรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 ตรี (รายจ่ายต้องห้าม)

พูดง่ายๆเป็นแบบนี้ค่ะ รายจ่ายต้องห้ามเป็นรายจ่ายทางบัญชีได้ตามปกติ แต่ว่าในทางภาษีไม่ให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ทางภาษี) นั่นเองค่ะ

ค่าใช้จ่ายต้องห้ามมีอะไรบ้าง

ตามกฎหมายแล้วรายจ่ายต้องห้ามนั้นมีทั้งหมด 20 ข้อด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย

ลำดับค่าใช้จ่ายต้องห้าม
1เงินสำรองต่าง ๆ เป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น  เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ
2เงินที่จ่ายเข้ากองทุนใด ๆ เป็นรายจ่ายต้องห้าม เว้นแต่ เงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เป็นรายจ่ายต้องห้าม เช่น รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว  รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา  รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการกุศล
4ค่ารับรองหรือค่าบริการ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
5รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน รายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ทรัพย์สินดีขึ้น
6เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากรค่าปรับทางอาญา
7การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นรายจ่ายต้องห้าม
8เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควรเป็นรายจ่ายต้องห้าม
9รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นเป็นรายจ่ายต้องห้าม
10ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เองเป็นรายจ่ายต้องห้าม
11ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
12ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืน เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ หรือผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามเว้นแต่ ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบัน
13รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
14รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
15ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติ
16ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
17ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลงถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
18รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
19รายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้วถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
20รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (19) ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นรายการรายจ่ายต้องห้ามทั้งหมดนะคะ แต่พอเพื่อนๆลองอ่านดูแล้ว สิ่งที่เราพบเจอกันบ่อย ที่เจอกันเป็นประจำ ก็มีไม่กี่ข้อ CPD Academy จะยกตัวอย่าง 6 ประเด็นที่พบบ่อยของรายจ่ายต้องห้าม ในหัวข้อถัดไปเลยค่ะ

“ 6 ประเด็นที่พบบ่อย ” เกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้าม

1. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว

รายจ่ายลักษณะส่วนตัว คือ รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยผู้รับไม่มีความผูกพันในทางธุรกิจการงานกับผู้ให้ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของกิจการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว จ่ายค่าไฟฟ้าที่บ้านของผู้บริหาร เป็นต้น

ถ้าเราเป็นนักบัญชีที่ได้รับคำสั่งว่าต้องบันทึกรายการนี้เข้าไป เราเองก็ต้องบอกความเสี่ยงกับผู้บริหารนะคะ ว่าถ้าลงบันทึกแล้วผลที่ตามมาจะต้องรับความเสี่ยงเกี่ยวกับอะไรบ้าง เบื้องต้นเลย คำถามจากผู้ตรวจสอบบัญชี และถ้าหากงบการเงินของเราเป็นผู้โชคดีได้รับการเลือกตรวจสอบจากสรรพากร ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็อาจจะต้องถูกประเมินในการคำนวณภาษีใหม่ค่ะ ก็อาจจะมีจ่ายค่าภาษีและค่าปรับ เงินเพิ่มที่ต้องจ่ายเพิ่มค่ะ

2. ค่ารับรอง

ค่าเลี้ยงรับรองลูกค้าที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ และค่ารับรองนั้นห้ามใช้กับลูกจ้าง เว้นแต่ ลูกจ้างมีหน้าที่ที่ต้องเข้าร่วมด้วยในการเลี้ยงรับรองนั้นด้วยค่ะ
แต่ถ้าเป็นค่ารับรอง ที่ให้เป็นสิ่งของแก่บุคคล ก็มีเกณฑ์กำหนดว่า สามารถให้ได้ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคนต่อครั้ง

ค่ารับรองหรือค่าบริการ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามนะคะ


หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดคืออะไร ใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เท่าไร ไปดูที่บทความเรื่อง “ค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้อย่างไร?” ได้เพิ่มเติมค่ะ

3. เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากรค่าปรับทางอาญา

ค่าปรับ เงินเพิ่ม ในที่นี้หมายถึง เบี้ยปรับ เงินเพิ่มตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญา และเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น
กิจการนำส่งแบบภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้า ต้องจ่ายเบี้ยปรับ 500 บาท และเงินเพิ่มตามที่กฏหมายกำหนด เป็นต้น

4. รายจ่ายกำหนดขึ้นเอง ไม่มีการจ่ายจริงหรือรายจ่ายที่ควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กำหนดค่าใช้จ่ายขึ้นมาเอง โดยไม่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ เป็นการตอบแทน


ยกตัวอย่างเช่น
ค่าอบรมพนักงาน บริษัทที่กิจการจัดขึ้นเองในองค์กร แต่ปีนี้ออเดอร์เยอะมาก  จนไม่มีเวลาจัดอบรม แต่อยากจะให้ค่าใช้จ่ายเป็นไปตามประมาณการที่วางแผนไว้ จึงตั้งเป็นค่าอบรมพนักงาน และค่าอบรมนี้ก็ยังเป็นบัญชีค้างจ่ายของบริษัท  แต่พนักงานในองค์กรไม่ได้การอบรมเป็นการตอบแทนเพื่อประโยชน์ของกิจการเลย แบบนี้ก็ถือว่า ผลประโยชน์ก็ไม่ได้รับในปี เงินก็ไม่ได้จ่าย เป็นรายจ่ายต้องห้ามแน่นอนค่ะ

5. รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

ถ้าจ่ายเงินแล้วไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนรับเงิน หรือไม่มีหลักฐานก็จะถือเป็น รายจ่ายต้องห้าม

ยกตัวอย่างเช่น
กิจการกำหนดในสวัสดิการพนักงาน จะต้องจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ทุกวันพุธ แต่ฝ่ายบุคคลชอบหาร้านอาหารที่หลากหลายมาให้พนักงาน ร้านอาหารก็ไม่มีใบเสร็จรับเงินให้ ได้แต่เขียนราคาใส่กระดาษมาให้เฉยๆ ว่ายอดที่ต้องจ่ายเป็นเท่าไหร่เท่านั้นเอง เท่ากับว่าค่าอาหารกลางวัน ไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ ก็ถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้าม

แต่หากบริษัทมีหลักฐานการจ่ายเงิน ระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปี จำนวนเงิน รายการที่จ่าย และให้ผู้รับเงินลงชื่อรับไว้พื่อเป็นหลักฐานในการหักเป็นรายจ่าย ซึ่งทำให้บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน ก็ไม่เข้าเป็นรายจ่ายต้องห้ามนะคะ หลักฐานการจ่ายเงินมีหลากหลายรูปแบบนะคะ เช่น ใบรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินเป็นต้น แต่เน้นย้ำนะคะ ว่าผู้รับเงินลงชื่อรับไว้พื่อเป็นหลักฐานในการหักเป็นรายจ่าย และเอกสารประกอบของผู้รับเงินให้ครบถ้วนด้วยนะ

6. รายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว

รายจ่ายนี้ หมายถึง การกำหนดจำนวนเงินที่จ่ายออกมาจากผลกำไรของกิจการ เช่น กำไรเยอะจ่ายเยอะ กำไรน้อยจ่ายน้อย

ยกตัวอย่างเช่น 
บริษัทจ่ายเงิน ค่าที่ปรึกษาการตลาด โดยคำนวณจากกำไรของแผนกการตลาดที่ได้รับการบริการ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามค่ะ

เพื่อนๆเคยสังเกตตอนผู้สอบบัญชีเขาตรวจสอบไหมคะ แล้วผู้สอบจะชอบถามถึงเกณฑ์การจ่ายเงินของค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็คือผู้สอบบัญชีกำลังระวังรายจ่ายต้องห้ามข้อนี้อยู่ค่ะ แล้วถ้าหากนักบัญชีอย่างเรารู้ภาษีข้อนี้ก็สามารถให้คำแนะนำกับเจ้าของกิจการได้ด้วยนะคะ ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกบวกกลับรายจ่ายข้อนี้ หากใช้เกณฑ์คำนวณจากกำไรที่ได้

รายจ่ายต้องห้าม
รายจ่ายต้องห้าม

ถ้ายังไม่จุใจเราลองมาดูอีกมุมมองนึงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต้องห้าม 4 ประเด็นที่ต้องระวังดังต่อไปนี้จากพี่หนอม

คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลทำอย่างไร เมื่อมีค่าใช้จ่ายต้องห้าม

ต่อไปเป็นตัวอย่างการคำนวณเพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง กำไรทางบัญชี และกำไรทางภาษีที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลค่ะ

3 4 - CPD Academy

จากรูปภาพข้างต้น เมื่อเราจัดทำงบกำไรขาดทุนจะได้ยอดกำไรสุทธิทางบัญชี เพื่อนๆก็จะทราบกำไรทางบัญชีซึ่งแสดงอยู่ในงบการเงิน คือ 174,000 บาท

และขั้นตอนต่อไปให้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่ามีรายการไหนบ้างที่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามกฏหมายกำหนด

ค่าใช้จ่ายจำนวนเงินลักษณะของรายจ่ายต้องห้าม
ค่ากระเป๋าแบรนด์เนม25,000 บาทรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว
ค่าปรับภาษียื่นล่าช้า 1,000 บาทเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร

รายจ่ายของข้อนี้ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ต้องนำไปบวกกลับ

คำว่า “บวกกลับ” หมายถึง ไม่ให้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี เพราะฉะนั้น กำไรสุทธิทางบัญชีที่เรามี จะต้องปรับปรุงดังนี้

กำไรทางบัญชี 174,000บาท
บวกค่าใช้จ่ายคือเข้าไป (บวกกลับ) – ค่ากระเป๋าแบรนด์เนม25,000บาท
บวกค่าใช้จ่ายคือเข้าไป (บวกกลับ) – ค่าปรับภาษียื่นล่าช้า1,000บาท
กำไรทางภาษี200,000บาท

สมมติถ้าหากเราไม่บวกกลับรายจ่ายต้องห้าม จะคำนวณภาษีได้ดังนี้

กำไรสุทธิอัตราภาษีค่าใช้จ่ายทางภาษี
ทางบัญชี 174,000 บาทx 20%=34,800 บาท
ทางภาษี 200,000 บาทx 20%=40,000 บาท

เพื่อนๆเห็นไหมคะ ว่ากำไรที่ต้องนำไปคูณกับอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น แสดงว่า ภาษีที่เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อนๆก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องรายจ่ายต้องห้ามดีๆ เลย เพราะว่า ถ้าเราไม่บวกกลับรายจ่ายต้องห้าม หากในอนาคตโดนตรวจสอบโดยสรรพากรขึ้นมา เราอาจจะต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มย้อนหลังของผลต่างที่เราต้องจ่ายจริงก็ได้นะคะ

เรายื่นให้ถูกต้องและครบถ้วนดีที่สุดค่ะ ไม่เสี่ยงโดนค่าปรับย้อนหลังนะคะ

นอกจากนี้แล้วยังมีรายจ่ายต้องห้ามอีกหลายอย่างเลยนะคะ แต่เรายกตัวอย่างมาที่เรามักพบเจอบ่อยๆ เพื่อทำความเข้าใจระหว่างการทำงานค่ะ ในกิจการเพื่อนๆมีข้อไหนที่อาจจะเข้าข่ายค่าใช้จ่ายต้องอยู่ เพื่อนๆก็สามารถลิสรายการออกมาเพื่อจะคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องที่สุด

แถมปีหน้า ก็ยังเอาหลักเกณฑ์ต่างๆ แนะนำให้หัวหน้า หรือเจ้าของกิจการเพื่อวางแผนภาษีในอนาคตได้ด้วยนะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า