การทำงานของนักบัญชี ต้องคู่กับงานภาษีอยู่แล้ว แต่งานภาษีจะค่อนข้างซีเรียสในเรื่องเดดไลน์ที่มีทั้งรายเดือน และรายปี แถมถ้าพลาดเดดไลน์ขึ้นมา มีผลกระทบคือ อาจจะต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ที่ไม่ควรจะเสีย เพราะว่าเราวางแผนงานหรือบริหารงานไม่ดี ทาง CPD Academy จะพามาวางแผนงานและทำความรู้จักกับปฏิทินภาษี เพื่อให้ทางเพื่อนๆนักบัญชีทุกท่าน นำไปปรับใช้ในงานของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
1. วางแผนงานยื่นภาษี
การวางแผนงานล่วงหน้าถือเป็นงานสำคัญ และนักบัญชีจะทำสำเร็จตามเวลาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนเลยค่ะ เราลองมาดูขั้นตอนการวางแผนงานเกี่ยวกับงานภาษีของเรากัน ในที่นี้เราขอแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนค่ะ
งานภาษีรายเดือน
เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น
ซึ่งภาษีเหล่านี้ต้องอาศัยการปิดบัญชีรายเดือน ให้ถูกต้องครบถ้วน ถึงจะสามารถทำข้อมูลการยื่นภาษีได้อย่างครบถ้วน
ยกตัวอย่างเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบภ.พ.30
รายงานที่ต้องนำส่ง คือ รายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย
ขั้นตอนการวางแผนงานมีดังนี้ค่ะ
1. ดูเดดไลน์สำหรับการยื่นภาษี
2. กำหนดวันที่งานเสร็จ พร้อมยื่นภาษี ก่อนเดดไลน์ สำหรับการตรวจสอบงาน
3. กำหนดวันทำงาน หรือจำนวนวันการสร้างข้อมูลนี้ให้แล้วเสร็จ
เสร็จแล้ว เราก็ต้องกำหนด ใครต้องทำบ้าง จำนวนวันที่ทำ กำหนดส่งวันไหน ลงไปในตารางานของเราและคนที่เรามอบหมายให้ปฏิบัติงานนั้นๆค่ะ
STEP 1 | กำหนดเดดไลน์ |
STEP 2 | กำหนดวันที่งานเสร็จ |
STEP 3 | กำหนดการ Action ในแต่ละขั้นตอน |
งานภาษีรายปี
เรื่องของการวางแผนงาน ก็จะเป็นลักษณะเดียวกับ งานภาษีรายเดือน แต่ว่า งานรายปี สโคปงานค่อนข้างจะใหญ่กว่า อาจจะต้องลงรายละเอียดมากขึ้น เช่น ระบุสิ่งที่ต้องทำเป็นข้อๆ ใส่เป็นรายละเอียดงานลงไปเลย แล้วกำหนดเดดไลน์ ส่งงาน และระบุว่าใครต้องเป็นคนทำ
ยกตัวอย่างเช่น การนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ภ.ง.ด.50 สำหรับปี 2565
เราควรวางแผนงานอย่างละเอียดตามนี้
1. พนักงานบัญชีทรัพย์สิน คำนวณค่าเสื่อมราคา และคำนวณภาษีที่เกี่ยวข้องกับการเช่าซื้อ ส่งภายใน 20 มกราคม 2566
2. พนักงานบัญชีทั่วไป บันทึกบัญชีรายการปรับปรุงให้ครบถ้วน ส่งภายใน 20 มกราคม 2566
3. พนักงานบัญชีเจ้าหนี้ ปรับปรุงตั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นของปีที่ปิดงบการเงินให้ครบถ้วน ส่งภายใน 20 มกราคม 2566
4. ผู้ช่วยผู้จัดการบัญชี ตรวจสอบความถูกต้อง ปิดบัญชี ร่างงบการเงิน และร่าง ภ.ง.ด.50 ภายใน 23 มกราคม 2566
5. ผู้จัดการบัญชี ตรวจสอบความถูกต้องของร่างงบการเงิน ร่างภ.ง.ด.50 ภายใน 25 มกราคม 2566 และนำส่งข้อมูลให้ผู้สอบบัญชีต่อไป
สรุปภาพเป็นตารางได้ดังนี้ค่ะ
ตำแหน่งงาน | งานที่ต้องทำ | กำหนดส่ง |
พนักงานบัญชีทรัพย์สิน | ทะเบียนทรัพย์สิน คำนวณภาษีรายการเช่าซื้อ | 20 มกราคม 2566 |
พนักงานบัญชีทั่วไป | บันทึกบัญชีรายการปรับปรุง | 20 มกราคม 2566 |
พนักงานบัญชีเจ้าหนี้ | รายการปรับปรุงเจ้าหนี้ | 20 มกราคม 2566 |
ผู้ช่วยผู้จัดการบัญชี | ร่างงบการเงิน และร่าง ภ.ง.ด.50 | 23 มกราคม 2566 |
ผู้จัดการบัญชี | ตรวจสอบความถูกต้องและนำส่งข้อมูลให้ผู้สอบบัญชี | 25 มกราคม 2566 |
การวางแผนแบบนี้ จะทำให้งานยื่นภาษีของเรา ไม่เลยกำหนดเดดไลน์แน่นอน แต่ถ้าระหว่างทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เราอาจจะต้องปรับการวางแผนตามหน้างาน เพื่อที่จะช่วยให้งานของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ทั้งทีมบัญชีของเรานะคะ
2. ทำความรู้จัก “ปฏิทินภาษี” คืออะไร ดูที่ไหน
ถ้าเรารู้จักกับปฏิทินงานภาษีจะมีประโยชน์ในการวางแผนการทำงานอย่างมาก กรมสรรพากรเค้ารู้ใจเราค่ะ จึงสร้างสรรค์ปฏิทินภาษีขึ้นมา เพื่อให้นักบัญชีหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างราบรื่น และไม่เสี่ยงที่จะเสียค่าปรับอีกด้วยค่ะ
มาดูวิธีเข้าไปดูเพียง 4 ขั้นตอนกัน
1. เริ่มต้น เข้าไปที่ www.rd.go.th ได้เลย เป็นเว็บไซต์หลักของกรมสรรพากร
2. ด้านบนขวา ของหน้าต่างที่ขึ้นมา ให้คลิกที่ “ข่าวกรมสรรพากร”
3. ถัดมา ด้านล่างซ้าย ให้คลิกที่ “ปฏิทินภาษีอากร”
4. เลือกเดือนที่ต้องการดูได้เลย
ปฏิทิน ภาษีอากรบอกอะไรบ้าง บอกวันที่สุดท้ายที่สามารถยื่นแบบภาษีได้ค่ะ
การยื่นแบบมี 2 อย่าง
1. ยื่นแบบนำกระดาษไปยื่นที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
2. ยื่นแบบผ่าน Internet ทาง Web Site ของกรมสรรพากร ที่ www.rd.go.th
ในยุคสมัยนี้เพื่อนๆคงเลือกยื่นแบบผ่าน Internet กันหมดแล้ว เพราะทั้งสะดวกสบาย เลี่ยงการจราจรติดขัด ประหยัดค่ารถที่จะไปยื่นแบบที่สรรพากรพื้นที่สาขาด้วย และที่สำคัญเลยไม่ต้องต่อคิวนานใช่ไหมคะ ซึ่งการยื่นแบบผ่าน Internet ก็จะได้สิทธิ์ขยายเวลายื่นแบบไปอีก 8 วันเลยค่ะ แล้วประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถบริหารจัดการเงิน มีเครดิตได้อีก 8 วันเช่นกัน แบบนี้หมุนเวียนเงินสดได้สบายๆ บอกชื่อแบบภาษีที่ต้องยื่นอย่างชัดเจน ไม่หลงวันแน่นอน ในแต่ละวันที่ ทางสรรพากรแสดงชื่อแบบไว้ ว่าต้องยื่นแบบอะไรบ้างในวันที่นั้นๆได้อย่างชัดเจนมากค่ะ
ช่วงนี้มีเดดไลน์2 อย่าง ที่สำคัญมากๆเลยนะคะเพื่อนๆ
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50
- ยื่นแบบรายงานประจำปีฯ (Disclosure Form)
เพื่อนๆ ต้องยื่นแบบนำเอกสารไปยื่นที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา : เดดไลน์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2566
ยื่นแบบผ่าน Internet : เดดไลน์ วันที่ 7 มิถุนายน 2566
ถ้าเพื่อนๆลองนับดูยื่นแบบผ่าน Internet ก็จะได้รับสิทธิ์ขยายเวลายื่นแบบไปอีก 8 วัน 31 พฤษภาคม 2566 – 7 มิถุนายน 2566 ค่ะ สำหรับเพื่อนท่านไหนที่งานเยอะอยู่ ก็ลองดูปฏิทิน และมาจัดการบริหารงานให้ทันตามที่เวลากำหนดกันนะคะ
อันนี้เป็นแค่การยกตัวอย่างเดดไลน์ที่สำคัญในช่วงหน้างบนี้มาให้เพื่อนๆนักบัญชีดูนะคะ แต่ก็ยังมีแบบภาษีอื่นๆอีกที่เรายื่นกันเป็นประจำรายเดือน เช่น
– ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 2, ภ.ง.ด. 3, ภ.ง.ด. 53, ภ.ง.ด. 54
– ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 36
– ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30
– ยื่นแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ. 40 หากเพื่อนๆต้องการเห็น เดดไลน์ทั้งหมดนี้ เพียงแค่เพื่อนๆกดตาม 4 ขั้นตอนตามที่เราบอกเท่านั้น หมดปัญหายื่นภาษีไม่ทันแน่นอนค่ะ
3. ตัวอย่างในการกำหนด เดดไลน์งานยื่นภาษี
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการวางแผน Deadline ยื่นแบบ ภ.พ. 30 ประจำเดือน ม.ค. 2566 กันค่ะ
- กิจการส่งข้อมูลเอกสารซื้อ เอกสารขาย ไม่เกินวันที่ 5 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566
- สำนักงานบัญชี บันทึกข้อมูลทั้งหมด จัดสรรคน และเวลา ให้ร่างแบบภาษีไม่เกินวันที่ 10 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566
- ตรวจสอบแบบภาษี จัดส่งข้อมูลให้กิจการเพื่อยืนยันความครบถ้วนของข้อมูล และยอดการจ่ายชำระภาษี ไม่เกินวันที่ 12 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566
- เมื่อยืนยันข้อมูลกันแล้ว นำส่งภาษีได้เลย ไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ปฏิทินภาษี | ใครทำอะไร | เมื่อไหร่ |
15 กุมภาพันธ์ 2566 ยื่นแบบกระดาษ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ยื่นอินเทอร์เน็ต | กิจการส่งข้อมูลเอกสารซื้อ เอกสารขาย | ภายใน 5 กุมภาพันธ์ 2566 |
สำนักงานบัญชี บันทึกข้อมูล | ภายใน 10 กุมภาพันธ์ 2566 | |
กรรมการหรือผู้มีอำนาจในกิจการตรวจสอบแบบภาษีและยืนยันข้อมูล | ภายใน 12 กุมภาพันธ์ 2566 | |
สำนักงานบัญชีนำส่งภาษี | ภายใน 15 กุมภาพันธ์ 2566 |
จากตัวอย่างนี้ เรากำหนดเดดไลน์การทำงานแบบเผื่อๆ ไว้สำหรับการยื่นแบบกระดาษนะคะ แต่ถ้าใครคิดว่างานแน่นไปอาจจะกำหนดช้าไปอีกนิดก็ได้เพราะว่าการยื่นแบบออนไลน์เราจะได้จำนวนวันเพิ่มอีก 8 วันค่ะ
การเป็นนักบัญชีนอกจากจะต้องเซียนเรื่องมาตรฐานการบัญชี และกฏหมายภาษีแล้ว ยังต้องมีทักษะในด้านของการบริหารงานบริหารเวลาด้วยนะคะ ในเมื่อเรารู้เคล็ดลับในการบริหารเวลาด้วยปฏิทินภาษีแล้ว ทาง CPD Academy ยังมีทักษะอื่นๆ ที่นักบัญชีต้องเรียนรู้จะได้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น เพื่อนๆ ลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย: ทำงานบัญชี ยากไหม มีเทคนิคอะไรบ้าง
CPD Academy ยังมีอบรมออนไลน์ มีคอร์สมากมายต่างๆเลือกเรียน แถมยังเก็บชั่วโมง CPD ได้ด้วยนะ
ลองทักมาคุยกันที่ช่องทางนี้ได้นะคะ
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y