ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่นักบัญชีหรือเจ้าของกิจการถ้าไม่ได้เป็นกิจการที่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะโดยตรง อาจจะไม่ค่อยได้เจอภาษีชนิดนี้กันบ่อยๆนัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่การประกอบธุรกิจอาจจะต้องวนมาพบกันภาษีชนิดนี้จนได้ ทาง CPD Academy จึงได้รวบรวมประเด็นสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีชนิดนี้ไว้ที่นี่แล้วค่ะ
ก่อนอื่น เราไปเริ่มจากการทำความรู้จักเกี่ยวกับภาษีชนิดนี้กันก่อนเลยค่ะ
1.ภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร และวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษี
ความหมายของภาษีธุรกิจเฉพาะ Specific Business Tax หรือตัวย่อ SBT ตามความของกรมสรรพากร มีดังนี้ค่ะ
1.1 ธุรกิจเฉพาะคืออะไร
ภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิกภาษีธุรกิจเฉพาะ เริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรมสรรพากร
ทาง CPD Academy จะมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
ภาษีชนิดนี้ คือ ภาษีที่รัฐบาลเก็บจากกิจการหรือธุรกิจที่มีเงื่อนไขหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเสียภาษีนี้เท่านั้น โดยจะมีกำหนดค่ะ ว่าธุรกิจประเภทใด หรือใครบ้างที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ จะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจหรือกิจการต่างๆ เดี๋ยวเราจะพาไปดูหัวข้อถัดไปนะคะ ว่าใครบ้างนะที่มีหน้าที่ในการจดทะเบียนภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะบ้าง
1.2 วัตถุประสงค์ของภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ
วัตถุประสงค์ของภาษีชนิดนี้ เพื่อที่จะจัดเก็บแทนภาษีการค้าที่ถูกเลิกไปค่ะ และถูกบังคับใช้พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแน่นอนค่ะ ว่าต้องจัดเก็บภาษีตามกิจกรรมการซื้อขายคล้ายกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ที่มาของรายได้ในการเสียภาษีจะไม่ทับซ้อนกันค่ะ
2. การปฏิบัติตามกฎหมายภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ
2.1 หลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ในตัวกฎหมายเองก็จะกำหนดให้เป็นแต่ละหัวข้อ ซึ่งภาษากฎหมายก็จะอ่านยากอยู่แล้ว เดี๋ยวเรามาดูประเด็นสำคัญในบทความนี้กันได้เลยค่ะ
2.2 ความรับผิดชอบของธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี
เรามาดูเกี่ยวกับความรับผิดชอบของธุรกิจกันนะคะ ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจประเภทไหน ที่ต้องเสียภาษี และผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือใครบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ธุรกิจเฉพาะ คือใครบ้าง
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชนิดนี้ คือ ผู้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้
บุคคลธรรมดา |
คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล |
กองมรดก |
ห้างหุ้นส่วนสามัญ |
หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล |
องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล |
กรณีผู้ประกอบกิจการอยู่ต่างประเทศ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมถึง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีร่วมกับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้นค่ะ
กิจการไหนบ้าง ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กิจการที่จะต้องเสียภาษี ธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ การประกอบกิจการดังต่อไปนี้
กิจการที่จะต้องเสียภาษี | ตัวอย่างกิจการ |
การธนาคาร | ธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ |
การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ | ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ |
การรับประกันชีวิต | ธุรกิจเกี่ยวกับการขายประกันชีวิต |
การรับจำนำ | โรงรับจำนำ |
การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ | การให้กู้ยืม แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ |
การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร | (1)การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน (2)การขายห้องชุด (3)การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร (4)การขายอสังหริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วน ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น |
กำหนดเวลาในการยื่นแบบ
แบบยื่นภาษีทุกอย่างต่างก็มีกำหนดเวลา เราไปดูกันค่ะ ว่าเจ้าภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะ จะมำกหนดยื่นแบบวันไหนบ้าง
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี ธุรกิจเฉพาะนั้น มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีโดยใช้แบบ ภ.ธ.40 (แสดงประเภทของกิจการ จำนวนรายรับ จำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ)
ยื่นแบบแสดงรายการเป็นรายเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้น หรือไม่ก็ตาม
ถ้าหากเป็นการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถขยายระยะเวลาได้เพิ่มเติมอีก 8 วันคือวันที่ 23 นั่นเองค่ะ
2.3 โทษปรับหากไม่ยื่นภาษีธุsกิจเฉพาะ
เมื่อมีกำหนดเวลาในการยื่นแบบ ถ้าหากเราไม่ทำตาม เท่ากับว่าเราไม่ได้ทำตามกฎหมาย ก็อาจจะมีผลพวกเรื่องเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามมานะคะ เดี๋ยวเราไปดูผลที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกันค่ะ
ในกรณีชำระภาษีเกินกำหนดเวลา จะต้องคำนวณและชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้ ให้คำนวณเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่น ภ.ธ.40 ของเดือนภาษีนั้นจนถึงวันยื่น ภ.ธ.40 และชำระภาษี
ในกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษี Specific Business Tax ไว้ไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปหรือยื่นเพิ่มเติม หรือยื่นแบบเกินกำหนดเวลา จะต้องคำนวณและชำระเบี้ยปรับ อีก 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องเสียแล้วแต่กรณี
3. การคำนวณภาษีธุsกิจเฉพาะ
3.1 รูปแบบการคำนวณภาษีธุsกิจเฉพาะ
- ฐานภาษี และอัตราภาษี
ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษี ธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ หรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ
กิจการที่ต้องเสียภาษี จะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษี ซึ่งได้แก่ รายรับตามฐานภาษี ของแต่ละประเภทกิจการ คูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนดไว้ และจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนภาษี ธุรกิจเฉพาะ ดังกล่าว
กิจการ | ฐานภาษี | อัตราภาษีร้อยละ |
1. กิจการธนาคาร,ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการเยี่ยง ธนาคารพาณิชย์ | ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่าย ใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ | 3.00 |
กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการ แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ | 3.00 | |
2. กิจการรับประกันชีวิต | ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ | 2.50 |
3. กิจการโรงรับจำนำ | ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม | 2.50 |
เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายของที่ จำนำหลุดเป็นสิทธิ | 2.50 | |
4. การค้าอสังหาริมทรัพย์ | รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ | 0.10 |
5. การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ | รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ | 0.10 (ยกเว้น) |
6. การซื้อและการขายคืนหลัก ทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ | กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึง ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากหลักทรัพย์ | 3.00 |
7. ธุรกิจแฟ็กเตอริง | ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ | 3.00 |
8. การประกอบกิจการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 469 | ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ | 0.01 |
กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการ แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา | 0.01 | |
กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ | 0.01 |
หมายเหตุ อัตราภาษีของการค้าอสังหาริมทรัพย์ให้ลดและคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ได้กระทำภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ( ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2552 พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 472 ) พ.ศ.2551)
หากต้องการดูตัวอย่างการคำนวณและแบบยื่นภาษีสามารถดูได้เพิ่มเติมจากบทความนี้เลยค่ะ
ภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะสรุปรวมประเด็นที่พบบ่อยตอนปิดบัญชีประจำปี
บทสรุป
เมื่อเราทราบเกี่ยวกับภาษีสำหรับธุรกิจเฉพาะแล้ว เมื่อเราไปเจอกับธุรกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง นักบัญชีอย่างเราจะได้รู้เท่าทันกฎหมายว่า จะต้องดำเนินการจ่ายชำระภาษีเท่าไหร่ เมื่อไหร่บ้าง ทำให้เราเป็นนักบัญชีที่แถมยังมีความรู้ด้านกฎหมายสำหรับแนะนำผู้ประกอบการได้ด้วย ต่อไป เจอรายจ่ายชนิดไหนก็ไม่กลัว เพราะเราจะมีการชำระภาษีอย่างถูกต้องแน่นอน กิจการไม่ต้องกังวลเรื่องสรรพากร ผู้บริหารก็ปลื้มปริ่ม
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy