ใครที่ทำธุรกิจต่างก็ต้องเคยเจอกับการหัก ณ ที่จ่าย นอกจากจะมีความสับสนแล้ว เรื่องของเอกสารนั้นก็ตามยากตามเย็นเหลือเกินค่ะ แต่รู้มั้ยคะว่ายุคไทยแลนด์ 4.0 แบบนี้ กรมสรรพากรมีระบบดีๆ ที่มาช่วยนักบัญชีและเจ้าของกิจการจัดการเรื่อง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ ให้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเก็บเอกสารแบบกระดาษให้วุ่นวาย มีตัวกลางช่วยอำนาจความสะดวกเสียด้วย
เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อนๆ น่าจะอยากรู้เพิ่มแล้วจริงไหมว่า E-withholding tax เนี่ยคืออะไร มีอะไรต้องรู้บ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ E-withholding tax คืออะไร
e-Withholding Tax เป็นวิธีที่กรมสรรพากรจัดทำขึ้นเพื่อลดขั้นตอนให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากร โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางในการนำส่งข้อมูลและส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากรเอง
สิ่งที่ผู้ประกอบการฟินสุดๆ เมื่อใช้ e-Withholding tax ก็คือ พวกเค้าไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั่นเองค่ะ
อยากใช้ระบบ E-withholding tax ทำยังไง
1. ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ติดต่อธนาคารผู้ให้บริการเพื่อสมัครใช้บริการ e-Withholding Tax
- ธนาคารกรุงไทย (KTB)
- ธนาคารกสิกรไทย (Kbank)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC)
- ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
- ธนาคารทหารไทย (TMB)
- ธนาคารธนชาต (TBANK)
- Mizuho Bank
- Sumitomo Mitsui Banking Corporation
- standard chartered bank
2. ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย นำส่งข้อมูลรายได้และภาษี ผ่านระบบของธนาคารผู้ให้บริการ
3. ธนาคารนำส่งข้อมูลและเงินภาษี ให้กรมสรรพากร
4. ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ตรวจสอบข้อมูลและ Download ใบเสร็จรับเงิน ได้ที่ระบบ e-Withholding Tax
5. ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย สามารถตรวจสอบข้อมูลรายได้และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ได้ที่ระบบ e-Withholding Tax
การลงทะเบียนและการเข้าสู่ระบบ
หลายๆคนอยากจะเริ่มลงทะเบียนแล้ว เรามาดูขั้นตอนในการลงทะเบียนกันค่ะ
1. เริ่มจากคลิก เข้าสู่ระบบ ที่หน้าเว็บไซต์ของ e-Withholding Tax เลยนะคะ
2. เลือก เข้าสู่ระบบ E-Filing
3. ใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และรหัสผ่าน
4. ทำตามขั้นตอนการยืนยันตัวตนได้เลยค่ะ
5. พอทำการเข้าสู่ระบบแล้ว ระบบจะแจ้งว่า เราต้องดำเนินการทั้ง 4 ขั้นตอน
6. กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ถูกต้อง
7. ตรวจสอบข้อมูลและกดคำว่า”ถัดไป”
8. ทำตามขั้นตอนการยืนยันตัวตนได้เลยค่ะ
9. ระบบจะขึ้นว่าทำการลงทะเบียนสำเร็จทั้ง 4 ขั้นตอนแล้วนะคะ เพียงเท่านี้เราก็มีบัญชีเพื่อเอาไว้ดำเนินการต่างๆในระบบ e-Withholding Tax แล้วค่ะ
เปลี่ยนมาใช้ระบบ E-withholding tax ดียังไง
- ลดภาระงานด้านบัญชีของกิจการ เรื่องของการจัดส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร
- ลดขั้นตอนของการจัดเตรียมเอกสารและพื้นที่จัดเก็บ
- สะดวกในการใช้งานมากขึ้นทั้งด้านบัญชีและภาษี ด้วยการสั่งจ่ายผ่านธนาคารครั้งเดียว
- สามารถเรียกดูข้อมูลการจ่ายภาษีได้แบบออนไลน์
- ได้รับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จากกรมสรรพากรด้วย โดยอัตราร้อยละ 5,3,2 ลดเหลือร้อยละ 1 เพียงเท่านั้นเองค่ะ
อัตราค่าบริการ E-withholding tax เป็นเท่าไร
อัตราค่าบริการ ขึ้นอยู่กับธนาคารที่เราเลือกใช้บริการนะคะ แต่ก็มีกำหนดว่า สูงสุดไม่เกิน 10 บาทต่อรายการโอน 1 ครั้งค่ะ
แหมเมื่อเทียบกับการลดกระดาษ และลดเวลาแล้วเนี่ย ถ้าเทียบกับอัตราสูงสุดก็ยังเป็นระบบที่น่าสนใจอยู่ดีนะคะ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ E-withholding tax
Q : ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายและผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถตรวจสอบรายการได้หรือไม่
A : ผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายและผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หลังจาก 6 วัน นับตั้งแต่เมื่อผู้จ่ายเงินนำส่งภาษีให้ธนาคารผู้ให้บริการ
Q : ถ้าสนใจใช้บริการ E-withholding tax ต้องทำยังไง?
A : เริ่มจากการลงทะเบียนใช้งาน E-withholding tax ตามขั้นตอนที่บทความนี้ได้แนะนำไว้ได้เลยค่ะ และติดต่อกับธนาคารที่เราสนใจใช้บริการ
เมื่อเรารู้แล้วว่ามีระบบดีดีแบบนี้ที่ทางสรรพากรเค้าพัฒนามาให้เรา ก็ลองพิจารณากันดูนะคะ ว่าด้วยระบบการทำงานและต้นทุนที่ต้องจ่ายแล้วแบบไหนที่กิจการของเราสะดวกที่จะใช้มากกว่ากัน
แต่ถ้าใครยากลองทำเองก่อน CPD Academy ก็มีบทความอื่นๆ ให้เพื่อนๆได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการหัก ณ ที่จ่าย ว่าต้องทำอะไรบ้างและต้องหักเท่าไหร่ ตามลิงค์นี้เลยนะคะ
Withholding tax คิดยังไงบ้าง และคำถามที่พบบ่อย
สนใจอบรมเพิ่มความรู้เรื่องของภาษีในการทำงาน แถมยังเก็บชั่วโมง CPD ได้ด้วย
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks