สินค้าคงเหลือเป็นบัญชีที่สำคัญมากๆ สำหรับธุรกิจ แต่ว่าเคยรู้ไหมคะว่าการคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือเราต้องทำอย่างไร และแต่ละวิธีเหมาะสมกับธุรกิจยังไงบ้าง นี่เป็นงานส่วนหนึ่งที่นักบัญชีสามารถแนะนำเจ้าของธุรกิจได้ นอกจากนี้แล้วในบางครั้งนักบัญชีรับหน้าที่ทั้งบันทึกบัญชีและคำนวณสินค้าคงเหลือไปพร้อมๆ กันค่ะ ฉะนั้น การทำความเข้าใจวิธีการคำนวณและการวัดมูลค่าตามที่มาตรฐานบัญชีกำหนดไว้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เลย วันนี้พวกเรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันในบทความนี้ได้เลย
บัญชีสินค้าคงเหลือ ตามมาตรฐานการบัญชีระบุไว้ว่าการวัดมูลค่าตอนปลายงวดต้อง วัดมูลค่าด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า
พูดง่ายๆภาษาบ้านๆก็คือ เราต้องรู้และทำทั้ง 2 วิธี ได้แก่
1.วัดมูลค่าด้วยราคาทุน
2.มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ
จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบ และเลือกใช้มูลค่าที่ต่ำกว่ามาแสดงมูลค่าคงเหลือทางบัญชี
ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึง “การคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือ” ซึ่งเป็นวิธีการของวิธีการวัดมูลค่าด้วยราคาทุนนั่นเอง
การคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือ ให้แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนก่อนนะคะ
1. เข้าใจต้นทุนของสินค้าคงเหลือ (คำนวณการซื้อสินค้า หรือผลิตสินค้าได้ในแต่ละครั้ง)
2. วิธีการคำนวณต้นทุน (คำนวณต้นทุนการได้มาของสินค้าในขั้นตอนที่ 1 สินค้าหลายครั้ง)
จากนั้นไปดูวิธีการของแต่ละขั้นตอนกันค่ะ มีวิธีอะไรบ้าง และทำอย่างไร?
1. ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ
ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ เป็นชื่อเรียกที่เพื่อนๆน่าจะคุ้นเคยกันเวลาที่ดูบัญชีสินค้าคงเหลือ ในการผลิตหรือซื้อสินค้าคงเหลือเข้ามาในกิจการ ก็ต้องคิดแล้วว่า ค่าอะไรบ้างที่จะสามารถนำมารวมเป็นต้นทุนได้ เราไปดูกันค่ะ
ต้นทุนสินค้าคงเหลือ = ต้นทุนการซื้อ + ต้นทุนการแปลงสภาพ + ต้นทุนอื่นๆที่ทำให้อยู่ในสภาพพร้อมขาย
1.1 ต้นทุนการซื้อ
ตอนที่นักบัญชีเรียนกัน เพื่อนๆต้องเคยอ่านผ่านมา หรือเรียนมาแล้วแน่นอน คำว่า ซื้อ + ค่าขนส่งเข้า – ส่งคืน – ส่วนลดรับ แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้
- ซื้อ หมายถึง ราคาที่ซื้อสินค้ามาแบบดิบๆ ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- ค่าขนส่งเข้า หมายถึง ค่าขนส่ง ค่าขนถ่าย หรือต้นทุนที่ทำให้ได้มาของ วัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูปและบริการนั่นเองค่ะ
- ส่งคืน หมายถึง สินค้าที่ส่งคืนให้กับทาง Supplier ข้อนี้ต้องระวังนะคะ เพราะการส่งคืนแต่ละครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าจะคืนในรูปแบบไหน คืนแบบคืนเงินหรือไม่คืนเงิน ต้องดูข้อตกลงกันดีดี แล้วเราถึงจะนำตัวเลขมาคำนวณต้นทุนได้อย่างถูกต้องมากขึ้นค่ะ
- ส่วนลดรับ หมายถึง ส่วนลดการค้า เงินที่ได้รับคืนทันทีมรการซื้อสินค้ารอบนั้นๆ
1.2 ต้นทุนการแปลงสภาพ
เพิ่มเติมจากต้นทุนการซื้อ สำหรับธุรกิจที่ต้องผลิตสินค้าเองก็จะมีต้นทุนส่วนเพิ่มเข้ามาดังต่อไปนี้
- ต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตสินค้า
ยกตัวอย่างเช่น ค่าแรงทางตรงและค่าใช้จ่ายในการผลิต (ค่าใช้จ่ายคงที่ที่ปันส่วนอย่างเป็นระบบ และค่าใช้จ่ายในการผันแปรที่เกิดขึ้นเพื่อแปลงสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป เป็นต้น - ค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่
ยกตัวอย่างเช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโรงงาน ที่ต้องรับรู้เป็นประจำ - ค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร เป็นต้นทุนการผลิตที่ผันแปรตามปริมาณที่ผลิตได้
ยกตัวอย่างเช่น ค่าแรงงานทางอ้อม ค่าโอที เป็นต้น
1.3 ต้นทุนอื่นๆที่ทำให้อยู่ในสภาพพร้อมขาย
ต้นทุนที่ทำให้สินค้าคงเหลืออยู่ในสถานที่และสภาพเป็นปัจจุบัน เช่น ค่าภาษีอากร ค่าประกันภัย(ต้องทำเนื่องจากเงื่อนไขในการขนส่ง) ค่าบริการ Shipping เป็นต้น
ยกตัวอย่างการคำนวณหาต้นทุนของสินค้าคงเหลือ
ซื้อเสื้อโปโลนำเข้าจากจีน จำนวน 1,000 ตัว
มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นดังนี้
ค่าใช้จ่าย | จำนวน | หน่วย |
ซื้อสินค้าสำเร็จรูป | 100,000 | บาท |
ค่าขนส่งจากต่างประเทศ | 5,000 | บาท |
ค่าบริการ Shipping | 2,500 | บาท |
ค่าอากรขาเข้า | 1,000 | บาท |
ค่าประกันภัย | 590 | บาท |
ส่วนลดจาก Supplier | 2,000 | บาท |
รวมทั้งหมด 100,000+5,000+2,500+1,000+590-2,000 = 107,090 บาท
อย่าลืมนะคะ ส่วนลดรับต้องนำมาหักออกด้วย
ต้นทุนของการซื้อสินค้าครั้งนี้ เท่ากับ 107,090 บาท ซื้อเสื้อจำนวน 1,000 ตัว ต้นทุนต่อตัวเท่ากับ 107.09 บาทค่ะ
ในการซื้อแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายก็จะเกิดขึ้นไม่เท่ากันค่ะ ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆอย่างที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ แม้กระทั่งราคาซื้อ ก็ต้องเป็นไปตามที่ Supplier กำหนด และก็การตกลงการซื้อในแต่ละครั้ง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วย ก็ไม่ใช่ 107.09 เสมอไป
ถ้าหากในการซื้อสินค้าครั้งถัดไป เป็นมูลค่า 90 บาท ก็จะเป็นคำถามต่อไปว่า ทีนี้เราจะแสดงมูลค่าไหนในบัญชีสินค้าคงเหลือกันล่ะ
การรับรู้ต้นทุนและการวัดมูลค่ายังมีเรื่องให้เพื่อนๆได้ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆอีก ตามบทความด้านล่างนี้ค่ะ
ประเด็นสำคัญ ต้องรู้ สินค้าคงเหลือ คืออะไร?
ในหัวข้อถัดไปนะคะ ก็จะพูดถึงปัญหานี้ คือ วิธีการคำนวณต้นทุนในกรณีที่เรารับสินค้าเข้า – เบิกสินค้าออกจะคำนวณต้นทุนสินค้าคงเหลือยังไง
2. วิธีการคำนวณต้นทุน
ในการซื้อสินค้าเข้ามาในกิจการ 1 รอบระยะเวลาบัญชี เรามีการซื้อหลายครั้งแน่นอน และแต่ละครั้งจำนวนต้นทุนแต่ละรอบก็ไม่เท่ากัน แต่เราต้องแสดงมูลค่าทางบัญชี จึงเกิดวิธีการคำนวณต้นทุนให้เราเลือกใช้ค่ะ
การคำนวณต้นทุน ก็ถือเป็นหลักการที่สำคัญของบัญชีสินค้าคงเหลือเลยนะคะ กิจการสามารถเลือกใช้วิธีการคำนวณได้ดังนี้
2.1 วิธีราคาเจาะจง Specific Identification
ใช้สำหรับสินค้าที่ผลิตขึ้นมาหรือซื้อมาแบบเฉพาะทาง เป็นสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาเพื่อโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ
การคำนวณของวิธีนี้ก็จะง่ายๆเลยค่ะ คือ ระบุราคาที่เกิดขึ้นจริงของสินค้าที่ซื้อมาและที่ขายได้จริงทั้งหมด เหมาะกับสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างกัน ราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง ไม่สามารถสับเปลี่ยนสินค้าได้
ชุดเพชรคอลเลคชั่น A | มูลค่า | หน่วย |
วัตถุดิบ ประกอบด้วย เพชร,เงิน,ทองคำ+ค่าขนส่งเข้า+ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า | 5,000,000 | บาท |
งานระหว่างทำ ประกอบด้วย วัตถุดิบ+ต้นทุนแปลงสภาพ | 2,500,000 | บาท |
มูลค่าบัญชีสินค้าคงเหลือ | 7,500,000 | บาท |
ชุดเพชรคอลเลคชั่น B | มูลค่า | หน่วย |
สินค้าสำเร็จรูป | 1,680,000 | บาท |
มูลค่าบัญชีสินค้าคงเหลือ | 1,680,000 | บาท |
บัญชีสินค้าคงเหลือ | มูลค่าคงเหลือ | หน่วย |
ชุดเพชรคอลเลคชั่น A | 7,500,000 | บาท |
ชุดเพชรคอลเลคชั่น B | 1,680,000 | บาท |
รวม | 9,180,000 | บาท |
2.2 วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน First In First Out – FIFO
เป็นวิธีที่ใช้แนวคิดว่า สินค้าต้องรีบหมุนเวียน ถ้าซื้อมาก่อน ก็ต้องรีบขายออกก่อน วิธีนี้จะทำให้การขายในปัจจุบันนั้นถูกจับคู่กับราคาต้นทุนในอดีต ซึ่งเมื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกำไรขั้นต้นรายออเดอร์การขาย กำไรขั้นต้นนั้นก็จะผันผวนตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้วิธีนี้ใช้กับสินค้าที่มีแนวโน้มราคาแน่นอนอาจไม่เหมาะสมค่ะ เพราะราคาที่แสดงจะเป็นราคาซื้อ สินค้า LOT คงเหลือล่าสุด
คำนวณอย่างไรไปดูกันค่ะ
วันที่ | จำนวน | มูลค่า | จำนวนเงิน | คงเหลือ |
ยอดยกมา | 100 | 20 | 2,000 | 100@20 = 2,000 |
15 ม.ค. 2565 ซื้อ | 100 | 22 | 2,200 | 100@20 = 2,000 100@22 = 2,200 รวม 4,200 บาท |
31 มี.ค. 2565 ขาย | -100 -50 | 20 22 | -2,000 -1,100 | 100@20 = 2,000 -100@20 = -2,000 100@22 = 2,200 -50@22 = -1,100 รวม 1,100 บาท |
31 ส.ค. 2565 ซื้อ | 500 | 15 | 7,500 | 50@22 = 1,100 500@15 = 7,500 รวม 8,600 บาท |
30 ธ.ค. 2565 ขาย | -10 | 22 | -220 | 50@22 = 1,100 -10@22 = -220 500@15 = 7,500 รวม 8,380 บาท |
31 ธ.ค. 2565 | มูลค่า 8,380 บาท |
การคำนวณสินค้าคงเหลือ วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน First In First Out – FIFO ยอดคงเหลือ ณ 31 ธันวาคม 2565 มูลค่าตามบัญชี เท่ากับ 8,380 บาทค่ะ
และต่อไปเราจะใช้โจทย์เดียวกัน แต่ว่าเป็นวิธีถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาในแต่ละงวด Weighted Average เราลองไปดูกันค่ะ
2.3 วิธีถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาในแต่ละงวด Weighted Average
ในสินค้าชนิดเดียวกันราคาก็ควรจะเท่ากัน หรือไม่ต่างกันมากใช่ไหมคะ แต่เพื่อนๆอย่าลืมว่า ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เราไม่สามารถที่เกิดขึ้นมารวมเป็นต้นทุนของสินค้า หรือจำนวนในการสั่งซื้อสินค้า ยิ่งเราสั่งซื้อเยอะอำนาจต่อรองด้านราคาเราก็อาจจะได้ในราคาที่ถูกลงอย่างมากค่ะ แต่สินค้าก็ยังเป็นชนิดเดียวกันอยู่ จึงควรเฉลี่ยด้วยการนำปริมาณนั้น มาเป็นตัวถ่วงน้ำหนักด้วย
วันที่ | จำนวน | มูลค่า | จำนวนเงิน | คงเหลือ |
ยอดยกมา | 100 | 20 | 2,000 | 100@20 = 2,000 |
15 ม.ค. 2565 ซื้อ | 100 | 22 | 2,200 | 100@20 = 2,000 100@22 = 2,200 รวม 4,200 บาท (4,200/200 = 21 บาทต่อหน่วย) |
31 มี.ค. 2565 ขาย | -150 | 21 | 3,150 | 200@21 = 4,200 -150@21 = -3,150 รวม 1,050 บาท (1,050/50 = 21 บาทต่อหน่วย) |
31 ส.ค. 2565 ซื้อ | 500 | 15 | 7,500 | 50@21 = 1,050 500@15 = 7,500 รวม 8,550 บาท (8,550/550 = 15.5454 บาทต่อหน่วย) |
30 ธ.ค. 2565 ขาย | -10 | 15.5454 | -220 | [email protected] = 8,550 [email protected] = -15.4540 รวม 8,394.5460 บาท (8,394.5460/540 = 15.5454 บาทต่อหน่วย) |
31 ธ.ค. 2565 | รวมทั้งหมด 8,394.5460 บาท |
การคำนวณสินค้าคงเหลือ วิธีถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาในแต่ละงวด Weighted Average ยอดคงเหลือ ณ 31 ธันวาคม 2565 มูลค่าตามบัญชี เท่ากับ 8,394.55 บาทค่ะ
หรือมีอีกวิธีที่ไม่ต้องทำเป็นตาราง คือสูตรนี้ค่ะ
ราคาทุนถัวเฉลี่ยต่อหน่วย = | ราคาทุนรวมของสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย / จำนวนหน่วยของสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย |
ราคาทุนรวมของสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย | 8,394.5460 บาท |
จำนวนหน่วยของสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย | 540 หน่วย |
ราคาทุนถัวเฉลี่ยต่อหน่วย | 15.5454 บาท |
ถ้าเพื่อนๆมีระบบการคำนวณสินค้าคงเหลือที่สามารถนำตัวเลขมาใช้ได้เลย ก็ทำตามสูตรนี้ได้เลยค่ะ
แต่ถ้าเพื่อนยังต้องคำนวณเองโดยนำตารางด้านบนเป็นตัวอย่างการคำนวณนะคะ
ธุรกิจแบบไหน เหมาะสมกับวิธีใด?
- วิธีราคาเจาะจง Specific Identification เหมาะกับธุรกิจที่มีสินค้าลักษณะแตกต่างกันมาก ราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง ไม่สามารถสับเปลี่ยนสินค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องประดับสั่งทำ เฟอร์นิเจอร์สั่งทำ เรือหรือรถยนต์สปอตที่ต้องสั่งซื้อล่วงหน้าเพื่อผลิตตามแบบที่ต้องการ เป็นต้น
- วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน First In First Out – FIFO เหมาะกับธุรกิจที่มีราคาไม่แน่นอน มีความผันผวนสูง เนื่องจากการแสดงมูลค่าของวิธีนี้ จะแสดงจำนวนคงเหลือ และราคาของรอบการซื้อล่าสุด ทำให้ราคาทุนที่แสดงนั้นเป็นราคาซื้อเกือบจะปัจจุบันแล้วค่ะ
- วิธีถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาในแต่ละงวด Weighted Average เหมาะสมกับธุรกิจที่มีสินค้าประเภทคล้ายๆกัน และแต่ละชนิด สตอคสินค้าไว้จำนวนมาก วิธีนี้จะคํานึงถึงปริมาณสินค้าซื้อมาระหว่างงวดซึ่งเป็นการเฉลี่ยต้นทุนให้กับสินค้าทุกๆหน่วยในราคาหน่วยละเท่ากันค่ะ
เพื่อนๆนักบัญชีน่าจะมองภาพออกแล้วนะคะ เรามาสรุปกัน…
โดยสรุปแล้ว สองสิ่งที่ต้องรู้ในการคำนวณต้นทุนประกอบด้วย
1. ต้นทุนของสินค้าคงเหลือ (คำนวณการซื้อสินค้า หรือผลิตสินค้าได้ในแต่ละครั้ง) เมื่อเกิดการสั่งซื้อ สินค้าคงเหลือแล้ว นักบัญชีจะต้องมาวิเคราะห์รายการ ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น ค่าใช้จ่ายใดที่จะต้องนำมารวมเป็นต้นทุนสินค้าคงเหลือได้บ้าง
- ต้นทุนในการซื้อ
- ต้นทุนในการแปลงสภาพ
- ต้นทุนอื่นๆที่ทำให้อยู่ในสภาพพร้อมขาย
2. วิธีการคำนวณต้นทุน (คำนวณต้นทุนการได้มาของสินค้าในขั้นตอนที่ 1 สินค้าหลายครั้ง) เมื่อเรารับรู้ต้นทุนรายครั้งถูกต้องแล้ว เราก็มาหามูลค่าที่จะต้องแสดงในงบการเงินกันค่ะ โดยวิธีคำนวณมีดังนี้
- วิธีราคาเจาะจง Specific Identification
- วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน First In First Out – FIFO
- วิธีถัวเฉลี่ยต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาในแต่ละงวด Weighted Average
เพื่อนๆก็สามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับธุรกิจได้ค่ะ แต่ว่าถ้าเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งแล้ว ก็ต้องใช้ไปตลอดอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการให้ผู้ใช้งบการเงินเปรียบเทียบกับงบการเงินปีอื่นๆได้ และวิเคราะห์งบการเงินได้อย่างถูกต้องนะคะ
และถ้าใครอยากแนะนำเจ้าของธุรกิจจัดการเรื่องสินค้าคงเหลือให้อยู่หมัด แนะนำอ่านบทความนี้เพิ่มเติม: สรุปวิธีจัดการสต๊อกสินค้าอย่างง่าย (ด้วยตัวเอง)
หากเพื่อนๆสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือเพิ่มเติม เรามีคอร์สให้เพื่อนๆเข้าไปเรียนตามลิงค์นี้เลยค่ะ
สินค้าคงเหลือ ความรู้บัญชีและข้อแตกต่างทางภาษี พร้อมตัวอย่างประกอบ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่นี่
Line: @cpdacademy