เจ้าของธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บางครั้งอาจลืมยื่นแบบเสียภาษี หรือว่าบางทียื่นแล้วแต่ล่าช้า แบบนี้ต้องท่องไว้ในใจเลยว่า เสียค่าปรับ VAT ภาษีมูลค่าเพิ่มแบบฉ่ำๆ แน่นอน ซึ่งสำหรับค่าปรับแต่ละตัวก็จะมีวิธีการคิดแตกต่างกันค่ะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจ เรื่องค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่มกันว่ามันคืออะไร และคำนวณอย่างไรกันนะ ในบทความนี้เลย
ค่าปรับ VAT ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?
ค่าปรับ VAT หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงินที่ผู้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต้องชำระเพิ่มเติม เมื่อกระทำผิด หรือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มผิดพลาดตามที่ประมวลกฎหมายรัษฎากรกำหนด เช่น การชำระภาษีช้า การไม่ยื่นภาษี การชำระภาษีไม่ครบ เป็นต้นค่ะ
การกระทำที่ทำให้เสียภาษีผิดพลาดมีหลายกรณี จึงนำไปสู่การเกิดค่าปรับประเภทต่าง ๆ โดยจะขออธิบายในหัวข้อถัดไปค่ะ
ค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม มีกี่ประเภท
สำหรับค่าปรับหรือเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมให้สรรพากร กรณีเราไม่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือยื่นผิดนั้น มีหลายแบบค่ะ โดยจะขอแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ค่าปรับอาญา
ค่าปรับอาญา เป็นจำนวนเงินสำหรับการลงโทษทางอาญาแก่ผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งภาษีเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยในทางของ VAT จะใช้เมื่อเกิดกรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และยื่นแบบเกินเวลาที่กำหนดค่ะ
2. เบี้ยปรับ
เบี้ยปรับ เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้ประกอบการที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง หรือไม่นำส่งภาษี โดยกฎหมายจะกำหนดให้ผู้ที่ไม่ยื่นภาษีภายในกำหนดจะโดนปรับ 2 เท่าของภาษีที่ต้องเสีย ส่วนกรณียื่นภาษีในเวลาแต่ชำระไม่ครบ จะถูกปรับเท่าตัวของภาษีที่ต้องเสียค่ะ
3. เงินเพิ่ม
เงินเพิ่ม เป็นดอกเบี้ยที่ปรับกับผู้ประกอบการที่ชำระภาษีช้า หรือไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายรัษฎากรในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีภาษีต้องชำระ จะไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ะ
ทั้งนี้ ค่าปรับทางอาญา เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามที่จะไม่นำมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิตามที่ประมวลกฎหมายรัษฎากรระบุไว้ นั่นหมายความว่า แม้จะเสียเงินจ่ายค่าปรับไปก็ไม่สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ค่ะ
และ ธุรกิจที่กระทำผิดจะต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยจะอธิบายในหัวข้อถัดไปนี้ค่ะ
บทลงโทษของภาษีมูลค่าเพิ่ม
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ขอปูเรื่องก่อนนะคะว่า การเสียภาษี VAT จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแบบ ภ.พ.30 พร้อมกับชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปค่ะ (หรือ 23 ของเดือนถัดไปในกรณีที่ยื่นแบบออนไลน์)
ดังนั้น ถ้าผู้ที่ต้องเสียภาษีคนไหนที่ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะโดนค่าปรับนั่นเองค่ะ โดยจะมีบทลงโทษของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องทำความเข้าใจ ได้แก่
1. ค่าปรับอาญา ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในส่วนของค่าปรับอาญานะคะ ถ้าเป็นกรณีของการยื่นแบบเพิ่มเติมเกินกำหนด วันที่ 15 แบบกระดาษหรือ 23 แบบออนไลน์ อันนี้ต้องเสียค่าปรับค่ะ
- ถ้ายื่นแบบ ภ.พ.30 เกินกำหนดไปแล้วไม่เกิน 7 วัน จะถูกปรับ 300 บาท
- ถ้ายื่นแบบ ภ.พ.30 เกินกำหนดไปแล้วกว่า 7 วัน จะถูกปรับ 500 บาท
2. เบี้ยปรับ
อย่างที่ทุกคนเข้าใจค่ะว่า เบี้ยปรับเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมจากให้กับกรมสรรพากร เพื่อชดเชยภาษีที่ขาดหายไปจากการชำระไม่ตรงเวลา หรือจ่ายไม่ครบค่ะ เบี้ยปรับจะมาจากการคูณอัตราเบี้ยปรับที่แปรผันตรงตามระยะเวลาที่ผ่านไป (ยิ่งนาน อัตรายิ่งเพิ่ม) และคูณด้วยมูลค่าปรับ x เท่าอีกทีค่ะ โดยจะขอแบ่งเป็นกรณีต่าง ๆ ได้แก่
- กรณียื่นแบบฯ เพิ่มเติม เช่น อยู่ในเวลาแต่ชำระไม่ครบ หรือเลยเวลาไปแล้ว แต่มายื่นทีหลัง เบี้ยปรับจะถูกคำนวณในอัตรา 2% – 20% ของภาษีที่ต้องจ่าย แล้ว x 1
- กรณีไม่ได้ยื่นแบบฯ ในเวลาที่กำหนด จะถูกคิดเบี้ยปรับอยู่ที่ 2% – 20% แล้วก็ x 2
3. เงินเพิ่ม
เงินเพิ่ม เป็นดอกเบี้ยที่ผู้ต้องเสีย VAT จะถูกปรับ เพราะที่ชำระภาษีช้า หรือไม่ชำระภาษีตามกำหนด ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะทำชำระภาษีผิดในเคสไหน ก็ต้องโดนปรับ 15% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้นค่ะ ส่วนกรณีที่ไม่มีภาษีที่ต้องจ่าย ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มนั่นเองค่ะ
ถ้าใครรู้ตัวช้า ก็จะยิ่งมีเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น แถมมีเงินเพิ่มแพงขึ้นอีกต่างหาก เพราะค่าปรับจะเพิ่มสูงขึ้นตอนเมื่อเวลาผ่านไปค่ะ ฉะนั้น เช็กการจ่ายภาษีให้ดี รู้ตัวให้ทัน จะได้ไม่โดนค่าปรับแพงนะคะ
ค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม คำนวณยังไง
จากตัวอย่างการคำนวณค่าปรับของกรมสรรพากร เราขอแบ่งวิธีการคำนวณค่าปรับ VAT ตามกรณีต่าง ๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยื่นแบบ ภ.พ.30 และการคำนวณภาษีที่ถูกต้อง โดยมีตัวอย่างการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้ค่ะ
1. กรณีไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30
สำหรับกรณีนี้จะมีเงินเพิ่มและค่าปรับกรณีที่ “มีภาษีที่ต้องชำระ” เท่านั้น
1.1 การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีภาษีต้องชำระ
ภาษีขาย (บาท) | 1,000 |
ภาษีซื้อ | 750 |
ภาษีที่ต้องชำระ | 250 |
เงินเพิ่ม มาตรา 89/1 | 250 X 1.5% ต่อเดือน |
เบี้ยปรับ มาตรา 89(2) | 250 X 2 เท่า |
1.2 การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีภาษีชำระเกิน
ภาษีขาย (บาท) | 1,000 |
ภาษีซื้อ | 1,750 |
ภาษีที่ต้องชำระ | 0 |
ภาษีที่ชำระไว้เกิน | (750) |
เงินเพิ่ม มาตรา 89/1 | ไม่มี |
เบี้ยปรับ มาตรา 89(2) | ไม่มี |
2. กรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 เมื่อพ้นกำหนดเวลา ยื่นภาษีไปแล้ว และได้ยื่นแบบใหม่อีกรอบ หรือเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบความผิด
2.1 แบบ ภ.พ. 30 ฉบับปกติมีภาษีต้องชำระและการคำนวณที่ถูกต้องมีภาษีต้องชำระ
แบบ ภ.พ. 30 | ความถูกต้อง | ผลต่าง | ||
ภาษีขาย (บาท) | 1,000 | 1,600 | 600 | ขายขาด |
ภาษีซื้อ | 750 | 400 | (350) | ซื้อเกิน |
ภาษีที่ต้องชำระ | 250 | 1,200 | 950 | คลาดเคลื่อน |
ภาษีชำระไว้เกินยกมา | (70) | (70) | 0 | |
ภาษีต้องชำระสุทธิ | 180 | 1,130 | 950 | |
เงินเพิ่ม มาตรา 89/1 | 950 x 1.5% ต่อเดือน | |||
เบี้ยปรับ มาตรา 89(2) | 950 x 2 เท่า | |||
มาตรา 89(4) ภาษีขายขาด | 600 x 1 เท่า | |||
มาตรา 89(4) ภาษีซื้อเกิน | 350 x 1 เท่า |
ให้เปรียบเทียบเบี้ยปรับและเรียกเก็บจำนวนที่ได้เงินมากกว่า คือ มาตรา 89(2) จำนวน 1,900 บาท
ส่วนกรณีอื่น ๆ ในข้อ 2 นี้ ทุกคนสามารถเข้าไปทำความเข้าใจตัวอย่างการคำนวณค่าปรับ ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรนะคะ [คลิกเลยที่นี่]
3. กรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 ภายในกำหนดเวลา แต่กรอกตัวเลขผิดพลาดและไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องครบถ้วน
แบบ ภ.พ. 30 | ความถูกต้อง | ผลต่าง | |
ภาษีขาย (บาท) | 2,500 | 2,500 | 0 |
ภาษีซื้อ | 2,000 | 2,000 | 0 |
ภาษีที่ต้องชำระ | 400 | 500 | 100 |
ภาษีชำระไว้เกินยกมา | (20) | (20) | 0 |
ภาษีต้องชำระสุทธิ | 380 | 480 | 0 |
เงินเพิ่ม มาตรา 89/1 | 480 x 1.5% ต่อเดือน | ||
เบี้ยปรับ มาตรา 89(2) | ไม่มี | ||
มาตรา 89(4) | ไม่มี |
4. กรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 ภายในกำหนดเวลาและชำระภาษีไปแล้ว ต่อมามีการยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาโดยชำระภาษีพร้อมการยื่นแบบเพิ่มเติม
แบบ ภ.พ. 30 | ความถูกต้อง | ผลต่าง | ||
ภาษีขาย (บาท) | 1,500 | 2,400 | 900 | ขายขาด |
ภาษีซื้อ | 1,000 | 600 | (400) | ซื้อเกิน |
ภาษีที่ต้องชำระ | 500 | 1,800 | 1,300 | คลาดเคลื่อน |
ภาษีชำระไว้เกินยกมา | (70) | (70) | 0 | |
ภาษีต้องชำระสุทธิ | 430 | 1,730 | 1,300 | |
เงินเพิ่ม มาตรา 89/1 | ไม่มี | |||
เบี้ยปรับ มาตรา 89(3) | ไม่มี | |||
มาตรา 89(4) | ไม่มี |
5. กรณียื่นแบบ ภ.พ. 30 ภายในกำหนดเวลาและชำระภาษีไปแล้ว ต่อมามีการยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลา โดยไม่ได้ชำระภาษีพร้อมการยื่นแบบเพิ่มเติม
แบบ ภ.พ. 30 | ความถูกต้อง | ผลต่าง | ||
ภาษีขาย (บาท) | 1,500 | 2,400 | 900 | ขายขาด |
ภาษีซื้อ | 1,000 | 600 | (400) | ซื้อเกิน |
ภาษีที่ต้องชำระ | 500 | 1,800 | 1,300 | คลาดเคลื่อน |
ภาษีชำระไว้เกินยกมา | (70) | (70) | 0 | |
ภาษีต้องชำระสุทธิ | 430 | 1,730 | 1,300 | |
เงินเพิ่ม มาตรา 89/1 | 1,300 x 1.5% ต่อเดือน | |||
เบี้ยปรับ มาตรา 89(3) | ไม่มี | |||
มาตรา 89(4) | ไม่มี |
แต่ทั้งนี้ บทความจะขอยกตัวอย่างการคำนวณค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกรณีต่าง ๆ เพียงแค่บางส่วนเท่านั้นนะคะ ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษา และอ่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้เลยค่ะ
สรุป
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหลาย มักจะเจอปัญหาลืมยื่นภาษี VAT บ้าง หรือยื่นไปแล้วแต่ไม่ถูกต้องบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การโดนชาร์จค่าปรับ VAT ภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ค่าปรับอาญา เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ที่อาจทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นได้นั่นเองค่ะ
เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเสียค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่บ่อย ๆ ควรเช็ก Deadline ภาษี และแบบ ภ.พ.30 ให้ถูกต้อง และทำการยื่นต่อกรมสรรพากรภายในกำหนดจะดีที่สุดเลยจ้า
สำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม มากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลย รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งระบบ
แนะนำบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นภาษี (คลิกที่นี่)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy