ความรู้บัญชี

วิเคราะห์งบการเงินคืออะไร ทำยังไงได้บ้าง

วิเคราะห์งบการเงินคืออะไร ทำยังไงได้บ้าง

ทุกคนที่ทำงานด้านบัญชีมาอาจจะคุ้นเคยกับการบันทึกบัญชีเดบิตเครดิต แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่างานบัญชีในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่ด้วย AI ไม่แพ้กับงานไหนๆ เลยค่ะ ฉะนั้น นอกจากจะบันทึกบัญชีเป็นแล้ว การวิเคราะห์งบการเงินให้เป็นถือว่าเป็นสกิลนึงที่นักบัญชีต้องห้ามพลาด แล้วการวิเคราะห์งบคืออะไร วิเคราะห์ยากหรือไม่ วันนี้ CPD Academy จะสรุปให้ทุกคนฟังแบบครบจบในที่เดียว อ่านเสร็จแล้วทำตามได้เลยค่ะ

วิเคราะห์งบการเงินคืออะไร

การวิเคราะห์งบการเงิน คือ กระบวนการในการนำข้อมูลทางงานเงินจากงบการเงินมาวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อวัดความสามารถในการดำเนินของกิจการในรูปแบบต่างๆ

Investpedia.com
ิวิเคราะห์งบการเงินคืออะไร
วิเคราะห์งบการเงินคืออะไร

เช่น การทำกำไร ความมั่นคง สภาพคล่อง ซึ่งผู้ที่วิเคราะห์งบอาจมีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์แตกต่างกัน เช่น

  • เจ้าของธุรกิจ วิเคราะห์เพื่อพัฒนาธุรกิจ
  • ธนาคาร วิเคราะห์สภาพคล่องและความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ก่อนให้สินเชื่อ
  • นักลงทุน วิเคราะห์ก่อนซื้อหุ้นว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคตดีไหม

และด้วยความที่แต่ละคนมีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์แตกต่างกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์งบก็อาจจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์นั่นเอง

ต้องเข้าใจอะไรบ้างก่อนวิเคราะห์งบ

ไม่ใช่งบทุกงบจะเอามาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันได้ ก่อนที่เราจะวิเคราะห์งบจะต้องทำความเข้าใจ 3 เรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. ความสัมพันธ์ในงบการเงิน

งบการเงินแต่ละงบมีความสัมพันธ์กันอย่างคาดไม่ถึง แม้แต่นักบัญชีเองก็อาจจะบันทึกบัญชีจนเคยชินแล้วก็ลืมเรื่องเหล่านี้ไปก็ได้ แต่ไม่เป็นไรค่ะ เดี๋ยว CPD Academy จะเล่าให้ทุกคนฟังแบบคร่าวๆ

ความสัมพันธ์งบการเงิน
ความสัมพันธ์งบการเงิน
  • เงินทุน และ สินทรัพย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ซึ่งปกติจะตั้งธุรกิจเราก็ต้องเลือกว่าจะเอาเงินมาจากไหน ระหว่างเป็นหนี้หรือว่าใช้เงินตัวเอง เมื่อได้มาแล้วจึงมาลงทุนในสินทรัพย์ นี่จึงเป็นที่มาที่ไปของ งบแสดงฐานะการเงิน ที่บอกเราว่าสินทรัพย์ของธุรกิจเกิดมาจากหนี้เท่าไร และส่วนของเจ้าของเท่าใด
  • สินทรัพย์ที่มีต้องสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ และแน่นอนว่าเราต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระหว่างทางกว่าที่จะได้มาซึ่ง กำไร ความสัมพันธ์นี้แสดงให้เห็นในงบกำไรขาดทุน
  • แม้ว่ากิจการมีกำไรจากการประกอบธุรกิจแล้ว แต่เป้าหมายอาจไม่หยุดแค่นั้น เพราะเราคาดหวังที่จะได้เงินสดกลับมาจากกำไรเหล่านั้นเช่นกัน นี่จึงเป็นที่มาที่ไปว่าทำไม เราต้องดูงบกระแสเงินสดด้วย

2. ความแตกต่างของมาตรฐานบัญชี

ก่อนวิเคราะห์งบในเชิงลึก นักบัญชีต้องเข้าใจความแตกต่างของมาตรฐานบัญชีที่บริษัทต่างๆใช้กันเสียก่อน เพราะในโลกใบนี้มาตรฐานการบัญชีที่ใช้กันมาจาก 2 ค่าย คือ

  • IFRS (International Financial Report Standard) ที่บริษัทส่วนใหญ่ในโลกใช้กัน
  • US GAAP เป็นมาตรฐานการบัญชีของบริษัทในประเทศอเมริกาใช้

ดังนั้น หากต้องการจะเปรียบเทียบระหว่างงบการเงิน Tiktok (จีน IFRS) และ Facebook (อเมริกา US GAAP) ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงให้อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันเสียก่อน

3. หน้ารายงานผู้ตรวจสอบบัญชี

หน้ารายงานผู้ตรวจสอบบัญชีนั้น มีทั้งหมด 4 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ

  • ไม่มีเงื่อนไข
  • มีเงื่อนไข
  • แบบไม่ถูกต้อง
  • แบบไม่แสดงความเห็น
หน้ารายงานผู้สอบบัญชี
หน้ารายงานผู้สอบบัญชี

กรณีที่เราวิเคราะห์งบควรจะต้องเช็คหน้ารายงานผู้ตรวจสอบบัญชีเสียก่อนว่าเป็นหน้ารายงานแบบไหน เพราะว่าถ้าเป็นรายงานแบบไม่ถูกต้องหรือไม่แสดงความเห็น งบที่เราหยิบมาวิเคราะห์นั้นอาจจะไม่น่าเชื่อถือตั้งแต่แรกก็เป็นได้

โดยสรุปแล้วถ้าก่อนวิเคราะห์งบเราเห็นว่าข้อมูลใดไม่น่าเหมาะสมตามสมมติฐานของเราก็สามารถปรับปรุงรายการเพื่อให้เป็นไปตามที่สมมติฐานเอาไว้ได้ค่ะ

วิเคราะห์งบทำยังไงได้บ้าง

เล่ามาซะยาว ถ้าถึงตอนนี้ใครมีงบในมือแล้ว ปรับปรุงงบตามที่เราคิดว่าเหมาะสมแล้ว เราลองมาเรียนรู้วิธีวิเคราะห์งบรูปแบบต่างๆ ทั้ง 4 รูปแบบกันเลย

เครื่องมือวิเคราะห์งบ 4 ประเภท
เครื่องมือวิเคราะห์งบ 4 ประเภท

1. วิเคราะห์งบแนวตั้ง หรือวิเคราะห์องค์ประกอบ

วิธีวิเคราะห์งบแนวตั้งเป็นวิธีที่ง่ายมากๆ โดยเรากำหนดให้รายได้เป็นฐานสำหรับงบกำไรขาดทุน และสินทรัพย์รวมเป็นฐานสำหรับงบแสดงฐานะการเงิน จากนั้นลองคิด % สัดส่วนว่าแต่ละบรรทัดเนี่ยมีสัดส่วนเท่าใดถ้าเทียบกับรายได้ในงบกำไรขาดทุน และเทียบกับสินทรัพย์รวมในงบแสดงฐานะการเงินค่ะ

วิธีนี้เราเรียกภาษาอังกฤษง่ายๆ ว่าเป็นการวิเคราะห์แบบ Common Size เพื่อดูว่าส่วนใหญ่แล้วในงบประกอบด้วยรายการอะไรเป็นหลักบ้าง

ถ้าใครสงสัยว่าทำยังไง ลองดูภาพตัวอย่างการวิเคราะห์งบแนวตั้งของงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนได้ในอัลบั้มนี้เลยค่ะ

2. วิเคราะห์งบแนวนอน หรือ วิเคราะห์แนวโน้ม

การวิเคราะห์งบแนวนอนทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มของงบจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งใช้ได้กับงบการเงินทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นงบกำไรขาดทุน หรืองบแสดงฐานะทางการเงิน

โดยเราสามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงได้ 2 แบบ คือ

  • แบบจำนวนเงิน
  • แบบ % การเปลี่ยนแปลง

ในตัวอย่างนี้จะเป็นการวิเคราะห์ทั้งจำนวนเงินและ % การเปลี่ยนแปลงซึ่ง มีประโยชน์มากสำหรับการวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจค่ะ

3. วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

เลื่อนขั้นความยากขึ้นมาอีกระดับนึงจากการวิเคราะห์แนวตั้งและแนวนอน เรามาเรียนรู้วิธีวิเคราะห์งบแบบที่ใช้อัตราส่วนทางการเงินในการเปรียบเทียบกันดู ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธุรกิจ SMEs จะนิยมใช้อัตราส่วน 4 หมวดนี้

วิเคราะห์อัตราส่วน 4 หมวด
วิเคราะห์อัตราส่วน 4 หมวด

1) วิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร

อัตราส่วนหมวดนี้เป็นการวิเคราะห์ว่าธุรกิจมีความสามารถทำกำไรได้ดีมากน้อยขนาดไหน เมือเทียบกับรายได้ หรือทรัพยากรที่ลงทุนไป

ลองดูตัวอย่างและวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรอย่างง่ายได้ที่นี่

2) วิเคราะห์ความสามารถในการดำเนินงาน

จากที่เราเคยเล่าว่าจะทำธุรกิจก็ต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ อย่างเช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ หรือว่าสินค้าคงเหลือ ยิ่งเราลงทุนในสินทรัพย์มากเราก็คาดหวังจะสร้างรายได้จากสินทรัพย์เหล่านั้นได้มากเช่นกัน

การวิเคราะห์ความสามารถในการดำเนินงานจากอัตราส่วน 2 อัตราส่วนนี้ช่วยตอบโจทย์ได้ว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ใช้หารายได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ไหม

  • อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ = รายได้/สินทรัพย์
  • อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร = รายได้/สินทรัพย์ถาวร

นอกจากนี้แล้วบางคนอาจจะลงทุนในสินค้าค่อนข้างสูงการวิเคราะห์สินค้าเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน : วิเคราะห์สินค้าทำอย่างไร 4 เรื่องที่นักบัญชีช่วยวิเคราะห์ได้

3) วิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน

การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน เป็นอีกอัตราส่วนนึงที่ช่วยเช็คความอยู่รอดในอีก 12 เดือนข้างหน้าว่าธุรกิจจะอยู่ต่อได้หรือไม่ หรือว่าจะมีเงินสดพอจ่ายชำระหนี้สินหรือเปล่า

โดยปกติแล้วธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องมักจะมีเงินสดหรือสินทรัพย์ระยะสั้นหมุนเวียนไม่เพียงพอ ถ้าธุรกิจไหนมีอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง แนะนำว่าลองเช็คสภาพคล่องกันเสียแต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีนี้ค่า : สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนดี?

4) วิเคราะห์โครงสร้างเงินทุน (ความอยู่รอด)

อัตราส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นการวิเคราะห์ความอยู่รอดจากโครงสร้างเงินทุน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างหนี้สินกับส่วนของเจ้าของ และสินทรัพย์ ซึ่งจะบ่งบอกความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวได้

ถ้าใครสนใจวิเคราะห์ความอยู่รอดลองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่: โครงสร้างเงินทุนคืออะไร วิเคราะห์อย่างไร?

4. วิเคราะห์งบกระแสเงินสด

การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ชื่ออาจฟังดูยาก แต่จริงๆ แล้วเราเพียงต้องการวิเคราะห์ว่าตลอดระยะเวลาที่ทำธุรกิจมานั้น เรามีเงินเข้า-เงินออกจากกิจกรรมอะไรบ้าง แบ่งเป็น

  • กิจกรรมดำเนินงาน
  • กิจกรรมลงทุน
  • กิจกรรมจัดหาเงิน

และความสัมพันธ์ระหว่างกำไรทางบัญชีกับเงินสดนั้นเป็นอย่างไร เราเช็คง่ายๆ ได้จากที่นี่ วิเคราะห์งบกระแสเงินสดทำอย่างไร มีอะไรต้องรู้บ้าง

ทั้งหมดนี้เป็นหลักการเบื้องต้นและเครื่องมือที่เราสามารถเลือกใช้ในการวิเคราะห์งบได้ค่ะ ซึ่งการคำนวณอาจจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักบัญชี แต่ปัญหาที่เรามักพบเจอส่วนใหญ่ก็คือ เราไม่มั่นใจว่าจะแปลความหมายการวิเคราะห์นั้นอย่างไร เพราะการวิเคราะห์งบที่ดี ไม่ใช่แค่การคิดเลข แต่เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากงบนึงไปอีกงบนึง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของธุรกิจให้ได้

สรุปการวิเคราะห์งบ
สรุปการวิเคราะห์งบ

และสำหรับใครที่สงสัยว่าจะวิเคราะห์งบแบบไหนดี เรามีตัวอย่างการวิเคราะห์งบมาให้เพื่อนๆ ศึกษาต่อที่นี่นะคะ ตัวอย่างการวิเคราะห์อัตราส่วนการเงินแบบง่าย

หากอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ลองศึกษารายละเอียดได้ที่ คอร์สรู้ทันธุรกิจด้วยการวิเคราะห์งบ

หากต้องการรับข่าวสารดีๆ อัพเดทความรู้บัญชี-ภาษี และโปรโมชั่นจากเรา สมัครรับข่าวสารได้ที่นี่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า