ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ประมาณการต่างๆ ทั้งหลายในงบการเงินก็ถึงเวลาจะต้องนำมาทบทวนใหม่
ประมาณการผลประโยชน์พนักงานก็เป็นอีกเรื่องนึงที่น่าปวดหัว ทั้งสำหรับนักบัญชีและผู้สอบบัญชี สาเหตุที่เราต้องตั้งประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงานนั้น เนื่องจากว่านายจ้างทั้งหลายนั้น มีภาระผูกพันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากกฎหมายแรงงานกำหนด จำเป็นให้พวกเขาจะต้องจ่ายชดเชยค่าผลประโยชน์พนักงานในอนาคต
ถ้าเป็นกิจการ PAEs หรือกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะจะต้องถือปฏิบัติตาม มาตรฐานการบัญชี TAS19 ในขณะที่กิจการ NPAEs หรือกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะนั้นก็จะชิลๆ หน่อย เพราะทำตาม TFRS for NPAEs บทที่ 16 ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่ามาก เดี๋ยวเรามาดูกันค่ะว่าปีนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้เราปวดหัวกันอีกบ้าง

3 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับผลประโยชน์พนักงาน
1. ประมาณผลประโยชน์พนักงานของลูกจ้างเกษียณอายุ หรืออายุครบ 60 ปี
ในปีที่ผ่านๆ มาหลายๆ บริษัทอาจจะไม่ได้ตั้งประมาณการผลประโยชน์พนักงานที่จะเกษียณอายุเพราะอ้างว่าไม่มีนโยบาย แต่ว่าสำหรับปี 2560 อาจจะต้องพิจารณาตั้งประมาณการนี้แล้ว เพราะตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ได้เพิ่มข้อความในวรรค 118/1 ว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ แม้ว่าจะมีการตกลงไว้หรือไม่ก็ตาม ดังนั้น บริษัทต้องบันทึกประมาณการหนี้สินผลประโยชน์ของพนักงานในงบแสดงฐานะการเงินและรับรู้ค่าใช้จ่ายทันทีในงบกำไรหรือขาดทุน เพราะถือว่าเป็นต้นทุนบริการในอดีต (Past service cost) นะจ๊ะ
2. ตารางมรณะไทย เปลี่ยนใหม่ปี 2560
เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้มีการออก ตารางมรณะไทยตารางใหม่มาทดแทนตารางเดิมซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ประมาณการหนี้สินผลประโยชนข์องพนักงานเพิ่มสูงขึ้น เพราะคนไทยตายช้าลง ดังนั้น สำหรับงบการเงินที่ใช้มาตรฐาน TAS19 จะกระทบกับรายการผลกำไรและขาดทุนจากการประมาณการตามหลักคณติศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นรายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น แต่สำหรับกิจการที่ใช้ TFRS for NPAEs จะกระทบต่องบกำไรขาดทุนโดยตรงเลยล่ะ สำหรับใครที่ยังไม่มีตารางมรณะใหม่นี้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ ตารางมรณะไทย 2560
3. เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับอัตราเงินชดเชยการเลิกจ้างพนักงานจากเดิม 300 วัน เป็น 400 วัน
เมื่อไม่นานมานี้ ร่าง พรบ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรี โดยเนื้อความที่มีอาจจะมีผลกระทบต่องบการเงิน ทำให้ต้องตั้งประมาณการผลประโยชน์พนักงานเพิ่มขึ้น คือ อัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย (จากเดิม 300 วัน) แต่สำหรับข้อนี้อย่าเพิ่งตกใจไปเพราะว่าตอนนี้ยังเป็นร่างกฎหมายอยู่บริษัทจึงยังไม่ถือว่ามีภาระผูกพันที่จะบันทึกบัญชี ณ วันสิ้นปีนะคะ
Update สำหรับปี 2562
เนื่องจากร่าง พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 7 (ปี 2562) ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 เป็นผลทำให้กิจการต้องปรับตารางการคำนวณประมาณการภาระผูกพันหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน สำหรับพนักงานที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป เป็น 400 วันได้แล้วนะคะ ดังนั้น ในปี 2562 นี้อย่าลืมทบทวนรายการนี้ใหม่อีกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดค่ะ
และหากท่านใดที่ยังสงสัย หาทางออกไม่ได้เกี่ยวกับการคำนวณหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน ลองศึกษาได้ใน คอร์ส TFRS for NPAEs และตัวอย่างประกอบ ได้เลยค่ะ ซึ่งเราได้มีตัวอย่าง file คำนวณรวบรวมมาไว้ให้และสอนวิธีตำนวณรายการไว้อย่างละเอียดสำหรับกิจการ NPAEs (ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ) ไว้ในคอร์สนี้ค่ะ
ในการจัดทำงบการเงินนักบัญชีส่วนใหญ่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะบางทีเราอาจจะทำงบการเงินตามความเคยชิน ในขณะที่กฎเกณฑ์ และหลักการในการทำงบนั้นมีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา งบการเงินประกอบด้วยอะไร ทำอย่างไรให้ถูกต้อง
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y