ความรู้บัญชี

ขั้นตอนการเลิกกิจการต้องทำอะไรบ้าง

company-dissolution

เปิดกิจการขึ้นมาหากธุรกิจไปได้ไม่ดีนักอยากหยุดพักคงต้องนึกถึงการเลิกกิจการ และสำหรับนิติบุคคลจำพวกบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด การเลิกกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำให้ถูกต้องจะได้ไม่มีปัญหาตามมาในอนาคต

ขั้นตอนการเลิกกิจการมีอะไรบ้าง เราจะมาศึกษากันในบทความนี้


ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท

นิติบุคคลที่จะเลิกกิจการ กรณีที่เกิดจากความประสงค์ของผู้ถือหุ้นเอง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด โดยเริ่มจากจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เพื่อลงมติเลิกกิจการ แล้วจึงจะสามารถไปยื่นจดทะเบียนเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ขั้นตอนสามารถทำได้ตามนี้

  1. นัดประชุม เมื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการตกลงกันเลิกบริษัท ให้ออกหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท และจะต้องทำก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยจะต้องพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 ครั้ง และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
  2. จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นจะต้องมีมติพิเศษให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุมและต้องมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีด้วย
  3. ประกาศบอกกล่าว หลังจากจัดประชุมเสร็จแล้วจะต้องประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้ง และส่งหนังสือบอกกล่าวเจ้าหนี้ ภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
  4. แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ระหว่างเลิกกิจการบริษัทจะต้องมีผู้ดำเนินการชำระบัญชีให้
  5. ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ชำระบัญชีต้องยื่นคำขอภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท

ขั้นตอนการชำระบัญชี และขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี

เมื่อขอชำระบัญชีเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างชำระบัญชี บริษัทยังมีหน้าที่ดังต่อไปนี้เพื่อให้การชำระบัญชีแล้วเสร็จ

  1. จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท หรือวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิกโดยให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นว่าถูกต้อง
  2. ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อยืนยันตัวผู้ชำระบัญชีและอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิก ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 7 วันก่อนวันประชุมและส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
  3. จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงมติในการอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการและอนุมัติการชำระบัญชี
  4. สะสางทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินไม่หมุนเวียนในกิจการ รวมไปถึงสินค้าคงเหลือ โดยจะเหลือลูกหนี้ ให้เรียกเก็บเงินลูกหนี้ให้เรียบร้อย ส่วนหนี้สินก็ต้องดำเนินการจ่ายชำระให้เรียบร้อย รวมไปถึงให้จ่ายค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีของบริษัท หากมีเงินคงเหลือให้คืนทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือหุ้นหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
  5. นัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
  6. ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อมีมติอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
  7. ผู้ชำระบัญชีจัดทำคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับจากวันมีมติเสร็จการชำระบัญชี

หน่วยงานที่ต้องติดต่อ มีใครบ้าง

1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  • จดทะเบียนเลิก ซึ่งจะได้รับหนังสือรับรองจดทะเบียนเลิกกิจการ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินการแจ้งเลิกอีก 2 หน่วยงานคือ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม
  • จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี หากไม่สามารถชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันเลิก ให้ผู้ชำระบัญชียื่นรายงานการชำระบัญชี (แบบ ลช.3) ทุก 3 เดือน

2. กรมสรรพากร 

หลังจดทะเบียนเลิกที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าบริษัทเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องไปดำเนินการแจ้งเลิกกิจการที่กรมสรรพากร ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้จดทะเบียนเลิกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหลักฐานอื่น และยื่นแบบภาษีต่าง ๆ พร้อมทั้งนำส่งงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการ ดังนี้

  • นำส่งแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการภายใน 150 วันนับจากวันที่จดทะเบียนเลิก
  • นำส่งแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3, 53ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่จดทะเบียนเลิกให้ครบถ้วน เช่น การหัก ณ ที่จ่าย ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น
  • ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” จากกรมสรรพากร
  • นำส่งแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 40) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกในกรณีที่มีบัญชีดอกเบี้ยค้างรับ หรือดอกเบี้ยในงบการเงิน

3. สำนักงานประกันสังคม

กรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างต้องทำหนังสือแจ้งพนักงานที่จะเลิกจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และจ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานในอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้แจ้งเลิกกิจการ โดยยื่นแบบการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส.6-15) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง ณ สำนักงานประกันสังคม

การเลิกกิจการมีขั้นตอนเฉพาะตัวค่อนข้างมาก และทำได้ยากถ้าเทียบกับการจดเปิดกิจการ แต่ถ้ามาถึงทางตันรายได้ไม่มี ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน การเลิกกิจการก็คงจะเป็นตัวเลือกที่หลายๆ คนตัดสินใจทำกัน และที่สำคัญถ้าอยากจะเลิกกิจการแล้วไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง อย่าลืมทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ และแจ้งข้อมูลกับ 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคมให้เรียบร้อย

หากต้องการรับข่าวสารดีๆ อัพเดทความรู้บัญชี-ภาษี และโปรโมชั่นจากเรา สมัครรับข่าวสารได้ ที่นี่

ขอบคุณที่มา :   https://rd.go.th/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า