งบเปิดปีแรก งบรับทำมาใหม่ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่นะ ถ้าคำนวณผิด ต้องโดนลูกค้าว่าแน่เลย แถมยังจะโดนตรวจสอบด้วยน่ะซิ
ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เรากำลังเตรียมพร้อมที่จะยื่นภาษีกันแล้วนะคะเพื่อนๆ งบปิดเสร็จแล้วก็จริง แต่ก็มีอีกอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การคำนวณภาษีเพื่อจะยื่นภงด.50 ประจำปี
เมื่อเราทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการแล้ว เราก็ต้องรักษาสิทธิ์ประโยชน์ให้ลูกค้ามากที่สุด โดยการศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างเช่นเรื่องการเสียภาษี ตามบทความนี้เลยค่ะ เพื่อนๆรู้กันไหมคะ ว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีการคำนวณหลายแบบ แต่ละอัตราไม่เท่ากันด้วย หากเราเลือกใช้อัตราภาษีผิดทำให้ลูกค้าต้องเสียภาษีมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เราเสียลูกค้าไป และเสียความน่าเชื่อถือด้วยค่ะ เพราะฉะนั้น มาดูกันค่ะ ว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นมีการคำนวณแบบไหนบ้าง

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบของกิจการนะคะ

1. กิจการทั่วไป
– กิจการที่ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นกิจการ SMEs คือ กิจการที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเกิน 5 ล้านบาทหรือรายได้ มากกว่า 30 ล้านบาท
อัตราภาษี จะเป็นอัตราเดียว คือ 20%
เมื่อกิจการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีมาได้เท่าไร ก็นำไปคูณ 20% ได้ทันทีเลยค่ะ
ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลกิจการทั่วไป
กำไรสุทธิทางภาษี 1 ล้านบาท คูณ อัตราภาษี 20% ตามกฏหมายกำหนด
1,000,000 x 20% = 200,000 บาท
เท่ากับ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่าย 200,000 บาท

2. กิจการ SMEs
– รายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท
รายได้ในที่นี่ เพื่อนๆหลายคน ยังสับสนว่า รายได้ต้องดูตรงไหนของงบการเงิน
ยังมีเพื่อนๆหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็น รายได้สุทธิ ที่หักกับค่าใช้จ่ายแล้วใช่หรือไม่
คำตอบคือ ไม่ใช่นะคะ
เน้นย้ำอีกรอบนะคะ “รายได้ที่ใช้เป็นเกณฑ์กิจการ SMEs คือรายได้ ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายค่ะ”
– ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของกิจการไม่เกิน 5 ล้านบาท
กิจการ SMEs ต้องเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อเลยนะคะ ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งไม่เข้าเกณฑ์ ก็ถือว่าเป็นกิจการทั่วไปเลยค่ะ
ส่วนอัตราภาษีของกิจการ SMEs จะเป็นขั้นบันไดนะคะ
- กำไรสุทธิทางภาษี จำนวน 300,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้น
- กำไรสุทธิทางภาษี ตั้งแต่ 300,001 – 3,000,000 บาท มีอัตราภาษี 15%
- กำไรสุทธิทางภาษี ตั้งแต่ 3,000,001 บาทขึ้นไป มีอัตราภาษี 20%
ยกตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลกิจการ SMEs
กำไรสุทธิทางภาษี 1 ล้านบาท
300,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้น ภาษีเงินได้ขั้นนี้ เท่ากับ 0 บาท
ขั้นถัดมา อยู่ในช่วง 300,001 – 3,000,000 บาท ต้องเสียอัตราภาษี 15%
เรามาดูกำไรสุทธิเรานะคะ
1,000,000 แบ่งเป็น
– 300,000 บาท ยกเว้นภาษี
– [1,000,000-300,000] = 700,000 บาท คูณอัตราภาษี 15% เท่ากับ 105,000 บาท
รวมทั้ง 2 ขั้น กิจการมีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระ 105,000 บาท
เมื่อเราเปรียบเทียบทั้ง 2 รูปแบบกิจการแล้ว ด้วยจำนวนกำไรสุทธิที่เท่ากัน ถ้าหากเราเลือกคำนวณภาษีผิด ก็จะเกิดความเสี่ยงดังนี้ค่ะ
1. หากกิจการเสียภาษีมากเกินไป โดยการเลือกใช้อัตราภาษีผิดประเภท ก็ต้องทำเรื่องในการขอคืนภาษี ก็อาจจะทำให้ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในขั้นตอนการขอคืนภาษีได้นะคะ
2. หากกิจการเสียภาษีน้อยเกินไป โดยการเลือกใช้อัตราภาษีผิดประเภทเช่นกัน ก็โดนตรวจสอบอย่างแน่นอนค่ะ เพราะว่าการจ่ายภาษีไม่ครบมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบมากกว่าการจ่ายภาษีเกินค่ะ
3. แก้ไขงบการเงิน เนื่องจากบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ผิด หากยื่นงบการเงินเข้าระบบไปแล้ว
อันนี้ก็เรื่องยาวเลยนะคะ ไม่ใช่แค่กรมสรรพากร แต่ก็จะต้องไปแก้ไขงบการเงินที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย
เพราะฉะนั้นแค่เสียเวลาดูรายได้และทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว เพียงแค่ 2 ข้อนี้ ก็จะลดความเสี่ยงไปได้หลายๆอย่างเลยค่ะ และยังเป็นการให้บริการที่เราแนะนำลูกค้าได้ ก็จะมีความน่าเชื่อถือในตัวนักบัญชีเพิ่มขึ้นด้วยค่ะเพื่อนๆ
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อนๆนักบัญชีสามารถติดตามได้ที่นี่ https://www.cpdacademy.co/…/corporate-income-tax-and… นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร www.rd.go.th