เมื่อถึงเวลาที่กิจการต้องซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นรถที่ใช้ในการขนส่งสินค้า หรือรถผู้บริหาร ก็จะสามารถซื้อได้ 2 วิธี คือการซื้อเงินสด กับการซื้อแบบทำสัญญาเช่าทางการเงินค่ะ ส่วนใหญ่แล้ว เพื่อสภาพคล่องของกิจการ ผู้บริหารก็จะเลือกซื้อแบบทำสัญญาแบบเช่าซื้อ ถ้าหากเราเป็นนักบัญชี ก็ต้องสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นี้ได้ด้วยนะคะ เพราะมีเรื่องของความแตกต่างระหว่างทางบัญชีและภาษีอยู่ด้วย และมีบางจุดที่เราต้องสนใจแตกต่างจากการเช่าซื้อทรัพย์สินอื่นๆ ค่ะ จะเป็นอะไรเราลองไปดูกันค่ะ
1. การทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คืออะไร
การทำสัญญาแบบเช่าซื้อรถยนต์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อต้องการซื้อรถแต่เงินสดไม่พอก็จะใช่วิธีการขอสินเชื่อ เริ่มแรกผู้ที่ซื้อรถจะต้องทำชำระเงินก้อนหนึ่งให้บริษัทขายรถที่เรียกว่า “เงินดาวน์” และเงินส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของบริษัทให้สินเชื่อ (ไฟแนนซ์) ทำสัญญาและกำหนดตารางผ่อนชำระเป็นรายงวดให้แก่ผู้ซื้อ โดยบริษัทสินเชื่อจะเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ จนกว่าผู้ซื้อนั้น จะชำระเงินค่างวดครบตามสัญญาเช่า ในสัญญานี้จะระบุว่าเมื่อผ่อนหมดกรรมสิทธิ์รถยนต์ถึงจะตกเป็นของผู้เช่าซื้อโดยสมบูรณ์หรือจะขายให้ผู้เช่าซื้อในราคาถูกมาก
2. ประเภทของรถยนต์
ด้านบัญชีไม่ได้มีปัญหากับประเภทของรถยนต์ที่ซื้อเข้ามาเพียงแค่มีเอกสารก็บันทึกบัญชีได้ แต่ในด้านภาษี จะแบ่งเรื่องของประเภทรถยนต์ออกเป็น 2 กลุ่มตามพิกัดอัตราสรรพสามิต
- รถยนต์นั่ง หรือ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 หมายความถึง รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
คำอธิบายพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้อธิบาย รถยนต์นั่งไว้ดังนี้
รถยนต์นั่ง หมายถึง รถเก๋ง หรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้นั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างหรือด้านหลังคนขับ มีประตู หรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด
- รถยนต์นั่งเกิน 10 ที่นั่ง รถกระบะเชิงพาณิชย์ จักรยานยนต์
รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 ที่นั่ง หมายถึง รถตู้หรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้ขนส่งคนโดยสารจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน
ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่มเนื่องจากมีผลเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และค่าเสื่อมราคานั่นเองค่ะ เพราะต้นทุนของรถยนต์นั่งที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ทางภาษีนั้นคิดค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด 1 ล้านบาทเท่านั้นค่ะ
3. การเช่าซื้อรถยนต์ทางบัญชี
การเช่าซื้อรถทางบัญชี โดยทั่วไปแล้วถือเป็นสัญญาเช่าทางการเงิน เนื่องจากสัญญาส่วนใหญ่ของการเช่าซื้อรถยนต์นั่งนั้น ความเสี่ยงและผลตอบแทนจะถูกโอนไปให้ผู้เช่าตั้งแต่วันเริ่มสัญญาแล้ว (ไม่สนใจกรรมสิทธิ์)
ทำไมการเช่าซื้อจึงจัดเป็นสัญญาเช่าการเงิน ถ้าเพื่อนๆอยากทราบวิธีการจำแนกประเภทของสัญญาเช่า เรียนรู้ได้ที่บทความนี้เลยค่ะ สัญญาเช่ามีกี่ประเภท จำแนกแต่ละประเภทอย่างไร
4. การเช่าซื้อรถยนต์ทางภาษี
ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 572 และ 537 การเช่าซื้อรถยนต์ทางด้านของภาษี จะแบ่งเป็น 2 แบบ
- การเช่าซื้อ
- การเช่าทรัพย์
การเช่าซื้อ หมายถึง การทำสัญญาที่เจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่า จะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เช่า โดยมีจำนวนเงินที่ผู้เช่าต้องจำจ่ายตามกำหนด
การเช่าทรัพย์ หมายถึง ผู้เช่าและผู้ให้เช่า ตกลงกันว่า ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งในระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงที่จะชำระค่าเช่าสำหรับการทำสัญญานี้ (ไม่มีคำมั่นว่าจะขายหรือให้)
5. สรุปข้อแตกต่าง
แม้ว่าทางบัญชีและภาษีเกี่ยวกับสัญญาประเภทเช่าซื้อนั้นคล้ายคลึงกัน แต่ก็จะมีความต่างเรื่องค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษีค่ะ หากทำสัญญาประเภทเช่าซื้อรถ ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายตามนี้
ค่าใช้จ่ายทางบัญชี | ค่าใช้จ่ายทางภาษี |
สัญญาเช่าทางการเงิน (เช่าซื้อ) – ค่าเสื่อมราคา(ราคาเงินสด) – ดอกเบี้ย | สัญญา เช่าซื้อ – ค่าเสื่อมราคา(ราคารวมดอกเบี้ย) ต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อในรอบบัญชี |
วิธีการปรับปรุงง่ายๆ คือ 1. บวกกลับรายจ่ายทางบัญชี 2. คำนวณรายจ่ายทางภาษีและปรับปรุงเพื่อยื่นแบบ ภงด. 50
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว นักบัญชีอย่างเราก็สามารถแนะนำการทำสัญญาในวิธีต่างๆได้ให้กับผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ ว่าจะเลือกซื้อรถยนต์นั่งด้วยการทำสัญญาแบบไหนดี ความรู้ก็ถือเป็นการสร้างมูลค่าให้ตัวนักบัญชีด้วยนะคะ หัวข้อนี้ นักบัญชีจึงควรรู้ยังไงล่า ถึงการซื้อรถจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ก็มีความซับซ้อนในการทำบัญชีเช่นกันค่า
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y