ความรู้บัญชี

ออดิท กับข้อผิดพลาดสุดฮิตในกระดาษทำการ

ออดิท กับ ข้อผิดพลาดสุดฮิตในกระดาษทำการ

ว่ากันว่า Auditor หรือ ผู้สอบบัญชี นั้นเป็นนักตรวจสอบข้อผิดพลาดตัวยงในงบการเงิน และกระดาษทำการ ก็คือ หลักฐานการทำงานของพวกเรา ที่จดบันทึกตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนงาน การปฏิบัติงานตรวจสอบ ไปจนถึงขั้นสรุปและประเมินผลการตรวจสอบ

การทำกระดาษทำการของพวกเราชาวออดิทนั้น นอกจากจะทำให้เข้าใจง่าย อ่านรู้เรื่องสำหรับผู้สอบบัญชีท่านอื่นแล้ว ยังจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดไว้อีกด้วย

ตรวจคนอื่นมาก็เยอะแล้ว สำหรับบทความนี้เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าข้อผิดพลาดสุดฮิตที่พบในกระดาษทำการทั่วโลกนั้นคืออะไรบ้าง เผื่อจะได้นำไปตรวจเช็คกับกระดาษทำการที่พวกเราทำๆ กันอยู่ และปรับปรุงให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมกันค่ะ

เมื่อเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมานี้ IFIAR หรือ International Forum of Independent Audit Regulators ได้เผยแพร่ผลสำรวจของกระดาษทำการผู้สอบบัญชีจากหน่วยงานควบคุมดูแลผู้สอบบัญชีทั่วโลกกว่า 42 หน่วยงาน

ข้อผิดพลาดที่พบในกระดาษทำการผู้สอบบัญชี
ข้อผิดพลาดที่พบในกระดาษทำการผู้สอบบัญชี

ข้อผิดพลาดที่พบในกระดาษทำการผู้สอบบัญชี

ข้อแรก การประมาณการทางบัญชี (Accounting Estimation)

การตรวจสอบเกี่ยวกับการประมาณการทางบัญชี หรือ Accounting Estimation นั้น ว่ากันว่าเป็นงานหินของผู้สอบบัญชีเลยก็ว่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการตีมูลค่าราคายุติธรรม การประมาณการค่าเผื่อการด้อยมูลค่าต่างๆ เป็นต้น

จากผลการสำรวจ พบว่าข้อผิดพลาดในกระดาษทำการส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการที่ผู้สอบบัญชีไม่ได้ประเมินความสมเหตุสมผลของการสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการ เช่น การคำนึงถึงทางเลือกในการตั้งสมมติฐานแบบต่างๆ หรือหลักฐานที่สมบูรณ์และเพียงพอเพื่อสนับสนุนสมมติฐานที่ผู้บริหารตั้งขึ้น

ข้อสอง การตรวจสอบการควบคุมภายใน (Internal control Testing)

การตรวจสอบการควบคุมภายในเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ก่อนที่จะทดสอบการควบคุมภายในได้ ออดิทอย่างเราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจระบบการทำงานและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน 

จากผลสำรวจพบว่า ข้อผิดพลาดในกระดาษทำการเรื่องการควบคุมภายในส่วนมากนั้นเกิดจากการที่ไม่มีหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อสนับสนุนว่าการควบคุมภายในที่สำคัญๆ นั้นมีอยู่จริงและได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามคู่มือการควบคุมภายในที่กิจการวางไว้ รวมทั้งไม่ได้ทดสอบความถูกต้อง (Accuracy) และครบถ้วน (Completeness) ของข้อมูลหรือรายงานที่จัดทำโดยผู้บริหารก่อนนำมาใช้งานด้วย

ข้อที่สาม การเลือกตัวอย่าง (Audit Sampling)

การเลือกตัวอย่างขึ้นมาตรวจสอบ ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เลือกได้ แต่การเลือกตัวอย่างนั้นต้องดูที่ความเหมาะสมและสถานการณ์ เช่น ความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญมีมากน้อยเพียงใด เมื่อกำหนดวิธีการเลือกตัวอย่างแล้ว ข้อผิดพลาดหลักๆ ในกระดาษทำการก็คือ ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงใช้วิธีนี้ในการเลือกตัวอย่าง และจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้มีอคติในการเลือกตัวอย่างหากตกลงปลงใจที่จะเลือกใช้วิธีแบบสุ่มนั่นเอง

ข้อที่สี่ การตรวจสอบงบการเงินของกลุ่มกิจการ (Group Audits)

สำหรับหัวข้อนี้อาจจะไม่เจอมากนักในกลุ่มลูกค้าจำพวก SMEs แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ๆ หรือลูกค้าในตลาดหลักทรัพย์ ข้อผิดพลาดที่พบมักจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนการตรวจสอบงบการเงินของกลุ่มกิจการรวมถึงงานของผู้สอบบัญชีอื่น ว่า Group Auditor จะมีการสื่อสารกับ Group Management และวางแผนการสอบบัญชี กำหนดกลยุทธ์การสอบบัญชีร่วมกับ Component Auditor อย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เหมาะสมอย่างเพียงพอในการแสดงความเห็นต่องบการเงินโดยรวม 

ข้อที่ห้า การตรวจสอบการรับรู้รายได้ (Revenue Recognition)

การรับรู้รายได้ของกิจการถูกจัดให้เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของความเสี่ยงของการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริต  (Presumed Significant Risks of Material Misstatements Due to Fraud) เพราะฉะนั้นการตรวจสอบเพื่อตอบสนองความเสี่ยงนี้จึงต้องตรวจสอบให้เข้มข้นกว่าความเสี่ยงปกติ หัวข้อนี้มักจะพบข้อผิดพลาดอยู่บ่อยครั้งในหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่จากการสำรวจพบว่าผู้สอบบัญชีทำความเข้าใจและปรับปรุงกระดาษทำการได้ดีขึ้นในปีนี้ แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องบางส่วน เช่น การประเมินความเสี่ยงและการตอบสนองความเสี่ยงเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องการรับรู้รายได้ยังไม่เพียงพอและเหมาะสม การทดสอบการรับรู้รายได้กรณีที่มีสัญญาแบบซับซ้อน เป็นต้น

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับ 5 ข้อผิดพลาดสุดฮิต ที่พบในกระดาษทำการของออดิท อ่านบทความนี้แล้ว อย่าลืมไปตรวจสอบกันค่ะว่า ข้อผิดพลาดเหล่านี้ในกระดาษทำการเราได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วหรือยัง 

ถ้าหากใครยังสับสนว่าจะเริ่มต้นแก้ไขจากอะไรดี ลองมาดู link ด้านล่างนี้กันค่ะ ซึ่งพวกเรา CPD Academy  ได้รวบรวมมาตรฐานการสอบบัญชีและบทความที่เกี่ยวข้องซึ่งเผยแพร่โดยสภาวิชาชีพบัญชี มาให้ศึกษาเพิ่มเติมเผื่อไว้ใช้พัฒนากระดาษทำการในอนาคตนะคะ

– มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 540 การตรวจสอบประมาณการทางบัญชี รวมถึงประมาณการทางบัญชีที่เกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

– มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 530 การเลือกตัวอย่างในการสอบบัญชี 

– การเลือกตัวอย่างเพื่อการทดสอบรายละเอียด

– มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 265 การสื่อสารข้อบกพร่องของการควบคุมภายในไปยังผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและผู้บริหารของกิจการ

– มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 315 (ปรับปรุง) การระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ โดยการทำความเข้าใจกิจการและสภาพแวดล้อมของกิจการ 

– มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 600 ข้อพิจารณาพิเศษ – การตรวจสอบงบการเงินของกลุ่มกิจการรวมถึงงานของผู้สอบบัญชีอื่น

– มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 240 ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการพิจารณาการทุจริตในการตรวจสอบงบการเงิน

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีได้ที่

ทำความเข้าใจ หน้ารายงานผู้สอบบัญชีในงบการเงิน

เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD ปีนี้ 40 ชั่วโมงมีอะไรต้องรู้บ้าง?

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า